แนะรัฐหนุนแปรรูปเกษตรเข้มข้น สศอ.ดึง”สศช.-ซีพี”ช่วยปั้นเอ็มพีไอใหม่ เปิดกว้างดึงข้อมูลพลังงานน้ำเสริมด้วย

“โอฬาร” แนะตั้งเขตอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร-ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอีอีซี เหตุ 3 เมืองมีผลไม้เยอะ ต่างชาติชอบ ด้าน สศอ.หารือ “สศช.-ซีพี” ร่วมปั้นเอ็มพีไอใหม่ พร้อมดึงข้อมูลพลังงาน-น้ำประกอบด้วย

นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรม (สศอ.) ว่า นโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมีโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นตัวเชื่อมโยงนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมประเทศ และยังมีการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ (เอสเคิร์ฟ) แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ารัฐบาลอาจมุ่งเน้นอุตสาหกรรมหลัก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากเกินไป อยากให้ทบทวนแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เข้มข้นขึ้นกว่านี้ อาจประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเพิ่มจากปัจจุบันที่มีเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเน้นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมเป็นหลัก

“การที่ให้สนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวเพราะ 3 จังหวัดอีอีซี คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีศักยภาพ ทั้งความเป็นเมืองผลไม้ เมืองท่องเที่ยว และปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีน รัสเซีย ที่มีกำลังซื้อสูง เข้ามาเที่ยวพร้อมกับบริโภคผลไม้ สินค้าเกษตรของไทย ขณะเดียวกัน ก็มีการนำผลไม้ของไทยไปบริโภคต่างประเทศ นอกจากนี้ ในด้านสุขภาพทั้งการรักษาโรค ศูนย์สุขภาพและความงาม ก็เป็นกลุ่มที่มูลค่าสูง และสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้ ดังนั้น การยกระดับทั้ง 2 อุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็น มั่นใจว่าจะทำให้อีอีซีมีการพัฒนาและประสบความสำเร็จ” นายโอฬาร กล่าว

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม สศอ.ได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง จัดเสวนารับฟังความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบการพิจารณาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ฐานใหม่ที่ครอบคลุมและแม่นยำขึ้น ขณะเดียวกัน จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบปิโตรเลียม อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หน่วยงานรับผิดชอบน้ำ อาทิ กรมชลประทาน เพื่อดึงข้อประมูลมาประกอบการพิจารณาให้ครอบคลุมและแม่นยำขึ้น หลังจากที่ผ่านได้ทำข้อตกลงและเปลี่ยนข้อมูลกับ 3 การไฟฟ้าของประเทศ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

“นอกจากนี้ เอ็มพีไอใหม่จะบรรจุผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม หรือเอสเคิร์ฟ เข้ามาคำนวณเอ็มพีไอ เบื้องต้นได้มีการนำผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องมือแพทย์ เข้ามาคำนวณเอ็มพีไอแล้ว หลังจากนี้ จะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อใช้คำนวณเอ็มพีไอในภาพรวมต่อไป คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2562 นี้” นายวีระศักดิ์ กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน