ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
หากใครมีพื้นที่ว่าง อยากชวนปลูก “ต้นติ้ว” หรือ “แต้ว” เพื่อเก็บยอดอ่อนกินเป็นอาหารและปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรในครัวเรือน “ผักติ้ว” จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไป ผักติ้วปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู แกงปลาย่างใส่ผักติ้ว แกงปลาใส่ไข่มดแดง แกงเห็ดนางรม แกงส้มใบแต้ว แกงเห็ดปลวกใส่ผักติ้ว แค่นึกรายชื่อเมนูอาหารจากผักติ้ว ก็น้ำลายสอแล้ว คนอีสานนิยมกินผักติ้วคู่กับลาบ ก้อย และแหนมเนืองเวียดนาม ชาวปักษ์ใต้ก็นิยมนำยอดอ่อนผักติ้วรสเปรี้ยว ปนฝาด กินกับขนมจีนน้ำยา และแกงพื้นบ้านปักษ์ใต้ ได้รสชาติอร่อยเด็ด
กินผักติ้ว อิ่มท้องและได้สุขภาพดี
ในด้านโภชนาการ พบว่า ผักติ้ว น้ำหนัก 100 กรัม มีเส้นใยอาหารอยู่ 1.4 กรัม ช่วยป้องกันอาการท้องผูก มีแคลเซียม 67 มิลลิกรัม ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน มีไนอะซิน 3.1 มิลลิกรัม มีบทบาทต่อกระบวนการเผาผลาญสารอาหารและการทำงานของระบบประสาท วิตามินซี 56 มิลลิกรัม ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและช่วยให้แผลหายเร็ว ผักติ้วยังมีเบตาแคโรทีนและวิตามินเออยู่สูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและบำรุงสายตา
ขณะเดียวกัน มีผลงานวิจัยของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า “ผักติ้ว” มีฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับได้ นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยอีกชิ้น ยืนยันว่า ผักติ้ว มีสารต้านอนุมูลอิสระเรียกว่า “กรดคลอโรจีนิก” ในปริมาณสูง ทำหน้าที่ป้องกันการทำลายดีเอ็นเออีกด้วย และผลงานวิจัยชิ้นต่อมาเป็นของนิสิตโครงการปริญญาเอก กาญจนาภิเษก (คปก.) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำยอดอ่อนของ “ผักติ้ว” ไปเข้ากระบวนการสกัดผสมกับ “เอทานอล” จนได้สารสกัดธรรมชาติจากผักติ้ว เรียกว่า “คลอโรจินิกแอซิก” ที่มีคุณสมบัติ ยับยั้งกลิ่นได้ แสดงให้เห็นว่า ผักติ้วมีคุณประโยชน์ที่น่าทึ่งอย่างมาก
ผักติ้ว…ซากุระแห่งที่ราบสูง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ติ้ว หรือ แต้ว เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก พบมากในป่าเบญจพรรณแถบภาคอีสาน ชื่อสามัญ : ติ้วแต้ว ติ้วขน ติ้วเกลี้ยง ร้าเง็ง (สุรินทร์; บุรีรัมย์) ; กุยฉ่องเฉ้า (กะเหรี่ยง) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum วงศ์ : CLUSIACEAE
ติ้ว หรือ แต้ว เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก พบมากในป่าเบญจพรรณแถบภาคอีสาน มี 2 พันธุ์ คือ ดอกสีขาว กับดอกสีชมพู ซึ่งพันธุ์ดอกสีชมพูนั้นมักจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใบจะมีขนนุ่มๆ ขมกว่าชนิดดอกสีขาวเล็กน้อย เรือนยอดมักเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นสีน้ำตาล อมเทา เมื่อแก่จะแตกเป็นสะเก็ดร่องๆ ถ้ามีแผลจะมียางสีเหลืองปนแดงซึมออกมา ใบรูปไข่กลับรีๆ ยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร
ลักษณะการแตกของใบจะออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน หรือที่ภาษาพฤกษศาสตร์เรียกว่า Simple Opposite ผลทรงรีขนาดเล็กๆ มีนวลบางๆ เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก ข้างในมีเมล็ดสีน้ำตาลปนดำอยู่มากออกดอกได้เป็นระยะตลอดปี แต่จะดกเป็นพิเศษในหน้าแล้งราวๆ เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ยอดและใบอ่อนสีชมพูอมแดงสวยสดงดงาม เห็นแต่ไกล มีรสเปรี้ยว อมฝาด คุณสมบัติช่วยระบายท้อง ช่วยส่งเสริมเน้นรสชาติอาหาร ทางภาคอีสานชาวบ้านทั่วไปนิยมนำมาใส่ต้มยำแทนมะนาว หรือกินกับลาบ ส้มตำ น้ำตก ปลาร้าแจ่วบอง ก็แซ่บอีหลี
น้ำยางจากลำต้นผสมน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ส้นเท้าแตก เปลือกใช้ย้อมผ้าให้สีน้ำตาลอ่อนๆกำลังมีการศึกษา ทดลองค้นคว้าเรื่องการสกัดสารกันหืน (Rancidity) จากใบแต้วกันอยู่ในขณะนี้ (ที่จริงน่าจะศึกษาเรื่องการสกัด “สารกันหืน” ควบคู่ไปด้วยเสียเลยนะเนี่ย) ที่แนะนำให้หามาปลูกก็เนื่องจากต้นไม่โตมาก ทรงสวย ทนทาน ให้ร่มเงาดีใบไม่ร่วงพร่ำเพรื่อ เวลาจะออกดอกจึงจะทิ้งใบเกือบหมดต้น เหลือแต่ดอกสีชมพูอ่อนๆ ติดอยู่ตามปลายกิ่งเป็นกระจุกๆ มองไกลๆ ดูคล้ายๆ ต้นซากุระของญี่ปุ่นเลย สวยงามน่ารัก เซ็กซี่ไปอีกแบบหนึ่ง ผู้เขียนเคยนำไปใช้ในงานจัดสวนมาหลายต้นแล้ว ปรากฏว่า เจ้าของบ้านชอบใจไปตามๆ กันหลายคน ก็สวย เท่ กินได้นี่นาเวลามีดอกก็มีแต่คนมาถามว่า นี่ต้นอะไร ทำไมสวยน่ารักจังเลย
การขยายพันธุ์
วิธีการขยายพันธุ์ ก็ใช้ตอนกิ่ง สกัดรากไปชำหรือจะให้โตไวทันใจสวยเพียงชั่วข้ามคืนก็ไปหาซื้อต้นที่เขาขุดล้อมมาขาย ไซซ์มาตรฐานจัดสวน 1.50–2.50 เมตร ลงไว้ริมรั้วบ้านได้เลย โรค แมลง ก็ไม่อยากมากวนใจ เพราะเป็นไม้ป่า ทนทาน แข็งแรงบึกบึนอยู่แล้ว ฝนจะตก จะแล้งยังไงก็ไม่กลัว ใส่ปุ๋ยคอกเดือนละครั้งก็เหลือจะพอ ปลูกได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม หามุมให้เหมาะๆ แล้วกัน ยิ่งเด็ดยอดบ่อยๆ ยิ่งแตกไวไม่ต้องกลัวครับ