ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณชัยทร ผิวเกลี้ยง หรือ หมอโต้ง เป็นเกษตรกรที่ต้องปรับตัวในวิกฤตโควิด-19 เป็นอย่างมาก เพราะในช่วงนั้นนอกจากจะส่งไก่ขายให้ร้านอาหารได้ยากแล้ว ยังมีในเรื่องของต้นทุนอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการเลี้ยงไก่ขุนจะใช้อาหารที่เป็นจากท้องถิ่นอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องให้อาหารที่เป็นอาหารสำเร็จรูปควบคู่กันไป เพื่อเป็นการสร้างเนื้อให้กับไก่เจริญเติบโตได้ดี

ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์
ตลาดยังไปได้หลังโควิด-19
หลังจากที่ปรับตัวในเรื่องของการเลี้ยงไก่มาอยู่เสมอ หมอโต้ง บอกว่า ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ที่เขาเลี้ยงยังสามารถจำหน่ายได้อยู่เรื่อยๆ เพราะไก่สายพันธุ์นี้หากไม่เลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อ ลูกค้าบางรายจะซื้อไปเลี้ยงเพื่อเก็บไข่ไว้ปรุงอาหารได้ ที่ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์มีคุณสมบัติแบบนี้ได้ เป็นเพราะการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์หนึ่งที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ชื่อว่าไก่พันธุ์ตะเภาทองกับไก่พื้นเมืองของจีน ชื่อว่าไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ซึ่งไก่ทั้งสองสายพันธุ์นี้มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำทั้งสองสายพันธุ์มาผสมกันคือ พ่อพันธุ์ตะเภาทอง และแม่พันธุ์สามเหลือง จึงได้เกิดเป็นไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์
ลักษณะเด่นของไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ มีรูปร่างสมส่วนสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีลักษณะหงอนหินประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ และอีก 15 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะหงอนหนอนจักร ขนออกเป็นสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง นอกจากนี้ ยังมีความแข็งแรง ทนโรค ถือได้ว่าเป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย เพราะสามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดี

“พอหลังจากพ้นจุดวิกฤตช่วงนั้นมา จากที่ผมเลี้ยงเป็นไก่ขุนเพื่อส่งขาย ตอนนี้ก็จำเป็นต้องลดปริมาณการเลี้ยงขุนลง แต่เน้นมาผลิตเป็นลูกไก่ขายมากขึ้น เพราะเนื่องจากวัตถุดิบเลี้ยงไก่ขุน อาจไม่เอื้ออำนวยมากนัก จึงอาจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องของการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ขายจึงเหมาะสม พร้อมกับเลี้ยงขุนไปด้วยแบบไม่ใช่ปริมาณมากเหมือนเช่นเคย” หมอโต้ง บอก

ไก่อายุ 5 เดือนขึ้นไป
สามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้
หมอโต้ง เล่าต่อในเรื่องของการผสมพันธุ์ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ให้ฟังว่า ไก่สายพันธุ์นี้เมื่ออายุได้ 5 เดือนขึ้นไปสามารถผสมพันธุ์ได้ไว โดยอัตราการปล่อยเลี้ยงจะไม่เกิน 9 ตัวต่อตารางเมตร พร้อมทั้งข้างบริเวณโรงเรือนนอนจะขยายพื้นที่เดินเล่นคุ้ยเขี่ยให้กับไก่ตะเภาทองด้วย และบริเวณรอบๆ พื้นที่เดินเล่นจะกันตาข่ายไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ไก่อยู่ในบริเวณที่กำหนด และป้องกันสัตว์อย่างสุนัขที่จะเข้ามากัดไก่ภายในเล้า

การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ที่ผสมพันธุ์กันในโรงเรือนที่กำหนด จะปล่อยอัตราตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 5 ตัว อย่างเช่น ถ้าในโรงเรือนมีตัวผู้ 10 ตัวก็จะต้องมีตัวเมียอยู่ที่ประมาณ 50 ตัว ซึ่งในคอกพ่อแม่พันธุ์นั้นไก่ตะเภาทองจะออกไข่มาให้เก็บได้ทุกวัน โดยเฉลี่ยใน 1 ปี ตัวเมียจะมีไข่ให้เก็บได้อยู่ที่ 160-180 ฟอง ซึ่งระยะเวลาให้ไข่สามารถให้ได้นานถึง 2-3 ปี จากนั้นนำไข่ที่เก็บในแต่ละวันมาเข้าในตู้ฟัก

“หลังจากเก็บไข่มาแล้ว ก็จะเข้าไว้ในตู้ฟักประมาณ 21 วัน หลังจากลูกไก่ตะเภาทองเกิดมาแล้ว จากนั้นก่อนที่จะส่งขายให้กับลูกค้า จะทำการอนุบาลก่อนประมาณ 7 วัน ช่วงนี้ก็จะให้กินอาหารลูกไก่เล็ก กินอาหารไก่เล็กที่มีโปรตีนอยู่ที่ 21 เปอร์เซ็นต์ พอครบกำหนดก็จะส่งขายให้กับเกษตรกรที่ต้องการซื้อ ส่วนบางรายก็จะซื้อลูกไก่อายุ 1 วันเลยก็มี เพราะฉะนั้นการขายขึ้นอยู่กับลูกค้าเป็นหลักว่าต้องการแบบไหน ส่วนถ้าเราไม่ขายไก่เล็ก เราก็จะมีเลี้ยงขุนไว้ด้วยจำนวนหนึ่ง เพื่อขายเป็นไก่สดให้กับลูกค้าที่นำไปประกอบอาหาร” หมอโต้ง บอก

การเลี้ยงเป็นไก่ขุน
ใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ 4 เดือน
สำหรับการเลี้ยงไก่ขุนเพื่อขายเป็นไก่สดนำไปประกอบอาหาร หมอโต้ง เล่าว่า เมื่อลูกไก่ที่อนุบาลได้อายุ 1 เดือน จึงปล่อยออกจากที่กั้นให้วิ่งเล่นตามสถานที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์จะได้ใช้ชีวิตร่วมกับไก่ตัวอื่นๆ ในแบบธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาหารที่ให้ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์กินในแต่ละวัน อาจจะให้วันละ 1-2 มื้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หามาได้ในท้องที่นั้นๆ ว่าสามารถหาผักหญ้ามาได้มากน้อยเพียงใด ถ้าได้มากก็กินวันละ 2 มื้อ และถ้ามีน้อยอาจเปลี่ยนเป็นวันละ 1 มื้อ

จากสภาพแวดล้อมที่ไก่ถูกเลี้ยงอยู่แบบธรรมชาติ ทำให้เรื่องโรคที่เกิดขึ้นไม่ค่อยมีปัญหา จะทำวัคซีนให้กับไก่เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงทำให้การเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์นอกจากจะประหยัดต้นทุนในเรื่องการทำวัคซีนแล้ว แม้แต่เรื่องอาหารที่ให้ไก่กินยังหาได้จากท้องถิ่น จึงถือว่าเป็นการเลี้ยงที่ประหยัดต้นทุนในเรื่องของการให้อาหารสำเร็จรูปด้วยเช่นกัน

“เมื่อเลี้ยงมาจนถึงอายุประมาณ 4 เดือน ใกล้ขายได้ ไก่ตัวผู้จะตัวใหญ่มีน้ำหนักอยู่ที่ 2-2.3 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียน้ำหนักจะอยู่ที่ 1.7-1.8 กิโลกรัม ซึ่งไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์แม้จะดูว่าน้ำหนักเหมือนไม่มาก แต่ถ้าอายุครบกำหนดเลี้ยง เนื้อที่อกจะเต็ม เนื้อก็แน่น จึงถือได้ว่าเป็นไก่ที่มีโครงสร้างดี สามารถทำตลาดเนื้อได้” หมอโต้ง บอก

ทำตลาดทั้งขายพันธุ์-เนื้อไก่สด
ช่วยให้มีรายได้หลายช่องทาง
เนื้อไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ที่มีรสสัมผัสต่างจากไก่บ้านคือ เนื้อไม่เหนียวจึงเป็นที่ถูกใจของผู้ที่ได้ลิ้มรส ทำให้เวลานี้ที่ฟาร์มของหมอโต้ง ต้องผลิตทั้งเป็นไก่ขุนขายเป็นไก่สดพร้อมนำไปปรุงอาหาร ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-170 บาท ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ไกลออกไปจังหวัดอื่นๆ ก็สามารถสั่งไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์นำไปประกอบอาหารได้

ส่วนลูกไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ลูกค้าที่สนใจอยากซื้อไปเลี้ยง ที่ฟาร์มแห่งนี้ก็มีลูกไก่ขายเพื่อรองรับตลาดนี้ด้วยเช่นกัน โดยลูกไก่อายุ 1 วัน ราคาอยู่ที่ตัวละ 27 บาท ลูกไก่อายุ 7 วัน อยู่ที่ราคาตัวละ 32 บาท และไก่ตะเภาทองหนุ่มสาวที่พร้อมไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ราคาอยู่ที่ตัวละ 600-700 บาท ซึ่งลูกค้าก็จะซื้อไก่แต่ละรุ่นที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นทางฟาร์มก็จะผลิตในหลายแบบ เพื่อรองรับการทำตลาดให้กับลูกค้าในหลายๆ กลุ่ม
“ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 มา ถือว่าเราปรับตัวเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ เพื่อให้ต้นทุนถูกลงที่สุด และสามารถทำให้ฟาร์มสามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะฉะนั้นคนที่สนใจอยากเลี้ยง ต้องถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า อยากเลี้ยงแบบไหน ถ้าอยากเลี้ยงเป็นอาหารในครัวเรือนก็ซื้อน้อยๆ เลี้ยงรอบบ้านได้ แต่ถ้าอยากเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ ก็ต้องวางแผนศึกษาในเรื่องของการเลี้ยงให้ดี เมื่อรู้ข้อดีข้อเสียแล้วก็ค่อยๆ มาเรียนรู้ และอยู่กับมันอย่างจริงจัง ประสบการณ์เหล่านี้ ก็ทำให้ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก” หมอโต้ง บอก
สำหรับท่านใดสนใจในเรื่องของการเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณชัยทร ผิวเกลี้ยง หรือ หมอโต้ง ฟาร์มตั้งอยู่บ้านเลขที่ 328 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 089-359-6598
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 28 สิงหาคม 2023