กรมส่งเสริมสหกรณ์ เคลียร์ปมตารางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดภาคอีสาน

ตามที่มีสำนักข่าวนำภาพตารางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเผยแพร่ โดยมีเนื้อหาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 19 จังหวัด ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงต่ำแตกต่างกัน รวมถึงมีการยกตัวอย่างวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือนที่ครูต้องจ่ายซึ่งมากกว่าความเป็นจริง สร้างความสับสนแก่สมาชิกสหกรณ์ และประชาชนทั่วไปเป็นวงกว้างนั้น

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากทราบข่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์จำนวนมากดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้เงินกู้แก่สมาชิก และมีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ ดังนั้น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย เงินให้กู้ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ หากกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงก็จะทำให้สมาชิกแบกรับภาระมากเกินไป ขณะเดียวกันหากกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำอาจทำให้รายได้ของสหกรณ์ไม่เพียงพอต่อการจัดสรรผลประโยชน์คืนให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยปัจจัยหลักที่สหกรณ์ออมทรัพย์ต้องคำนึงถึงเพื่อคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ “โครงสร้างทางการเงินของแต่ละสหกรณ์” และ “ภาวะดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในขณะนั้น”

ดังนั้น ภาพตารางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปรากฏในข่าวว่ามีอัตราสูงต่ำไม่เท่ากันจึงเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากหลักการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละสหกรณ์ย่อมแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่เรียนแจ้งไปก่อนหน้านี้ โดยในส่วนของเนื้อข่าวที่มีการยกตัวอย่างการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครูต้องจ่ายต่อเดือนซึ่งมีจำนวนสูงกว่าที่ควรจะเป็นนั้น

ทางสำนักข่าวที่ลงข่าวได้ชี้แจงแล้วว่าเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้สื่อข่าวทำให้คิดว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบึงกาฬ จำกัด คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อเดือน (ในข่าวเขียนว่าหากกู้ 100,000 บาท ต้องจ่ายดอก 7,000 บาท ถ้ากู้ 1,000,000 ต้องจ่าย 70,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูบึงกาฬ จำกัด คิดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี หากกู้ 100,000 บาท ถ้าดอกเบี้ยร้อยละ 7 คือ 7,000 บาท ÷ 365 วัน = 19.1 บาท ต่อวัน ในแต่ละเดือนมีจำนวนวันไม่เท่ากัน เช่น เดือนมกราคม มี 31 วัน ดอกเบี้ยต่อเดือน คือ 19.1×31 = ดอกเบี้ยต่อเดือน 594.5 สรุปแบบเข้าใจง่ายหากกู้ 100,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7 จ่ายดอกเบี้ย ราวเดือนละ 590 บาท

นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เสริมว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์เป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก หรือก็คือเป็นการให้สินเชื่อในรูปแบบที่เมื่อเงินต้นลดลง อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งในการผ่อนชำระค่างวดแต่ละครั้งก็จะมีการคิดค่างวดที่แตกต่างกันออกไปตามจำนวนของเงินต้นที่เหลืออยู่