ปลากะพงมีหลายชนิด แต่ทำไมถึงนิยมกินกะพงขาวมากที่สุด

สงสัยกันไหมว่าปลากะพง มีตั้งหลายชนิด ทั้งปลากะพงขาว ปลากะพงดำ ปลากะพงแดง และปลากะพงลาย แต่ทำไมปลากะพงขาวจึงนิยมกินกันมากที่สุด

ก็เพราะว่า ปลากะพงขาว (Lates calcarifer) เป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของประเทศไทย เนื่องจากสามารถเพาะพันธุ์ได้คราวละมากๆ และมีผู้เพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายลูกพันธุ์ที่หลากหลาย โดยปลากะพงขาวเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย โตเร็ว มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง กินอาหารได้หลากหลาย

ประกอบกับการที่ปลากะพงเป็นปลาที่มีรสชาติดี มีเนื้อสัมผัสที่ละเอียดนุ่มละมุน จึงเหมาะแก่การนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลาย อาทิ ต้มยำ ข้าวต้มปลา ปลาเผา ทอดน้ำปลา ฯลฯ อีกหลายเมนูตามแต่วัตถุดิบในแต่ละพื้นที่จะเอื้ออำนวย ทำให้ปลากะพงขาวมีความต้องการทางตลาดสูง

โดยปลากะพงขาวที่มีจําหน่ายในท้องตลาดเป็นปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเป็นหลัก โดยนิยมเลี้ยงในกระชังตามแหล่งน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำและชายทะเล ซึ่งมีแหล่งเพาะเลี้ยงหลักอยู่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ปากแม่น้ำ และชายทะเลทางภาคใต้

แต่ทั้งนี้บางพื้นที่มีการเลี้ยงในบ่อดินบริเวณพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับทะเล เนื่องจากการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังบริเวณปากแม่น้ำมักประสบปัญหาขาดทุน จากสภาพน้ำในแม่น้ำเน่าเสียหรือมีคุณภาพน้ำไม่เหมาะสม ทําให้มีการเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อเพิ่มมากขึ้น

และนอกจากเกร็ดความรู้เรื่องปลากะพงขาวแล้ว วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านยังมีวิธีสังเกตลักษณะของปลากะพงแต่ละชนิดว่าจะมีความเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร มาฝากกันด้วย

ปลากะพงขาว

มีลักษณะรูปร่างแบนและยาว หัวมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับลำตัว และค่อยโค้งมนขึ้นตามบริเวณไหล่ และส่วนหลัง ส่วนปากกว้าง มีปากล่างยื่นยาวมากกว่าปากบน

ด้านข้างลําตัวและส่วนท้องมีสีขาวเงิน ส่วนครีบหูมีสีเหลือง มีครีบหางครึ่งบนเป็นสีเหลือง ส่วนครึ่งล่างเป็นสีดํา

เกล็ดของปลากะพงมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ เกล็ดบริเวณสันหลังออกสีน้ำเงินหรือเขียวปนเทา

โดยชนิดที่อาศัยในทะเลหรือตามแหล่งน้ำกร่อยจะมีเกล็ดส่วนบนเป็นสีฟ้าอมเขียว

ส่วนครีบหางมีสีดําล้วน โดยปลากะพงที่พบในแหล่งน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยมักจะมีขนาดใหญ่กว่าที่พบในแหล่งน้ำจืด

ปลากะพงแดง

มีลักษณะคล้ายกันมากในรูปร่างปลากะพงอื่นๆ เช่น ปลากะพงป่าชายเลน, ปลากะพงเนื้อแกะ, เลนปลากะพงและปลากะพงสุนัข ทั้งหมดมีลักษณะลาดเอียง เกล็ดขนาดกลางถึงใหญ่ ครีบหลังที่มีหนามแหลมและลำตัวที่บีบอัดด้านข้าง

สีของปลากะพงแดงทางเหนือเป็นสีแดงอ่อน โดยมีเม็ดสีที่ด้านหลังเข้มข้นกว่า มีครีบหลัง 10 อัน, ครีบหลังอ่อน 14 อัน, หนามทวาร 3 อัน และครีบอ่อนทวาร 8-9 อัน ปลาอายุน้อย (สั้นกว่า 30-35 เซนติเมตร) อาจมีจุดดำที่ด้านข้างของพวกมัน ใต้รังสีหลังอ่อนด้านหน้าซึ่งจะจางลงตามอายุ

ปลากะพงดำ

เป็นปลาที่มีลำตัวแบนค่อนข้างลึก ความยาวหัวจะสั้นกว่าความลึกลำตัว ปากกว้างเฉียงขึ้น มุมปากจะอยู่แนวเดียวกับปุ่มกลางนัยน์ตา ครีบหลังจะเป็นก้านครีบเดี่ยวเป็นซี่ปลายแหลมประมาณ 11-13 ก้าน และก้านครีบแขนง 13-16 ก้าน

ส่วนครีบหลัง ครีบก้น ครีบหางขนาดใกล้เคียงกันดูเหมือนจะมีครีบหาง 3 ครีบ ขนาดค่อนข้างใหญ่สีน้ำตาลเข้มทั้งตัวหรือสีเหลืองอมเขียวมะกอก

เนื้อขาวคล้ายปลากะพงขาว เหมาะสำหรับเมนูทอดน้ำปลา หรือทอดราดพริก

แหล่งอาศัย ตามชายฝั่งบริเวณน้ำตื้นๆ และปากแม่น้ำ นิสัย ชอบล่าเหยื่อและพรางตัวเวลามีอันตราย

ปลากะพงลาย

เป็นปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายกับปลาในวงศ์นี้ทั่วไป แต่จะมีช่วงปากและรูปทรงลำตัวที่เรียวยาวและแหลมกว่าปลาเสือตอลายใหญ่ หรือปลาเสือตอลายเล็ก และมีสีของลำตัวออกขาวเหลือบเงินและเขียวแวววาว ลายแถบสีดำบนลำตัวมีขนาดเรียวเล็ก ลายแถบตรงข้อหางแถบสุดท้ายเป็นขีดขาดกัน แลดูคล้ายจุดสองขีด

ขนาดความยาวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร นับว่าใกล้เคียงกับปลาเสือตอลายเล็ก

พบกระจายพันธุ์บริเวณปากแม่น้ำหรือป่าโกงกางชายฝั่งทะเลที่เป็นน้ำกร่อย ตั้งแต่อินเดียจนถึงปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย

ปลากะพงลายเป็นปลาที่นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา และนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามเช่นเดียวกับปลาในวงศ์เดียวกันชนิดอื่นๆ ซึ่งในบางครั้งจะมีชื่อเรียกในการค้าขายว่า “ปลาเสือตอแปดริ้ว”, “ปลาเสือตอบางปะกง” หรือ “ปลาเสือตอน้ำกร่อย”