กยท. ผนึกภาคี แถลงความร่วมมือ “โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ”

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผนึกกำลัง บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และตัวแทนจากประเทศจีน เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยางพารา พัฒนา “โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ” ช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดเชียงราย นำโดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และตัวแทนจาก China Environment & Carbon Net-Zero Investment Representatives ได้ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือ “โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ” โดยมีวัตถุประสงค์ของการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางประเทศไทย

ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญในการร่วมมือครั้งนี้ว่า การจัดการคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ซึ่งต้นยางพาราเองเป็นพืชที่มีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมนี้ ซึ่งในวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากบริษัทในอุตสาหกรรมยาง จากไทยรับเบอร์ และผู้แทนบริษัทจากจีนร่วมกันพัฒนาแนวทางในการดำเนินงานคาร์บอนเครดิตจากต้นยางพาราในประเทศไทย

“เราริเริ่มที่จังหวัดเชียงราย เพราะส่วนหนึ่งทางไทยรับเบอร์เองมีโรงงานอยู่ที่นี่ มีสวนยางอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ในเนื้อที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ แรกเริ่มเดิมทีไทยรับเบอร์พยายามผลักดันการทำคาร์บอนเครดิตในสวนยาง จึงนำมาขยายผลให้กลายเป็นโครงการนำร่องที่จังหวัดเชียงราย กลายเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง ภาคเอกชนโดย บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ภาครัฐโดยการยางในฐานะตัวแทนของกลุ่มสถาบันเกษตรกร ขณะเดียวกัน ยังได้ผู้แทนจากจีนเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการนี้ร่วมกัน”

ประธานกรรมการ บมจ. ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป กล่าวว่า ขอขอบคุณการยางแห่งประเทศไทย ที่ให้โอกาสมาร่วมแถลงข่าว รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตที่บริษัทไทยรับเบอร์ได้มีดำริที่จะทำขึ้นมา

Advertisement

“ผมคิดว่าเรื่องนี้แม้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในเวลานี้คาร์บอนเครดิตมีการซื้อขายกันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ก็อาจยังไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งทางบริษัทเราได้ศึกษาข้อมูลจนพบว่า ต้นยางพาราของเราสามารถขายคาร์บอนเครดิตที่เก็บไว้ในต้นยางได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถือเป็นข่าวดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั่วประเทศ หากเราสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ และยังสามารถสนับสนุนให้ลูกสวนของเรามีรายได้พิเศษได้ เลยคิดว่าควรจะเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย”

นายวรเทพ กล่าวเสริมว่า เผอิญผมได้ติดต่อไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ จึงจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นการทดแทน ช่วงเวลานี้เองจึงได้บริษัทในเมืองจีน ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและได้ลงทุนอยู่ที่ฮ่องกง ให้ความสนใจมาลงทุนให้ว่าคาร์บอนเครดิตที่เก็บไว้ในต้นยางของเรา แปลงออกมาเป็นเงินได้เท่าไหร่ ซึ่งทางประเทศจีนเองก็จะได้ประโยชน์จากการซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง แต่การจะลงทุนสำรวจพื้นที่ได้นั้นต้องมีเนื้อที่อย่างน้อยแสนไร่ขึ้นไป เพื่อที่จะได้คุ้มทุนกับการลงทุน ซึ่งใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านบาท

Advertisement

“จึงขอกับทางการยางแห่งประเทศไทยว่า ขอให้จังหวัดเชียงราย เป็น Sandbox ต้นแบบในการศึกษาและลงทุนเรื่องการขายคาร์บอนเครดิตจากต้นยางพารา เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ หากจังหวัดเชียงรายทำสำเร็จ จะกลายเป็นโมเดลสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยางพารา

“สิ่งที่ทางจีนจะต้องทำต่อไปคือ การสำรวจต้นยางในพื้นที่ทุกต้น หลังจากนั้นต้องเขียนโครงการ วิเคราะห์โครงการ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ว่าต้นยางแต่ละต้นที่มีอายุไม่เท่ากัน ขนาดไม่เท่ากัน กักเก็บคาร์บอนได้กี่ตัน แล้วก็สามารถบริหารจัดการ รวมทั้งสอบสวนหาความเป็นไปได้ว่า สิ่งที่นักสำรวจวิเคราะห์มามีความเป็นไปได้หรือไม่ หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนการขึ้นทะเบียน จดทะเบียน ซึ่งทำให้สามารถซื้อขายในตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว บริษัทผู้ลงทุนจีนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยทางการยางแห่งประเทศไทย หรือเกษตรกร ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

คุณหยาง ตัวแทนจากประเทศจีน เผยความยินดี หลังได้ร่วมมือผนึกกำลังกันในวันนี้ โดยโครงการข้างต้นทางประเทศจีนเองมีความสนใจและพร้อมที่จะศึกษาและสนับสนุน เพราะเห็นถึงประโยชน์ในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของโลกใบนี้ พร้อมทั้งได้สนับสนุนเกษตรกรต่างๆ และหวังว่าในอนาคตจะได้ร่วมมือและสนับสนุนโครงการต่างๆ กับทางการยางแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาร่วมกันต่อในระยะยาว