ป่าช้าเหงา สมุนไพรมากประโยชน์ ช่วยอยู่ไฟ ลดน้ำตาล ห้ามทานเกิน 3 ใบ อาจถึงช็อก!

แค่ชื่อก็แปลกแล้ว “ป่าช้าเหงา” ไม่ใช่ป่าแต่เป็นสมุนไพร ที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อ “หนานเฉาเหว่ย” เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดจากจีน พืชตระกูลเดียวกับฟ้าทลายโจร แต่ในไทยจะพบมากในโซนภาคเหนือ สรรพคุณกำลังเป็นที่เลื่องลือจะเริ่มออกดอกช่วงมิถุนายน และติดผลในเดือนเมษายน สามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตร

ในตำรับยาพื้นบ้าน มีการนำลำต้นของต้นป่าช้าเหงามาใช้ต้มอาบสำหรับผู้หญิงที่กำลังอยู่ไฟ เชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่เป็นยาอายุวัฒนะ สมุนไพรชนิดนี้อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย

หมอพื้นบ้านแนะนำ ไม่ควรกินใบสดหนานเฉาเหว่ย หรือป่าช้าเหงา เกินวันละ 3 ใบ ขึ้นอยู่กับขนาดของใบด้วย หากใบใหญ่เท่าฝ่ามือ ก็ควรบริโภคเพียงใบเดียว เนื่องจากมีฤทธิ์แรง และผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากต้องระวัง หากกินแล้วมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ จนเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น ถ้าเป็นมากอาจช็อกได้

สรรพคุณของต้นป่าช้าเหงา ส่วนใหญ่มาจาก 3 ส่วนสำคัญจาก ราก เปลือกไม้ และเนื้อไม้ ในแต่ละส่วนมีสรรพคุณเด่นดังนี้

👉🏻ราก ใช้แก้ลม แก้อาการคันตามผิวหนัง แก้พิษในกระดูก แก้โรคผิวหนัง รักษาน้ำเหลืองเสีย

👉🏻ใบ มีรสขม ช่วยบำรุงร่างกาย

👉🏻เปลือกไม้ แก้โรคตับพิการ รักษาอาการลมพิษ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย

วิธีการกินอย่างปลอดภัย

  1. นำใบสดมาเคี้ยวกินได้ ควรเลือกใบเล็กๆ ควรกินวันละไม่เกิน 3 ใบ ไม่ควรกินทุกวัน ควรเว้นระยะ 2-3 วัน
  2. ถ้าใบมีลักษณะเท่าฝ่ามือ 3 ใบ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือด 3-5 นาที ดื่ม 250 มิลลิลิตร ก่อนอาหารเช้าวันละ 1 ครั้ง ไม่ควรชงดื่มแทนน้ำเนื่องจากมีฤทธิ์แรง
  3. นำใบสดไปปรุงอาหารได้ แต่ต้องลวกให้เดือด เทน้ำทิ้งเพื่อลดฤทธิ์ของยา ถึงค่อยนำไปกินได้
  4. ไม่ควรกินติดต่อกันทุกวัน เพราะเป็นยาเย็น อาจจะกินติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน เว้นไป 1 เดือน ค่อยเริ่มกินใหม่ 

ใช้ผิดอาจมีโทษ

  1. ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไตไม่ควรกิน
  2. สำหรับผู้ป่วย ไม่ควรหยุดกินยาแผนปัจจุบันหรือขาดการรักษา ถ้ามีอาการผิดปกติควรหยุดกินทันที
  3. ผู้ป่วยเลือดจาง ควรระวังในการกิน เนื่องจากบางรายพบฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
  4. จากการวิจัยในหนูเพศผู้ พบว่าหากใช้ติดต่อเป็นเวลานานอย่างเข้มข้นอาจเป็นพิษต่ออัณฑะ จึงควรระมัดระวังหากกินติดต่อกันเป็นเวลานาน

ในเนื้อไม้ก็มีพิษที่ทำให้เกิดอาการเมา และมีฤทธิ์เป็นยาเบื่อ และมีส่วนทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ดังนั้น ก่อนนำมากินควรศึกษาข้อมูลให้ดี ถ้าคนไหนมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนใช้สมุนไพรทุกครั้ง 

ขอบคุณข้อมูลจาก : health.kapook.com

ขอบคุณภาพจาก : wikipidia

#เทคโนโลยีชาวบ้าน #technologychaoban #ป่าช้าเหงา #หนานเฉาเหว่ย #สมุนไพรไทย