เผยแพร่ |
---|
“หนอนแมลงวันลาย” ดูแลง่าย เป็นแหล่งอาหารจากขยะอินทรีย์สู่อาหารโปรตีนชั้นเลิศ เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อชุมชน พบได้บริเวณพุ่มไม้ทั่วไปในธรรมชาติ กินน้ำและน้ำหวานเป็นอาหาร
🔻ระยะตัวเต็มวัย (แมลง)
ขนาดลำตัวยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร มีอายุ 8-15 วัน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในธรรมชาติที่มีพุ่มไม้ ใบไม้สีเขียว จับคู่ผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่ไว้บริเวณใกล้ๆ กับขยะอินทรีย์ จำนวนไข่ประมาณ 400-900 ฟองต่อตัว
🔻ระยะไข่
เป็นรูปวงรี ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร สีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ไข่จะมีสีเข้มขึ้นตามระยะเวลา ใช้เวลา 3-4 วัน ในการฟักเป็นตัวหนอน
🔻ระยะตัวหนอน
เป็นระยะที่กินขยะอินทรีย์เป็นอาหาร มีลักษณะตัวอวบอ้วน แบน สีขาวครีม ขนาดตัวยาวตั้งแต่ 3-26 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 0.2 กรัม ตัวหนอนจะลอกคราบ 8 ครั้งก่อนเข้าดักแด้
🔻ระยะตัวหนอนก่อนเข้าดักแด้
ระยะรอยต่อระหว่างตัวหนอนกับดักแด้ เป็นระยะที่เหมาะในการนำไปใช้ประโยชน์
🔻ระยะดักแด้
ลำตัวจะมีสีดำเข้มและผิวแห้งแข็ง ใช้เวลาฟักเป็นตัวแมลงประมาณ 10-15 วัน หรือนานกว่านั้นขึ้นกับสภาพอากาศ
ด้วยธรรมชาติของแมลงชนิดนี้ที่วางไข่บนเศษผัก ผลไม้ หรือในถังน้ำหมักที่มีกลิ่นเปรี้ยวอยู่แล้ว เมื่อไข่เจริญเติบโตเป็นหนอน ขยะอินทรีย์ต่างๆ จึงเป็นอาหารชั้นเลิศของหนอนแมลงวันลาย ซึ่งหนอนแมลงวันลายกินอาหารได้เร็วกว่าไส้เดือนดินถึง 5 เท่า และยังมีกรดลอริกที่ยับยั้งเชื้อที่ก่อโรคต่างๆ หนอนแมลงวันลายจึงเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูงสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นสัตว์สวยงาม เช่น ปลาคาร์พ ปลาสวยงาม เป็นต้น
การเลี้ยงหนอนแมลงวันลายจำเป็นต้องมีโรงเรือนหรือมุ้งครอบ เพื่อจำกัดเนื้อที่เพาะพันธุ์ ป้องกันการบินออกไปของแมลงวันบิน และป้องกันแมลงวันหรือสัตว์อื่นเข้ามาผสมอาจจะนำเชื้อโรคมาแพร่ได้ ที่สวนทำโรงเรือนมุ้งลวดก็เพียงพอแล้ว การเลี้ยงหนอนแมลงวันจึงมีต้นทุนที่ต่ำมาก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเลยทีเดียว
ถ้าสนใจสอบถามหรือแวะมาชมได้ที่ คุณอ้อ หรือ คุณสิริ จันทประแดง หมู่ที่ 5 ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โทร. 098-347-1729
#เทคโนโลยีชาวบ้าน #Technologychaoban #หนอนแมลงวัน #อินทรีย์ #ขยะอินทรีย์
เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567