ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค22 |
เผยแพร่ |
ประเทศไทยมีผักพื้นบ้านมากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ริมห้วย หนอง คลอง บึง และป่าเขา กรมอนามัยได้ศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 โดยเก็บตัวอย่างผักพื้นบ้านรวม 45 ชนิด จาก 4 ภาค ผลการศึกษาพบว่า ผักพื้นบ้านของไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงกล่าวได้ว่า ผักพื้นบ้านกินแล้วไม่ทำให้อ้วน
“ผักพื้นบ้าน” เป็นส่วนผสมในตำรับอาหาร ที่นิยมบริโภคในภูมิภาคต่างๆ เช่น ผักคราดหัวแหวน ใช้ทำแกง แก้อาการปวดฟัน ผักเสี้ยว นิยมแกงใส่ปลาย่าง มีรสเปรี้ยว งานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุว่า มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน ผักชีใบยาว ชื่อเรียกทางเหนือว่า “หอมป้อมเป้อ” ทุกส่วนของต้นผักชีใบยาวกินได้อร่อย มีประโยชน์ สรรพคุณทางยาหมดทุกส่วน รากก็ใช่เหมือนรากผักชีทั่วไป ใบก็ใช่เหมือนกัน ดอก ผล หรือเมล็ด ก็ล้วนมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นยาสมุนไพร นิยมปลูกใส่กะละมังรั่วไว้ข้างครัว สะดวกแก่การเก็บกิน
ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยในภาคเหนือตอนบน แถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน นิยมกิน เพราะมีสรรพคุณทางยา เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ช่วยละลายลิ่มเลือด ลดความอ้วน บรรเทาอาการหวัด ฯลฯ ทำให้ผักเชียงดาเป็นที่สนใจของผู้คนมากขึ้น
จิงจูฉ่าย หรือ ดอกแก้วเมืองจิ่น ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่กินกันมาอย่างยาวนาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งแคลเซียม วิตามินบี วิตามินซีสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ออกฤทธิ์ได้ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ “จิงจูฉ่าย” พืชเกษตรที่กำลังได้รับความนิยมจากทั้งเกษตรกรผู้ปลูก และยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
ต้นแคบ้าน ขึ้นตามป่าละเมาะ หัวไร่ปลายนา ริมถนนหนทาง มีหลายหมู่บ้านชุมชนที่นำต้นแคบ้านมาเป็นไม้ประดับ ตกแต่งภูมิทัศน์ชุมชน ได้ทั้งสีเขียวพริ้วลมของใบที่ริมทาง ดอกสีขาวบ้าง ชมพูอมม่วงบ้างยอดอ่อนอวบอิ่มนุ่มนวลอ่อนช้อย สีเลื่อมเงาเทาเงิน ได้ทั้งพืชอาหารมากประโยชน์ให้กับคนในชุมชนด้วย ยอดแคบ้านมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าดอก แต่คนนิยมนำดอกมาเป็นอาหารมากกว่ายอด ทั้งยอดอ่อน และดอกแคบ้าน มีเสน่ห์น่าลองลิ้มมาก ด้วยเพราะมีความสวยงาม มีสีสันที่อ่อนหวาน ยอดอ่อนอวบอ้วนน่ากิน
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผักยอดนิยมได้แก่ ผักแพว หรือ ผักไผ่ มีกลิ่นหอมระรวย นิยมใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อวัว เป็นผักแกล้มกินกับลาบ ก้อยใส่แจ่วฮ้อน ผักแขยง หรือ ผักกะออม หรือ ผักลืมผัว มีกลิ่นหอมฉุนและให้รสเผ็ด เป็นเอกลักษณ์ นิยมใส่แกงหน่อไม้หรือแกงปลา เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวปลา ชาวอีสานใช้น้ำคั้นจากใบย่านางที่มีรสขม ปรุงใส่แกงหน่อไม้แกงอ่อมหรือแกงอีสานต่างๆ เป็นเครื่องชูรสได้ดีชนิดหนึ่ง
ผักโขม หรือ ผักหม เป็นพืชที่ให้สารวิตามินเอสูง มีรสขมเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้เลือดเป็นพิษ ดีพิการ เพ้อคลั่ง เหมาะสำหรับคนที่มีธาตุน้ำเป็นเจ้าเรือน ผักคาวตอง หรือ ผักพลูคาว นิยมใช้เป็นผักสดแกล้มลาบหมู ลาบเนื้อ ลาบเป็ด ลาบปลา ก้อย ยำ น้ำพริก ผักคาวตองจัดอยู่ในประเภทผักที่มีรสเผ็ดร้อน เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน
ส่วนผักพื้นบ้านในภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ ตับเต่า บอนจีน หรือตาลปัตรฤๅษี ผักน้ำ และ ผักชะมวง ที่มีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต บรรเทาธาตุพิการ แก้ไขตัวร้อน มะกอกอินเดีย สรรพคุณ แก้อาเจียน บำรุงสายตา ช่วยเจริญอาหาร หูเสือ (กำปองหนา) สรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร บำรุงเลือดลม ชะเอม (โปร่งฟ้า) สรรพคุณช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยบำรุงกำลัง สะระแหน่ (หอมด่วน) สรรพคุณบรรเทาอาการเครียด ปวดหัว บำรุงรักษาสายตา สเปียร์มินต์ สรรพคุณแก้อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปวดเกร็งในช่องท้องส่วนบน แก้ตะคริว ผักฮาก (ผักรด) ช่วยในการขับปัสสาวะ ช่วยลดความดัน เล็บครุฑ สรรพคุณ แก้ปวดหัว ไมเกรน ปวดหัวข้างเดียว
สำหรับภาคใต้ แกงส่วนใหญ่มักมีสีเหลืองจากขมิ้น ซึ่งช่วยเรื่องการอักเสบในทางเดินอาหาร นิยมกินขนมจีนกับยอดมันปู ซึ่งมีรสฝาด มัน เป็นยาสมานแก้อาการอักเสบ นอกจากนี้ ยังนิยมกินผักเหลียง สะตอและผักลิ้นห่าน หรือ ผักหลักไก่ จัดเป็นผักพื้นเมืองที่หายากอีกชนิดหนึ่ง มักพบเจริญเติบโตและฝังตัวบนผืนทรายตามชายฝั่งทะเล ขึ้นอยู่ใต้ร่มต้นสน และผักบุ้งทะเล จุดเด่นของผักลิ้นห่านคือ ความกรอบอร่อย ยอดอ่อนกินสดๆ รสชาติออกมันฝาดนิดหน่อย กินกับแกงไตปลา หรือขนมจีนน้ำยา อร่อยอย่าบอกใครเชียว