มนต์เสน่ห์ “เมืองเบตง” เกษตรอินทรีย์กลางขุนเขา

“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” คือคำขวัญของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่บ่งบอกถึงความงดงามของอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี และมีอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซีย เบตงนับเป็นอำเภอที่มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และมีความโดดเด่นทางด้านความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานอย่างลงตัว ระหว่างชาวไทย ชาวจีน และชาวมุสลิม กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ผู้ที่ได้มาเยือนเกิดความประทับใจ

ธรรมชาติล้านวิว @อุโมงค์ปิยะมิตร เบตง 

แวะชมทะเลหมอก “อัยเยอร์เวง”

การไปชมทะเลหมอก ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen ของเมืองเบตงที่พลาดไม่ได้ “อัยเยอร์เวง” เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เขาไมโครเวฟที่มีความสูง 2,038 เมตร อยู่ที่ตำบลอัยเยอร์เวง ห่างจากตัวอำเภอเบตง 40 กิโลเมตร อัยเยอร์เวงมีทะเลหมอกให้นักท่องเที่ยวได้ชมในช่วงเช้าทุกวันตั้งแต่ 06.00-06.30 น. ตลอดทั้งปี

ชมทะเลหมอก “อัยเยอร์เวง” 

แวะชิมของอร่อยในตำนาน

ถ่ายรูปชมทะเลหมอก สูดอากาศบริสุทธ์ยามเช้าเต็มปอดแล้ว ระหว่างเดินทางกลับ ต้องแวะชิมเฉาก๊วย เก่าแก่ดั้งเดิมของเบตง ชื่อร้านเฉาก๊วยบ้านตึก กม.4 (วุ้นดำ) ซึ่งยังคงรักษากรรมวิธีการทำเฉาก๊วยสูตรโบราณดั้งเดิม โดยต้มเคี่ยวหญ้าเฉาก๊วยด้วยเตาฟืนเกิน 1 วันกว่าจะได้ทาน วิธีนี้ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมและเพิ่มสรรพคุณทางยา ทานเฉาก๊วยกับน้ำแข็งใส รสชาติเหนียวหนึบเคี้ยวเพลิน รสไม่หวานมาก อร่อยกำลังดี ที่ร้านแห่งนี้ยังมีเมนูอร่อย เรียกว่า “มี้ปั้น” หรือ “บุ้ยเก๊าปัน” ขนมถ้วยโบราณ สูตรเบตง แป้งนุ่มหนึบสีขาวทานคู่กับกระเทียมเจียว และน้ำตาลเคี่ยว ได้รสหอมหวานเค็มติดปลายลิ้น เนื้อแป้งนุ่มหนึบเหนียว ยิ่งเคี้ยวยิ่งอร่อย

(ซ้าย) เฉาก๊วยเบตง กม.4 (ขวา) “มี้ปั้น” ขนมถ้วยโบราณ สูตรเบตง

เสร็จจากเมนูของหวาน ไปต่อกันที่ ร้านอาหารจีน “ต้าเหยิน (กิตติ)” ร้านอาหารชื่อดังของเมืองเบตง ที่เปิดให้บริการมานานกว่า 40 ปี เมนูเด็ดที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดชิมคือ ไก่เบตง เคาหยก ปลาจีนนึ่งบ๊วย แกงจืดลูกชิ้นแคะ ถั่วเจี๋ยน หมูทอดเต้าหู้ยี้ เต้าหู้ยัดไส้ แกงจืดบักซอย ปลานิลสามรส หมูย่างหมั่นโถว ผัดหมี่เบตงและผัดผักน้ำเบตง เป็นอีกเมนูที่ไม่ควรมองข้าม พิกัดร้านอยู่ใกล้หอนาฬิกาเบตง (เส้นทางไปโรงแรมศรีเบตง) เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-23.00 น. ของทุกวัน โทรศัพท์ 073-230-461

ไก่เบตง เมนูอร่อย ของร้านต้าเหยิน (กิตติ)

ฤดูผลไม้เมืองเบตง

เมืองเบตงมีสภาพดินอุดมสมบูรณ์ และสภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสมกับการทำเกษตรหลากหลายชนิดที่มีคุณภาพ กล่าวได้ว่า อำเภอเบตง เป็นเมืองผลไม้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ที่นี่ปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สามารถสร้างรายได้ในแต่ละปีให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี การปลูกไม้ผลของเกษตรกรส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสวนผสมคือ มีการปลูกไม้ผลทุกชนิดในสวนเดียวกัน

หากใครอยากมาลิ้มลองรสชาติความอร่อยของผลไม้เมืองเบตง ต้องมาในฤดูผลไม้เบตง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ของทุกปี ใครชอบทานเงาะโรงเรียน หวาน กรอบ เงาะจะสุกช่วงต้นเดือนกรกฎาคม-กลางสิงหาคม หากใครชื่นชอบมังคุด ราชินีผลไม้ ต้องแวะมาช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-ปลายสิงหาคม

เห็ดหลินจือดำ สินค้าขึ้นชื่อของหมู่บ้านปิยะมิตร 1

ส่วนคอทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ ต้องไม่พลาดช่วงต้นเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายนของทุกปี พื้นที่การปลูกทุเรียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากราคายางพาราตกต่ำ ประกอบกับในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาผลผลิตทุเรียนสูงขึ้นมาโดยตลอด ทำให้เกษตรกรบางส่วนโค่นยางพารา เพื่อปรับเปลี่ยนมาทำสวนทุเรียน

เกษตรกรนิยมนำทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ไปปลูกในพื้นที่ตามไหล่เขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะทุเรียนคุณภาพคุณภาพดี รสชาติอร่อย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา หรือทุเรียนสายพันธุ์มาเลย์ อย่างมูซังคิง โอวฉี หนามดำ ฯลฯ ก็มีให้เลือกซื้อตามความพอใจ ในราคาสบายกระเป๋า

อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในเมืองเบตงที่สร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำวัตถุดิบและทรัพยากรในพื้นที่ อาทิ ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ มาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าและพัฒนาสู่ตลาด สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลอดจนรายได้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เมืองเบตงมีโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรครบวงจร ที่เน้นแปรรูปทุเรียนและห้องเย็น จำนวน 6 แห่ง มีความเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมกับจังหวัดปัตตานี นราธิวาส สงขลา และประเทศมาเลเซีย (รัฐเปรัค) บริเวณด่านชายแดนเบตง เอื้อต่อการส่งออกทุเรียนไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย

ลองกอง

สำหรับโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรครบวงจร ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง มีกำลังการผลิต ทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนอบแห้ง สามารถรองรับทุเรียนตกเกรด/ทุเรียนหนอนเจาะ ประมาณ 340 ตัน ทุเรียนแช่แข็ง คิดเป็นมูลค่า 35 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานในพื้นที่ในการดำเนินการ โดยมีแนวทางการบริหารจัดการโรงงานมอบให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เป็นผู้เข้าใช้ประโยชน์ มีคู่ค้าทางธุรกิจมาเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการและรับซื้อผลิตผล ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจผู้ใช้ประโยชน์มีความตั้งใจในการพัฒนาต่อยอดโรงงานให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ให้มีงานและรายได้เพิ่มขึ้น

เงาะเบตง 

อุโมงค์ปิยะมิตร

แวะไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองเบตงกันสักหน่อยที่ อุโมงค์ปิยะมิตร เป็นอุโมงค์ใต้ดิน เคยเป็นฐานที่มั่นและหลุมหลบภัยของ โจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ตัวอุโมงค์มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในอุโมงค์มีห้องพัก ห้องพยาบาล ห้องประชุม และห้องอาหาร สามารถจุคนได้ 300-400 คน ใช้เวลาขุดอุโมงค์ประมาณ 3 เดือน ด้วยกำลังพล 30 คน ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพถ่าย และยุทธปัจจัยของโจรจีนคอมมิวนิสต์ในอดีต เดินออกมาจากอุโมงค์ก็เจอต้นไม้พันปี ที่มีขนาดใหญ่มากๆ

อุโมงค์ปิยะมิตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่บ้านปิยะมิตร 1 โดยมีการจัดตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยว มีร้านขายของที่ระลึก มีร้านอาหารไว้บริการ มีห้องพักรองรับนักท่องเที่ยว และชุมชนแห่งนี้ยังมีสมุนไพรเห็ดหลินจือพื้นถิ่นคือ เห็ดหลินจือดำ ที่รู้จักกันดีตามหลักการแพทย์แผนจีนว่ามีสรรพคุณดีที่สุดในบรรดาเห็ดหลินจือ แม้ชุมชนแห่งนี้จะมีเห็ดหลินจือเป็นจุดเด่นแต่ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจในการที่จะพัฒนาเห็ดหลินจือให้เป็นที่รู้จัก

ทุเรียนมูซังคิง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะเข้ามามีส่วนช่วยและหนุนเสริมองค์ความรู้ให้กับชุมชนในการที่จะพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลินจือในชุมชน ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ทีมนักวิจัยได้ส่งเสริมการแปรรูปเห็ดหลินจือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสริมภูมิคุ้มกัน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “PIYAMIT TUNNEL คีรี 1987” ซึ่งผลการสกัดสารสกัดเห็ดหลินจือพบว่า การสกัดสารสกัดเห็ดหลินจือด้วยวิธี Dual extraction ให้ปริมาณสารสกัดมากที่สุด และการปนเปื้อนของโลหะหนัก และเชื้อจุลินทรีย์ในสารสกัดเห็ดหลินจือ ด้วยวิธี Dual extraction พบว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จึงสามารถนำสารสกัดเห็ดหลินจือใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อีกทั้งได้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยเดิมสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ภายใต้ชื่อ หลินจือ ไวท์เทนนิ่ง เฟเชียล ครีม สบู่เห็ดหลินจือ ครีมขัดหน้า และครีมขัดตัว ป้อนเข้าสู่ตลาดในอนาคต