เผยแพร่ |
---|
การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ยกระดับตลาดยางพาราสู่ Digital Platform จัดการประมูลซื้อขายยางพารา ผ่านระบบ “Thai Rubber Trade” เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก เชื่อมโยงข้อมูลซื้อขายยางผ่านระบบ ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยาง รองรับมาตรการ EUDR นำเทคโนโลยี block chain เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบการโอนเงิน ลดความเสี่ยงการปลอมแปลงบัญชี และจัดทำสัญญาต่างๆ ด้วย smart contact
นายศุภชัย แข่งขัน ผู้อำนวยการ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำนักงานตลาดกลางฯ แห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางในการประมูลยางพาราในเขตภาคเหนือ มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 15 จังหวัด โดยนำผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาประมูลซื้อขายผ่านระบบ Thai Rubber Trade (TRT)
ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขาย หรือตลาดเครือข่าย รวม 253 กลุ่ม จำนวน 22,910 ราย และมีผู้ซื้อ หรือผู้ประกอบกิจการ จำนวน 66 ราย โดยในปี 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565-สิงหาคม 2566 มีปริมาณยางที่ประมูลผ่านระบบ 25,205 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 564 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดเชียงราย ยังอธิบายถึงวิธีการประมูลซื้อขายยางพาราของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ผ่านระบบ Thai Rubber Trade โดยแบ่งออกเป็น 3 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 เวลา 11.00-11.15 น. รอบที่ 2 เวลา 11.30-11.45 น. (กรณีไม่มีผู้ประมูลในรอบที่ 1) และรอบที่ 3 ผ่าน LINE (กรณีไม่มีผู้ประมูลในรอบที่ 1 และ 2) ส่วนภาคเหนือตอนล่าง จะแบ่งออกเป็นรอบละ 5 นาที ตั้งแต่ 11.20 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ก่อนวันประมูลผู้ขายต้องแจ้งรายละเอียดและลักษณะของยางแก่เจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ เพื่อจัดทำตารางประมูลรายสัปดาห์ และแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ เมื่อถึงวันประมูล ต้องมีการยืนยันปริมาณยางให้ผู้ซื้อทราบอีกครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ กำหนดราคากลางร่วมกับกลุ่มผู้ขาย ซึ่งอ้างอิงราคากลางที่ประกาศของ กยท. ต่อมาผู้ซื้อเข้าสู่ระบบ TRT เพื่อเตรียมประมูลยางพารา เลือกตลาดกลางที่ต้องการประมูล ชนิดยาง และรอบการประมูล โดยผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดสินค้า ปริมาณ ราคากลาง และภาพถ่ายสินค้า ก่อนเริ่มประมูลได้
เมื่อถึงเวลาประมูล ผู้ซื้อจะต้องใส่ราคาที่ต้องการซื้อและยื่นประมูลภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อหมดรอบประมูล ผู้ซื้อสามารถดูภาพรวมการประมูลได้ ซึ่งระบบจะแสดงรายละเอียดว่าผู้ซื้อรายใดชนะการประมูล และแสดงราคาที่ผู้ซื้อรายอื่นยื่นประมูล (แต่ไม่ระบุชื่อของผู้ซื้อรายอื่น) โดยเจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ จะประกาศผู้ชนะการประมูลยาง เวลา 15.30 น. ของทุกวันที่มีการประมูล ผ่านช่องทาง Facebook Page และ LINE ของตลาดกลางฯ
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ จะดำเนินการเรียกเก็บเงินมัดจำค่ายาง 10% จากผู้ซื้อภายในวันประมูล หรือวันถัดจากวันประมูล ซึ่งผู้ซื้อโอนเงินมัดจำให้ผู้ขายโดยตรงก่อนถึงวันส่งมอบ และเข้าระบบ TRT เพื่อทำการยืนยันชำระเงิน จากนั้นเจ้าหน้าที่การเงินจะตรวจสอบความถูกต้องและอนุมัติการชำระเงินมัดจำยาง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตลาดจะบันทึกรายละเอียดการส่งมอบยาง (ชื่อกลุ่มผู้ขาย สินค้า น้ำหนักยางประมาณการ) และนัดหมายวันเวลาการส่งมอบยางกับทางผู้ซื้อ
ขณะเดียวกัน ในวันส่งมอบยาง เจ้าหน้าที่ตลาดกลางฯ จะลงพื้นที่ติดตามการส่งมอบยางของแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มผู้ขายจะต้องชั่งน้ำหนักยางและบันทึกข้อมูลยางของเกษตรกรแต่ละราย นำยางขึ้นสายพานลงรถบรรทุกให้ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อก็ชำระเงินค่ายางส่วนที่เหลือให้กับผู้ขาย และบันทึกการชำระเงินในระบบ TRT อีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่การเงินตรวจสอบและอนุมัติการชำระเงิน พร้อมทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตลาด
ด้าน นายเกียรตินันท์ ยิ้นซ้อน ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย ให้คำแนะนำถึงกระบวนการรวบรวมและจัดการระบบซื้อขายยางก้อนถ้วย ผ่านตลาดกลาง กยท. ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นั่นคือ สหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญในการจัดทำทะเบียนข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีข้อมูลสมาชิก อาทิ เลขทะเบียนเกษตรกรฯ ที่อยู่ ที่ตั้งสวนยาง พื้นที่สวนยาง รวมถึงมีข้อมูลผลผลิตยางที่ขายผ่านสหกรณ์ เช่น น้ำหนักยางที่นำมาขายในแต่ละล็อต ราคาขายต่อกิโลกรัม ราคารวม เป็นต้น
“สหกรณ์มีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายเป็นระบบอย่างชัดเจน จึงเช็กได้ว่ายางแต่ละล็อตที่ขายมาจากสมาชิกรายใด เมื่อเทียบกับข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ ของ กยท. จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของยางได้
“กยท. และสหกรณ์ได้ร่วมบูรณาการข้อมูลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง กับ กยท. ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะเป็นฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของผลผลิตยาง ย้อนกลับไปจนถึงเกษตรกรเจ้าของสวนยางและแปลงที่ตั้งสวนยางได้ รองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับของกลุ่มประเทศผู้ซื้อยางที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม” ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย กล่าว
นายประชา เป็งนวล ประธานกรรมการ สหกรณ์ยางพาราแม่ลาวแม่กรณ์ เผยความรู้สึกบรรยากาศการส่งมอบยาง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ว่า นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของสหกรณ์เล็กๆ แห่งนี้ที่ได้เติบโตขึ้น วันนี้ดีใจที่สหกรณ์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วหลังการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทยเสมอมา โดยในวันนี้สหกรณ์มียางก้อนถ้วย จำหน่ายกว่า 60 ตัน ที่ต้องส่งมอบให้กับผู้ซื้อ จากระบบ Thai Rubber Trade คิดเป็นเงินประมาณ 1.4 ล้านบาท ณ วันประมูลราคาที่ 23.70
“หลังจากการยางแห่งประเทศไทยเข้ามามอบองค์ความรู้และผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นยาง เดิมทีอาชีพปลูกและกรีดยางเป็นเพียงอาชีพเสริมของชาวบ้านบริเวณนี้ ทว่าหลังจากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังนำแพลตฟอร์ม Thai Rubber Trade เข้ามาพลิกโฉมตลาดยางที่จังหวัดเชียงรายไปโดยปริยาย จากเดิมที่เคยซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เปลี่ยนสู่การซื้อขายเองโดยตรงระหว่างสหกรณ์กับผู้ซื้อ โดยมีตลาดเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จนสามารถกลายเป็นอาชีพหลักเลี้ยงดูครอบครัวได้ดีกว่าเดิม”