“มะเม่า” ผักและผลไม้จากป่า มีคุณค่าทางอาหารและเป็นยาดี

ในป่าไม้ที่เขียวชะอุ่ม ธรรมชาติที่คนไทยหวงแหน ป่าคือต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารสายน้ำที่เป็นฐานรากของแม่น้ำสายหลักที่สำคัญ เส้นเลือดใหญ่ของประเทศ และที่สำคัญของป่าไม้อีกประการคือ เป็นแหล่งกำเนิด “อาหาร” หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ให้สามารถสืบแพร่ขยายพันธุ์ และดำรงชีวิตกันมานับแต่บรรพกาล จนกระทั่งวันนี้ “ป่าไม้จึงเป็นชีวิต” อาหารที่ได้จากป่า ทั้งสัตว์บก สัตวน้ำ นก หนู งู หนอน แมลง เห็ด และพืชผัก เรียกได้ว่าอาหารบ้านเราเกือบทุกชนิด ได้จากป่า หรือเป็นผลผลิตจากป่าทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับผักชนิดนี้ ที่เรียกกันว่า “มะเม่า” เป็นไม้ป่าที่พบขึ้นในป่าทุกภาคของไทย ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง พบมากที่เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร พบเจอตามหัวไร่ปลายนา หรือบางพื้นที่ชาวบ้านนำมาปลูกในบ้าน ในสวน ซึ่ง “ต้นมะเม่า” ขยายพันธุ์ได้ง่าย โดยการตอนกิ่ง ปักชำ เสียบกิ่ง ทาบกิ่ง แท้ที่จริงมะเม่ามีการเจริญพันธุ์อยู่ทั่วไป ซึ่งมีมากกว่า 170 สายพันธุ์ พบในบ้านเรามี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ มะเม่าหลวง มะเม่าสร้อย มะเม่าไข่ปลา มะเม่าควาย และมะเม่าดง แต่พอที่จะแยกตามลักษณะรูปทรงใบและต้นได้ 2 ชนิด เท่าที่รู้ ชนิดใบ และก้านมีขน ปลายใบจะแหลม พุ่มใหญ่ไม่สูงมาก นิยมนำมาประกอบอาหาร และเคี้ยวอมเล่นกัน มากกว่าอีกชนิด ที่มีใบเรียบ นิยมปลูกเอาร่มเงา บางคนนำมาจัดสวนหย่อมที่พักผ่อนก็มี ใบมะเม่ามีรสเปรี้ยวอมฝาด โคนใบ และปลายใบจะหยักเว้า ใบแก่จะมีลักษณะเหมือนกัน ดอกและผลมีลักษณะเหมือนกันทั้ง 2 ชนิด

“มะเม่า” หรือ Thai Blueberry หรือ “หมากเม่า” เป็นไม้ในวงศ์ EUPHORBIACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma thnaitesianum Muell. Arg เป็นไม้พุ่มใหญ่พื้นเมือง ต้นสูง 5-10 เมตร ไม้เนื้อแข็ง แตกกิ่งเป็นพุ่มกลม ใบประเภทใบเดี่ยว ปลายและโคนใบมนกลม ถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบทั้ง 2 ด้าน แผ่นใบกว้าง 3.5-4 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบบาง มักออกใบหนาแน่น เป็นร่มเงาได้ดีมาก ยอดใบอ่อนมะเม่า เป็นผักกินได้ โดยเฉพาะเป็นผักปรุงรส ต้มหรือแกงเห็ดถอบ หรือเห็ดเผาะ รสชาติเหมาะเจาะเข้ากันดีมากๆ มะเม่าออกดอกเป็นช่อคล้ายพริกไทย ดอกเล็กๆ สีขาวอมเหลือง จะออกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ออกดอกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ปลายยอด แยกเพศกันคนละต้น ช่อดอกยาว 1-2 เซนติเมตร ผลมีขนาดเล็ก 1 ผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ออกเป็นช่อหรือพวงคล้ายพริกไทย ผลดิบสีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว ผลสุกสีแดงถึงม่วงอมดำ มีรสเปรี้ยวอมฝาด จะสุกแก่เดือนสิงหาคม-กันยายน

“ใบ ยอดอ่อน และผลของมะเม่า” มีคุณค่าทางอาหารสูง ใบอ่อนยอดอ่อนมะเม่า 100 กรัม พบว่ามีความชื้น 92.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5.99 กรัม ไขมัน 0.77 กรัม โปรตีน 0.19 กรัม เส้นใยอาหาร หรือ ไฟเบอร์ 0.02 กรัม แคลเซียม 126.35 มิลลิกรัม เหล็ก 0.70 มิลลิกรัม วิตามีนบีหนึ่ง 0.221 มิลลิกรัม วิตามีนบีสอง 0.113 มิลลิกรัม วิตามีนอี 0.13 มิลลิกรัม ผลของมะเม่านอกจากมีคุณค่าทางอาหารเช่นเดียวกับใบอ่อนยอดอ่อนแล้ว ผลมะเม่า 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานิน 299.9 มิลลิกรัม สารโพลีฟีนอล 566 มิลลิกรัม รสฝาดมีสารฟลาโวนอยด์ รสขมมีสารแทนนิน และอีกหลายๆ อย่าง มีสารที่มีคุณค่า “มะเม่า” ใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น คือราก ต้น ใบ ดอก ผล สุดยอดจังเลยนะ

“มะเม่า” มีสรรพคุณทางยามากมาย ตัวสารสำคัญต่างๆ ที่พบในมะเม่า มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งร้ายได้ เป็นสารสร้างภูมิคุ้มกันการเกิดโรคจากเชื้อเอช ไอ วี หรือโรคเอดส์ได้ ในตำรายาแผนไทย นำใบมาต้มน้ำอาบ แก้โรคโลหิตจาง ตัวซีดเหลือง ขยี้หรือตำใบมะเม่า ทาแก้ปวดหัว แก้โรคผิวหนัง พอกแผลฝีหนอง เอาใบมะเม่ามาอังไฟ ย่างไฟ ลนไฟ หรือฟาดไฟใช้ประคบแก้ฟกช้ำดำเขียว ต้นและรากมะเม่า นำมาต้มน้ำ กินเป็นยาแก้กษัย บำรุงไต ขับเลือด ขับปัสสาวะ แก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อย ยาแก้สตรีระดูตกขาว แก้มดลูกพิการ มดลูกอักเสบช้ำบวม ขับน้ำคาวปลา

“ผลมะเม่า” เป็นยาระบาย บำรุงสายตา ฟอกเลือด ขับเสมหะ ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัย ช่วยให้เกล็ดเลือดจับตัวน้อยลง ใช้ผสมน้ำอาบแก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดหัว แก้ช่องท้องบวม ใช้มะเม่าทั้ง 5 ส่วน คือ ราก ต้น ใบ ดอก ผล ต้มน้ำดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ ขจัดสารพิษ ช่วยในการขจัดพิษออกจากร่างกาย ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน ยับยั้งความเสื่อม การเปราะหักของหลอดเลือด ที่โดดเด่นมากที่สุด ต้องที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นน้ำมะเม่าพร้อมดื่ม และไวน์มะเม่า สำหรับคอเมาอ่อนๆ เลือกได้ตามสมัยนิยม

ชื่อว่า “มะเม่า” เป็นชื่อที่เรียกกันในทางพฤกษศาสตร์ ส่วนชื่อเรียกอื่นๆ นั้น หลายท่านคงคุ้นหูคุ้นตากับชื่อ “หมากเม่า” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในเมื่อมีชื่อสามัญ และสายพันธุ์มากมาย ในประเทศไทยมีอยู่ทั่วทุกภาค อยู่ที่ว่าภาคไหนมีความนิยมชมชอบมากกว่า ชื่อเรียกของคนภาคนั้นจะทำให้คุ้นหูกันมากกว่า เช่น ภาคกลาง เรียก “มะเม่า” หรือ “ต้นเม่า” ภาคเหนือ เรียก “หม่าเม่า” “หมากเม้า” หรือ “บ่าเหม้า” ที่พิษณุโลก เรียก “หมากเม่าหลวง” ภาคอีสานเรียก “หมากเม่า” “บักเม่า” ภาคใต้แถบระยอง เรียก “มัดเซ” และยังมีชื่ออื่นๆ ที่เรียกเช่น “เม่า” “เม่าเสี้ยน” คนรุ่นใหม่ให้ชื่อ และฉายาว่า “เบอร์รี่อีสาน” “เบอร์รี่สีดำพันธุ์ไทย” “ทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน” หรือ “ไทยบลูเบอร์รี่”

“มะเม่า หรือ หมากเม่า” นับได้ว่าเป็นพืชสมุนไพร เป็นยาดีอีกชนิดหนึ่ง เมื่อเริ่มเข้าฝน แตกใบอ่อน ให้เราเด็ดมาเป็นผักกินได้ พอดีกับปีนี้เป็นปีทองของนักล่าเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบทางเหนือ ไล่ลงมาเกือบทุกจังหวัด คนหาเห็ดยิ้มระรื่น คนชมชื่นกลืนกินได้เต็มคาบอร่อยลิ้น แม้จะแพงมากไปหน่อย แต่เทียบความอยากของคนกิน กับความยากของคนหา คุ้มค่ากับวันที่รอคอย เห็ดถอบออกมาสู่คนกิน พร้อมกันกับ “มะเม่า” ผักป่าที่เป็นคู่ชู้ชื่นกันตลอดกาล แกงเห็ดถอบใส่ใบมะเม่า ใครไม่ได้กินจะรู้สึกเสียใจไปนาน ใบมะเม่า คนใช้แรงงานมักจะเอามาเคี้ยวกินเล่น ให้กำลังมีแรง สดชื่น หรือใช้เป็นผักปรุงรสแกงเผ็ด แกงฟัก แกงอ่อม ทำใบชามะเม่า ผลมะเม่าสดสีสันสวยงาม ดำ แดง ชมพู ขาว เขียว จิ้มพริกเกลือ ทำตำส้มหมากเม่า ก้อยหมากเม่า แปรรูปเป็นแยมมะเม่า เค้กหมากเม่า ขนมวุ้นหมากเม่า คุกกี้ไส้มะเม่า มะเม่าผงชงดื่ม น้ำมะเม่าพร้อมดื่ม ไวน์ชาโต เดอ ภูพาน เครื่องสำอาง สบู่ โลชั่นใบมะเม่า อีกมากมายล้วนเป็นผลิตผลและผลิตภัณฑ์ จาก “มะเม่า หรือ หมากเม่า” นั่นเอง