อาหารสำเร็จรูป อัดเม็ดคุณภาพสูง ใช้เลี้ยงแพะโตดี ทดแทนอาหารช่วงหน้าแล้ง

อาหารสัตว์ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำปศุสัตว์มีความสะดวกมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยให้สัตว์ที่เลี้ยงได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีเวลามากขึ้น โดยไม่ต้องหาแหล่งอาหารสัตว์จากแหล่งธรรมชาติ แต่สามารถใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ของตนเองได้ทันที ซึ่งการเลี้ยงแพะเกษตรกรในหลายพื้นที่ประสบปัญหาในเรื่องของอาหารจำพวกกระถินหรือพืชสดที่นำมาให้แพะกินอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่มีความกังวลในเรื่องของการเลี้ยงแพะสร้างรายได้

คุณเสฐียรพงศ์ เกษพิทักษ์นนท์ หรือ ครูบูม ครู คศ.1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ จึงได้รวมกับนักศึกษาคิดค้นและต่อยอดงานวิจัยของวิทยาลัยที่มีอยู่เดิม คือการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่เหมาะสมกับการเลี้ยงทั่วไป มาต่อยอดคิดเป็นสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงแพะโดยเฉพาะ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่บริเวณวิทยาลัยหรือในพื้นที่อื่นๆ สามารถผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์เองได้และที่สำคัญประหยัดต้นทุนการเลี้ยง เพราะเกษตรกรสามารถผลิตอาหารไว้เลี้ยงสัตว์เองได้ตลอดทั้งปี

คุณเสฐียรพงศ์ เกษพิทักษ์นนท์ หรือ ครูบูม

ครูบูม กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงสัตว์ และการผลิตอาหารสัตว์มีหลายสูตรที่ทางวิทยาลัยได้มีการศึกษาและคิดค้นไว้ เพราะเกษตรกรในพื้นที่ค่อนข้างประสบปัญหาในเรื่องของการเลี้ยงแพะ โดยหาอาหารที่เป็นกระถินให้แพะกินได้ลำบาก และไม่มีตามความต้องการต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงทำให้ในบางช่วงแพะอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตได้

การตากอาหาร

“การทำอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงแพะ เป็นแนวความคิดและการมีข้อสงสัยของนักศึกษา ที่อยากจะผลิตอาหารที่เป็นสูตรทีเอ็มอาร์ (TMR) ขึ้นมา เป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นผสมกัน จึงทำให้อาหารเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหาร โดยที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไม่ต้องหาอาหารจากหลายชนิดมาให้กิน แต่สามารถกินอาหารชนิดนี้เพียงชนิดเดียว ก็สามารถเลี้ยงแพะไปได้ตลอดทั้งปี โดยที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการหาอาหารมาเลี้ยง” ครูบูม กล่าว

ใส่วัตถุดิบที่บดลงในเครื่องอัดเม็ด

การผลิตอาหารที่ให้แพะกินจะเน้นเป็นการผลิตเป็นแบบอัดเม็ด โดยจะไม่เน้นให้กินทำเป็นผงเหมือนกับการเลี้ยงสัตว์อื่นอย่างเช่นโค เพราะการที่ให้แพะกินอาหารเป็นลักษณะแข็งอัดเม็ดนั้น จะทำให้สามารถควบคุมในเรื่องของปริมาณและเศษอาหารที่กินได้ดีกว่าแบบผง ซึ่งการผลิตเป็นอาหารแพะที่ได้คุณภาพ วัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสมต้องคำนึงถึงเรื่องของพลังงานที่ดีรวมไปถึงโปรตีนที่มีคุณภาพ

การอัดเม็ดอาหาร

โดยแหล่งอาหารที่ให้พลังงาน ครูบูม บอกว่า จะเป็นกากมันสำปะหลังและแหล่งของโปรตีนจะเป็นกากถั่วเหลือง เพราะวัตถุดิบเหล่านี้มีราคาที่ถูก ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากแหล่งทั่วไป โดยเกษตรกรที่ต้องการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปแบบเม็ดไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ สามารถหาซื้อวัตถุดิบเหล่านี้ได้ง่ายในท้องถิ่นของตนเอง จึงช่วยให้การผลิตอาหารเม็ดสำเร็จรูปไม่มีความยุ่งยาก

“อย่างที่เราทราบกันดี วัตถุดิบอาหารในช่วงหน้าแล้งค่อนข้างที่จะหายาก และทำให้มีราคาที่แพงตามไปด้วย โดยเฉพาะกระถินในช่วงหน้าแล้งต้นจะแห้งตายหมด จึงทำให้แพะจะไม่มีวัตถุดิบตัวนี้กิน แต่การทำเป็นอาหารอัดเม็ดสำหรับเลี้ยงแพะ ถ้าเราตากแดดให้แห้ง จะทำให้อาหารเหล่านี้สามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 6 เดือน แล้วพออาหารที่เก็บไว้ใกล้จะหมด ก็สามารถผลิตอาหารใหม่ไว้ใช้ครั้งต่อไปได้” ครูบูม กล่าว

นักเรียนช่วยกันทำ

ส่วนผสมของอาหารอัดเม็ดที่ทำประกอบไปด้วย กากมันสำปะหลังสด 25 กิโลกรัม เปลือกสับปะรด 25 กิโลกรัม หญ้าแพลงโกล่าแห้ง 9 กิโลกรัม กระถินและกิ่งอ่อน 20 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 10 กิโลกรัม ข้าวโพด 10 กิโลกรัม และแร่ธาตุรวมจำนวน 1 กิโลกรัม นำวัตถุดิบเหล่านี้มาผสมให้เข้ากัน เพื่อเป็นการบดให้วัตถุดิบคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกันพร้อมกับทำการอัดเม็ด จากนั้นนำส่วนผสมที่เข้ากันดีแล้วไปตากแดดประมาณ 1 วัน เพื่อลดความชื้นและให้อาหารสำเร็จรูปคงตัว เมื่อเห็นอาหารอัดเม็ดแห้งได้ที่ก็จะนำไปใส่ถุงเก็บไว้ เพื่อเก็บให้แพะกินในแต่ละมื้อ

โดยคุณค่าทางอาหารที่ได้จากการทำเป็นอาหารอัดเม็ดในสูตรนี้ จะมีแหล่งโปรตีนอยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกษตรกรหากไม่มีเครื่องอัดเม็ดก็สามารถใช้อย่างอื่นแทนได้ในการทำ แต่จะติดตรงที่รูปแบบของอาหารอาจจะมีลักษณะที่ไม่สวย แต่ไม่ได้มีผลต่อคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด

“อาหารสูตรนี้ จากที่ทดลองเลี้ยงกับแพะของเกษตรกรในพื้นที่ เกษตรกรจะให้กินอาหารอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวแพะ หรือถ้าคำนวณง่ายๆ ก็จะให้กิน 1 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน แพะที่เลี้ยงจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ก็สามารถจับขายได้ จึงถือว่าอาหารสูตรนี้มีคุณค่าทางอาหารที่ค่อนข้างครบ ทำให้แพะของเกษตรกรเจริญเติบโตได้ดี จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่มีอาหารสดในช่วงแล้ง สามารถมีอาหารอัดเม็ดสำเร็จรูปนี้กินได้ จึงทำให้การเลี้ยงไม่ยุ่งยาก เป็นอาชีพที่ทำเงินได้อย่างดี” ครูบูม กล่าว

สำหรับเกษตรกรท่านใดหรือผู้สนใจเลี้ยงแพะ และต้องการเรียนรู้ในเรื่องของสูตรอาหารอัดเม็ดสำเร็จรูป สามารถติดต่อสอบถามขั้นตอนการทำ หรือหากต้องการให้ทางวิทยาลัยผลิตอาหารสัตว์เพื่อนำไปเลี้ยงแพะ ติดต่อได้ที่ คุณเสฐียรพงศ์ เกษพิทักษ์นนท์ หรือ ครูบูม ครูประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี เลขที่ 59 หมู่ที่ 3 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 หมายเลขโทรศัพท์ 032-772-855

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 22 ธ.ค. 2023