ธุรกิจ“ ฟางข้าวอัดก้อน” ลงทุนน้อย กำไรงาม

ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาฟางข้าวซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการทำนามากถึง 50-60 ล้านตันต่อปี เกษตรกรนิยมเผาฟางข้าว หลังการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป และไถพรวนดินในช่วงเดือนเมษายนเพื่อเริ่มปลูกข้าวฤดูใหม่ โดยจะหว่านข้าวก่อนเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเข้าฤดูฝน ทําให้ต้นข้าวงอกใหม่ประมาณเดือนพฤษภาคมและจะเก็บเกี่ยวข้าวอีกทีต้นเดือนธันวาคมไปถึงต้นเดือนมกราคม

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเกษตรกรเกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผา รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว ปี 2566 ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี ซึ่งมีปริมาณฟางข้าว รวม 2.48 ล้านตัน ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ตามแนวทาง BCG Model (Bio Circular Green Economy) ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

สร้างมูลค่าเพิ่มจากฟางข้าวอัดก้อน

ทั้งนี้พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ 8 จังหวัดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากฟางข้าวในรูปแบบ “ฟางข้าวอัดก้อน” เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ้างอัดก้อนฟางข้าวเพื่อจำหน่าย ร้อยละ 83.17 และเก็บฟางข้าวที่อัดก้อนไว้ใช้ประโยชน์เอง ร้อยละ 16.83 โดยเกษตรกรที่จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 278.19 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ให้บริการอัดก้อนฟางข้าว และรับซื้อฟางข้าวอัดก้อนจากเกษตรกร เพื่อจำหน่ายต่อให้ผู้ใช้ประโยชน์ หรือผู้ประกอบการแปรรูปในพื้นที่ 8 จังหวัด ร้อยละ 61.01 จำหน่ายให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 33.83 และภาคใต้ ร้อยละ 5.16

ตลาดฟางข้าวอัดก้อน

ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว รับซื้อฟางอัดก้อนจากเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งในลักษณะเหมาไร่ ราคา 80-150 บาทต่อไร่ หรือจ่ายให้เกษตรกร ตามจำนวนก้อนที่อัดได้ ราคาก้อนละ 5-12 บาทต่อก้อน โดยจำหน่ายไปยังผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง หรือผ่านผู้รวบรวมด้วยกันต่อไป

ด้านผู้ซื้อ คือ เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมนำฟางอัดก้อนไปเลี้ยงปศุสัตว์ ใช้ร่วมกับพืชอาหารสัตว์ หรืออาหาร TMR สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารสัตว์ โคเนื้อและกระบือเฉลี่ย 9.95 บาทต่อตัวต่อวัน (ลดลงร้อยละ 36) และโคนมเฉลี่ย 31.91 บาทต่อตัวต่อวัน (ลดลงร้อยละ 78), นำไปเป็นวัสดุคลุมดินทดแทนพลาสติกสำหรับคลุมแปลงปลูกพืชผัก หรือไม้ผล สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,299.55 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 51)

นอกจากนี้ บางรายยังนำฟางข้าวไปเป็นอาหารปลาในรูปแบบคอนโดอาหารปลาหรือแซนด์วิชอาหารปลา เพื่อให้เกิดไรแดง หนอนแดง หรือแพลงก์ตอน ช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารปลาสำเร็จรูปได้เฉลี่ย 834.96 บาทต่อบ่อต่อรอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 58), นำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักในนาข้าวและแปลงผักทดแทนปุ๋ยเคมี สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 482.28 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 70) และหากนำฟางอัดก้อนไปแปรรูปเป็นถุงกระดาษใส่ของ กระถางต้นไม้ย่อยสลายได้ แผงไข่ ปอกสวมแก้ว ที่รองแก้ว สามารถสร้างรายได้เพิ่มเฉลี่ย 632.44 บาทต่อก้อน นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากยังนิยมซื้อ “ฟางอัดก้อน” นำไปตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับบรรยากาศสไตล์คันทรีอีกด้วย

“ฟางข้าว” มีประโยชน์มากกว่าที่คิด…หยุดเผาฟางข้าว หันมาผลิตฟางอัดก้อนสร้างรายได้กันดีกว่า…

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)