กรมชลฯ ร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร หาทางช่วยเหลือเกษตรกร หลังเอลนีโญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (6 กันยายน 2566 ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,646 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 6,450 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,188 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 3,342 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เร่งเก็บกักน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ

กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มจะยาวนานไปจนถึงปีหน้า ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด พร้อมนำ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (เพิ่มเติม) ที่ กอนช. กำหนด มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ได้แก่ 1. จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด อย่างรอบคอบและรัดกุม 2. ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ซึ่งได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดแล้ว และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

ด้านมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร รองรับสถานการณ์เอลนีโญ ได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2567 มีเป้าหมาย 90,000 คน ช่วยเหลือภัยแล้ง อาทิ การสูบน้ำช่วยเกษตรกร จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และการขุดลอกเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก รวมถึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ สำรวจแหล่งน้ำสำรองของแต่ละพื้นที่ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที