เพาะพันธุ์ปลากาดำขาย ทำตลาดได้ทั้งปลาเนื้อและปลาสวยงาม

ปลากาดำ ทางภาคเหนือเรียกว่า ปลาเพี้ย ส่วนทางภาคอีสานเรียกว่า ปลาอีตู๋ หรือ อีก่ำ จัดอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลาง ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง พื้นลำตัวสีม่วงดำหรือน้ำเงินดำ เกล็ดมีขนาดใหญ่คลุมตลอดลำตัวยกเว้นส่วนหัว หัวปลากาดำเรียวแหลม ปากยืดหดได้ ไม่มีฟัน ริมฝีปากบนและล่างเป็นหยัก มีติ่งเนื้อเป็นฝอยสั้นๆ อยู่รวมกันเป็นกระจุก มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และสูง ครีบหู ครีบท้อง และครีบก้น เรียวยาวและมีขนาดไล่เลี่ยกัน ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก ครีบทุกครีบมีสีดำ

คุณจิรพงศ์ ลือวัฒนานนท์ หรือ คุณจระเข้

ปลากาดำพบได้ในแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหลทั่วประเทศ เป็นปลาที่มีพฤติกรรมว่ายแทะเล็มตามหินและชอบกัดเกล็ดของปลาอื่น กินตะไคร่น้ำและซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร ในด้านของการนำมาประกอบอาหารนั้นปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยจึงนิยมบริโภคภายในครัวเรือนในภาคเหนือ ทำเป็นประเภทลาบ จากความนิยมนี้เองจึงทำให้ปลากาดำในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงกันมากขึ้น เพื่อขายเป็นตลาดปลาสวยงามและเลี้ยงเป็นปลาเนื้อเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน

คุณจิรพงศ์ ลือวัฒนานนท์ หรือ คุณจระเข้ เจ้าของลือวัฒนาฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 216 หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้เห็นถึงความต้องการของตลาดที่นิยมบริโภคปลากาดำเพิ่มขึ้นทุกปี จึงทำให้เขาได้เพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ขึ้น สร้างป็นลูกพันธุ์ปลาที่ดีมีคุณภาพให้กับลูกค้าในแถบภาคเหนือได้เป็นอย่างดี

ปลากาดำ

สานต่ออาชีพดั้งเดิมต่อจากครอบครัว

คุณจระเข้ เล่าให้ฟังว่า การเลี้ยงปลาถือเป็นอาชีพหลักที่ทำมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ จากการที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอในการดำเนินชีวิต จึงทำให้การเลี้ยงปลาเป็นส่วนหนึ่งของเขา จนได้ไปศึกษาต่อในสาขาประมงเพื่อที่จะได้นำความรู้มาช่วยพัฒนาการเลี้ยงปลาของครอบครัว โดยเขาได้สนใจในเรื่องของการเพาะพันธุ์จำหน่าย มากกว่าที่จะเลี้ยงปลาเนื้อส่งขายให้กับลูกค้าเหมือนในสมัยก่อน

ลูกพันธุ์ปลากาดำ

“พอเรียนจบประมงมา ก็นำความรู้ที่ได้มาจัดการระบบฟาร์มใหม่ โดยจากที่เคยเลี้ยงปลาเนื้อที่ต้องรอเวลา ในการเลี้ยงตั้งแต่ 1 ปี หรือจนถึง 1 ปีครึ่งก็มี รู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาขายอย่างเต็มตัวในปี 2556 แรกๆ เพาะพันธุ์ปลาทับทิม ปลาน้ำจืดทั่วไปขายก่อน แล้วช่วงที่ทำตลาดมาเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าทางภาคเหนือเขาชอบทำลาบปลากินกัน โดยเฉพาะปลากาดำเป็นที่นิยมมาก ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้มาเพาะพันธุ์ลูกปลาจำหน่ายในเวลาต่อมา” คุณจระเข้ บอก

สายพันธุ์ปลากาดำที่นำมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์นั้น คุณจระเข้ บอกว่า ไม่ได้หาซื้อจากที่อื่นเข้ามามากนัก แต่เป็นปลาดั้งเดิมที่อยู่ติดบ่อตั้งแต่สมัยเลี้ยงเป็นปลาเนื้อ จากนั้นก็นำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดและพัฒนาด้วยการเพาะพันธุ์ให้มีจำนวนมากขึ้น จนเวลานี้ที่ฟาร์มถือเป็นแหล่งที่มีพ่อแม่พันธุ์คุณภาพไว้ใช้งานได้ตลอดฤดูกาลผสมพันธุ์

ปลากาดำต้องเลี้ยงรวม

กับปลาชนิดอื่นๆ ภายในบ่อ

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากาดำ คุณจระเข้ บอกว่า ต้องเลี้ยงผสมให้อยู่รวมกับปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล เมื่อถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์จะนำพ่อแม่พันธุ์มาทำการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยแม่พันธุ์จะเลือกปลาที่มีลักษณะให้ไข่ที่สมบูรณ์ อายุอย่างต่ำต้อง 1 ปีขึ้นไป แม่พันธุ์ปลากาดำยิ่งใหญ่ยิ่งดี ส่วนพ่อพันธุ์เลือกให้มีขนาดไซซ์ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 300-600 กรัม เนื่องจากน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ได้ในปริมาณที่น้อย อาจจะใช้การผสมที่ตัวเมีย 1 ตัวต่อตัวผู้ 3 ตัว

เตรียมปลาส่งขาย

เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ต้องการได้แล้ว จะใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ปริมาณ 5-10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม ฉีดให้กับแม่ปลาเพื่อเป็นการเหนี่ยวนำไข่ ซึ่งการฉีดในแต่ละครั้งก็จะดูความพร้อมของแม่พันธุ์เป็นหลัก ถ้ามีความพร้อมมาก ก็อาจไม่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ให้กับปลามาก ซึ่งช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมกับการเพาะพันธุ์ปลามากที่สุดจะเป็นช่วงฤดูฝนพอเข้าฤดูหนาวก็จะหมดฤดูกาลผสมพันธุ์

การฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ให้กับพ่อแม่พันธุ์ปลา

“หลังจากที่ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์แล้ว จะปล่อยพ่อแม่พันธุ์ใส่ลงไปในอ่างซีเมนต์ ขนาด 2×3 เมตรที่เตรียมไว้ ปล่อยให้ปลาผสมพันธุ์กันเอง ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง พอเห็นเริ่มมีไข่ออกมาในบ่อ ต้องแยกพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อทันที หลังจากนั้นรอดูไข่อีกประมาณ 2-3 วัน เมื่อเห็นอัตราการฟักของลูกปลามีจำนวนเยอะแล้ว ก็จะย้ายลงไปอนุบาลในบ่อดินต่อไป” คุณจระเข้ บอก

พื้นที่ภายในฟาร์ม

การอนุบาลลูกปลากาดำในบ่อดินจะปล่อยลงไปเลี้ยงในพื้นที่ขนาดบ่อ 1 ไร่ ปล่อยลูกปลาลงไปอนุบาลประมาณ 1,000,000 ตัว อาหารที่ใช้เลี้ยงในช่วงนี้จะเน้นเป็นไข่แดงละลายน้ำให้กินวันละ 2 มื้อ เช้าและเย็น ประมาณ 3 วัน จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารกุ้งที่มีโปรตีนอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ ให้กินอยู่ประมาณ 15-20 วัน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นอาหารปลาดุกที่มีโปรตีนอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์อีกครั้งหนึ่ง ให้กินต่อไปอีกประมาณ 20 วัน ลูกปลากาดำทั้งหมดก็จะได้อายุอยู่ที่ 45 วัน ขนาดตัวอยู่ที่ 1.5 นิ้ว ก็สามารถส่งจำหน่ายได้

ไข่ปลากาดำรอฟักเป็นตัว

ในเรื่องของการดูแลโรคที่จะเกิดขึ้นกับลูกปลากาดำ คุณจระเข้ บอกว่า ต้องควบคุมในเรื่องของการให้อาหารภายในบ่อ เพราะถ้าให้มากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ วิธีที่ป้องกันที่ดีที่สุดต้องให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับตรวจคุณภาพน้ำอยู่เสมอก็จะทำให้ลูกปลาไม่เจ็บป่วยจนทำให้ปลาตายได้

ลาบปลากาดำ

ส่งขายภาคเหนือเป็นหลัก

ความต้องการตลาดยังมีต่อเนื่อง

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายลูกพันธุ์กาดำนั้น คุณจระเข้ บอกว่า จะเน้นส่งจำหน่ายทางภาคอีสานตอนบนเป็นหลัก เพราะลูกค้าในแถบนี้จะนิยมซื้อไปเลี้ยงในบ่อขนาด 1-2 งาน หรือใหญ่สุดก็ขนาด 1 ไร่ เลี้ยงผสมกับปลาชนิดอื่นๆ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็จะสามารถได้ปลากาดำขนาดไซซ์ที่ใช้ทำอาหารกินภายในครัวเรือน หรือถ้ามีจำนวนมากก็สามารถจับจำหน่ายเกิดรายได้อีกหนึ่งช่องทาง

ลูกปลากาดำขนาดไซซ์ 1.5 นิ้ว ราคาจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 1.50 บาท ถ้าลูกค้าซื้อในปริมาณมากทางฟาร์มก็จะมีราคาขายส่งให้ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาซื้อลูกพันธุ์ปลาชนิดอื่นของฟาร์มไปด้วย โดยเน้นเลี้ยงในรูปแบบปลาเบญจพรรณเป็นส่วนใหญ่

ลูกพันธุ์ปลากาดำ

“ในแต่ละปีผลผลิตผมออกมาไม่เยอะเท่าไร ส่งขายให้กับทางโซนภาคเหนือก็ไม่เพียงพอแล้ว แต่ละปีที่ขายได้เฉลี่ยแล้วก็จะอยู่ที่ 100,000-300,000 ตัว ซึ่งปลากาดำอนาคตก็ถือว่าลูกพันธุ์ปลายังมีความต้องการอยู่มาก ยังสามารถขยายตลาดไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะตลาดปลาสวยงามก็จะนิยมซื้อไปเลี้ยงโชว์ในตู้ เพราะฉะนั้นใครที่สนใจเลี้ยงอาจจะเลี้ยงในบ่อที่บ้านที่มีอยู่ก็ได้ พอปลาได้อายุก็ค่อยจับมาบริโภคก็ถือว่าเป็นอาหารภายในครัวเรือนได้ดี” คุณจระเข้ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของปลากาดำและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณจิรพงศ์ ลือวัฒนานนท์ หรือ คุณจระเข้ หมายเลขโทรศัพท์ 089-229-2812 และ 084-324-7450

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 16 กันยายน 2566