กลุ่มมะพร้าวบางใบไม้ สุดเจ๋ง นำ Zero Waste มาปรับใช้ แปรรูปขยะจากมะพร้าว สร้างงาน สร้างอาชีพ

Zero Waste เป็นแนวคิดในการที่จะทำให้ไม่เกิดของเหลือหรือทำให้เกิดของเหลือน้อยที่สุดในกระบวนการผลิต แล้วจึงนำส่วนที่เหลือ ไม่สามารถใช้ประโยชน์แล้วไปกำจัด เริ่มมีการนำมาใช้ในช่วง ค.ศ. 1970 ในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการแลกเปลี่ยนหรือขายของเหลือดังกล่าวให้กับโรงงานหรือสถานประกอบการอื่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทำให้ของเหลือเหล่านั้นมีจำนวนน้อยลงไปอีกด้วย

ประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความต้องการในเรื่องต่างๆ ที่มากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ ภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองเข้ามาใช้พื้นที่แทนเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีการรุกคืบหน้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ในการทำการเกษตรมีน้อยลง อีกทั้งทรัพยากรที่จะนำมาใช้สำหรับการทำเกษตรกรรมก็ยังถูกแบ่งไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง เช่น ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

คุณสรพงศ์ จันทร์เหล็ก

การจัดการทรัพยากรทางด้านการเกษตรจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการรุกเข้ามาของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง รวมถึงการที่จะต้องปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด การปรับลดการใช้ทรัพยากร การใช้ทรัพยกรที่มีอยู่ไม่ต้องไปหาจากแหล่งอื่นมาเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่ายังที่จะต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกบ้างก็ตาม

จากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่กว้างและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมาย ต้องเปลี่ยนมาทำการเกษตรในพื้นที่ที่น้อยลง รวมถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ภาคการเกษตรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและการปฏิบัติการทางด้านเกษตรเสียใหม่ การนำแนวคิด Zero Waste มาใช้เป็นแนวทางหนึ่งที่ภาคเกษตรกรรมสามารถเลือกมาปรับปรุงการดำเนินการได้ จึงเป็นการนำไปสู่ยุคของ Zero Waste ทางด้านการเกษตร หรือ “Zero Waste Agriculture”

มะพร้าวกองมหาศาล

ในปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างนำหลักการเรื่อง Zero Waste มาปรับใช้ภายในพื้นที่ของตนเอง ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์” เพื่อเป็นการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะล้นเมืองให้ได้มากที่สุด หยุดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง แทนการกำจัดปัญหาขยะที่ปลายทาง ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่สามารถลงมือทำได้จริงและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงเรื่องของขยะที่ลดลงอย่างชัดเจน

เพราะถ้าหากขยะถูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ปริมาณขยะที่ถูกจำกัดสวนทางกัน ก็จะส่งผลในเรื่องของขยะที่ล้นเมือง และคงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หากหลายๆ คน ร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกันเปลี่ยนทีละนิด ก็สามารถลดจำนวนขยะลงอย่างไม่น่าเชื่อ

กาบมะพร้าวที่กำลังแปรรูป

เช่นเดียวกับ คุณสรพงศ์ จันทร์เหล็ก เป็นประธานแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ บริษัท มะพร้าวแปลงใหญ่บางใบไม้ จำกัด มีสมาชิก จำนวน 33 คน ในพื้นที่การปลูกมะพร้าวรวม 309 ไร่

โดยคุณสรพงศ์เล่าแนวคิดการแปรขยะจากมะพร้าวให้มีมูลค่า ด้วยการนำหลักการ Zero Waste ให้ฟังว่า ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ในปี 2562 เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลบางใบไม้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพืชหลักคือมะพร้าวที่ปลูกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยขาดการดูแลบำรุงรักษา ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ราคาตกต่ำ จึงเกิดการรวมตัวจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านในพื้นที่เน้นจำหน่ายมะพร้าวทั้งผล และบางส่วนส่งนำไปแปรรูป

มะพร้าวที่กำลังถูกแยกส่วนการผลิต

จนกระทั่งปี 2564 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มีการจัดสร้างโรงเรือนและจัดซื้อเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์สำหรับผลิตขุยและใยมะพร้าว นำไปสู่การใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตสินค้าใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กาบมะพร้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปมะพร้าว

ซึ่งภายใน 1 เดือน สามารถรวบรวมกาบมะพร้าวของสมาชิกได้ 5 ตันต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีกาบมะพร้าวของเกษตรรายย่อยอื่นๆ ในพื้นที่อีกประมาณ 100 ตันต่อเดือน มีการรวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้แก่ล้งมะพร้าว โดยล้งมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการซื้อขายผลผลิตมะพร้าวกับสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี มีการใช้หลักตลาดนำการผลิตวางแผนขยายการผลิตสินค้าแบบใหม่ตามความต้องการของตลาด

กากมะพร้าวที่ถูกคัดแยกด้วยเครื่องคัดแยก

ซึ่งสินค้าที่ผลิตมาจากกาบมะพร้าวมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มี Brand ให้สามารถเข้าสู่ตลาด Online และ Offline ที่กว้างขวางได้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนำหลักการ BCG Model มาเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการนำขุยมะพร้าวไปทำดินและปุ๋ยหมักบรรจุใส่ถุงในนามกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง

ส่วนเส้นใยมะพร้าวนำไปขึ้นรูปอัดเป็นกระถางต้นไม้และถาดเพาะจำหน่ายทั้งปลีกและส่งเช่นกัน และเมื่อกลุ่มมีเงินทุน หลังจากปันผลแล้วเงินก้อนหนึ่งจะนำมาให้สมาชิกในกลุ่มกู้ยืม เพื่อนำไปลงทุนในการปรับปรุงสวนมะพร้าว บำรุงดูแลรักษา เพิ่มผลผลิต เพื่อความเป็นอยู่ของสมาชิกกลุ่มที่ดีขึ้น และกระบวนการดังกล่าวนี้ยังเป็นการช่วยลดปัญหาขยะที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน โดยการนำเศษวัสดุมาแปรรูปจนหมด (Zero Waste) ไม่เหลือขยะทิ้งเช่นในอดีต ดังนี้

  1. มะพร้าวผล ราคาผลละ 14-15 บาท
  2. มะพร้าวปอกหยอย ราคาผลละ 25-30 บาท
  3. กาบมะพร้าวนำไปผ่านกระบวนการแยกขุยแยกใย จะสามารถผลิตเป็นใยมะพร้าวที่มีราคาตันละ 12,000 บาท
  4. ขุยมะพร้าว ราคาตันละ 1,000 บาท

คุณสรพงศ์ ยังเล่าเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ยังได้สนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การทำไวน์ น้ำส้มสายชู และวุ้นจากน้ำมะพร้าว

ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าว เพื่อช่วยในการผสมเกสร และสร้างอาชีพเสริมในสวนมะพร้าว โดยการสนับสนุนรังผึ้งให้แก่เกษตรกร และการฝึกอบรมการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เป็นสบู่และโลชั่น เพื่อสร้างเป็นอาชีพเสริมให้กลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

สำหรับท่านใดที่อ่านมาถึงมาถึงตรงนี้ ถ้าหากยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากจุดไหน สามารถลองเริ่มจากจุดเล็กๆ ได้ที่ตัวเราเองก่อน ด้วยการเลือกใช้สิ่งของทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการใช้พลาสติก เพียงแค่นี้ก็สามารถลดจำนวนขยะต่อคนได้ไม่น้อย ลองมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันวันละนิด แล้วจะพบว่าแนวคิด ขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste ก็จะเป็นจริงได้