ที่มา | เทคโนโลยีปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
“แพะ” นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง กินใบไม้ใบหญ้าเป็นอาหาร ให้ผลผลิตเนื้อและนม จึงนิยมเลี้ยงแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยอิสลามนิยมใช้แพะประกอบพิธีทางศาสนาและใช้บริโภคในครัวเรือน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงสนับสนุนทุนให้ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมและชุมชน สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ดำเนินแผนวิจัยการส่งเสริมเลี้ยงแพะอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ พ.ศ. 2563-2565
ทีมวิจัยได้วางแผนการผลิตส่งเสริมการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ และการจัดการสุขภาพแพะ พัฒนาสูตรอาหารสำหรับแพะเนื้อและแพะนม โดยใช้อาหารสัตว์ในท้องถิ่น การชำแหละแพะและการแปรสภาพได้มาตรฐานฮาลาลสากล เพื่อให้มีเนื้อแพะและน้ำนมแพะดิบที่มีมาตรฐานสู่ผู้บริโภค รองรับการเติบโตตลาดทั้งในประเทศและส่งออกที่ต้องการบริโภคแพะเนื้อและนมแพะในอนาคต
“ใบปาล์ม” อาหารสัตว์ชั้นดี ต้นทุนต่ำ
ผศ.ดร.ไชยวรรณ ยืนยันว่า…ทางใบปาล์ม คือ biomass ที่ดีมาก สามารถนำมาใช้เป็นอาหารแพะได้ ทางใบปาล์มน้ำมันคือ ของขวัญของคนใต้ เพราะภาคใต้ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด ทางใบปาล์มน้ำมันจะถูกตัดทุกๆ ช่วงของการตัดผลปาล์มเพื่อส่งไปยังโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม การนำทางใบปาล์มน้ำมันมาเป็นอาหารหยาบเลี้ยงแพะและโคจึงเป็นโอกาสของการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์ เป็นการใช้ประโยชน์ของเหลือทางการเกษตร ตามหลัก zero waste ด้วย
หากนำทางใบปาล์มน้ำมันมาสับสามารถเลี้ยงแพะและโคได้ และหากนำทางใบปาล์มน้ำมันมาผ่านกระบวนการหมักหรือหมักร่วมกับการใส่เชื้อจุลินทรีย์ เช่น ยีสต์ ด้วย ทางใบปาล์มน้ำมันจะกลายเป็นอาหารหยาบชั้นดีได้ เกษตรกรมาเลเซียบดทางใบปาล์มน้ำมัน จากนั้นนำไปอัดเป็นเม็ด เรียกว่า Oil palm frond pellet ใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบ หรือนำไปผสมกับอาหารข้น แล้วอัดเป็นเม็ด เรียกว่า complete feed pellet สำหรับเลี้ยงกระต่าย โค และแพะ
รั้วลวดตาข่ายกั้นเเพะ
มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะสอบถามเรื่องการซื้อรั้วลวดตาข่ายกั้นเเพะ ควรใช้ขนาดอะไร ผศ.ดร.ไชยวรรณ ให้คำตอบว่า รั้วตาข่ายมีหลายเกรด คุณภาพจีน-ไทย-ยุโรป เช่น ออสเตรเลีย แต่ละเกรดมีอายุใช้งานแตกต่างกันมาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ม.อ. ใช้รั้วลวดตาข่ายของออสเตรเลีย ความสูง 107 เซนติเมตร ยาว 100 เมตรต่อม้วน ราคาแพงประมาณ 7,000 กว่าบาท แต่คุ้มค่าเพราะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 20-25 ปี
หากสนใจเลี้ยงแพะไซซ์เล็กถึงกลาง เช่น แพะพื้นเมือง แบล็คเบงกอล หรือแพะลูกผสมใช้ความสูง 100-120 เซนติเมตรก็เพียงพอ แพะไม่กระโดดออกนอกรั้ว ราคาไม่สูง ส่วนแพะไซซ์ใหญ่ แองโกลนูเบียนพันธุ์แท้ ชามีพันธุ์แท้ (รวมแพะพันธุ์บอร์ เพราะคิดว่าไม่กระโดด) 107 เซนติเมตรอาจจะเตี้ยไปนิด เผื่อเวลาพ่อพันธุ์เกิดอารมณ์อยากจะผสมพันธุ์จะกั้นไม่อยู่ ต้องใช้รั้วลวดตาข่ายสูง 120-140 เซนติเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีหมาอาจกระโดดข้ามรั้วเข้าไปกัดแพะได้ กรณีนี้ รั้วลวดตาข่ายต้องสูงสักหน่อย
ส่วนรั้วตาข่ายถักของจีนราคาถูกกว่าออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ครึ่งต่อครึ่ง (ขึ้นอยู่กับโลหะของลวด กระบวนการชุบกันสนิม แต่ปกติ ลวดจะมีความหนาประมาณ 2.50 มิลลิเมตร) ถ้าเงินทุนน้อยของจีนก็พอใช้ได้ นอกจากนี้ ร้านค้าบางแห่งอาจมีตาข่ายถักรุ่น 10-107-15 ขาย แปลว่า ตาข่ายถักรุ่นนั้นมีเส้นลวดที่วางในแนวนอน 10 เส้น ส่วนในแนวตั้งคือ ความสูง 107 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างปมลวดที่ถักไว้เป็นปมคือ 15 เซนติเมตร ส่วนปมถักก็มีหลายแบบ ใช้แบบธรรมดาก็พอ ไม่ต้องลงทุนซื้อปมถักแบบดีที่เขาเอาไว้ใช้กับฟาร์มเลี้ยงกวาง ไม่จำเป็นเลยเพราะมีราคาแพง ส่วนการติดตั้งเกษตรกรสามารถติดตั้งได้เอง แต่ต้องมีอุปกรณ์ในการขึงตึง
ด้านตลาด
“ตลาดใต้ล่างไม่ชอบแพะเนื้อตัวใหญ่ จึงซื้อขายกันที่น้ำหนัก 25-30 กิโลกรัม น้ำหนักมากที่สุดก็อยู่ประมาณ 35 กิโลกรัมครับ แพะไซซ์ใหญ่เกินกว่านี้ไม่ได้รับความนิยม คิดก่อนเลี้ยง วิเคราะห์ตลาดให้ดี อย่าเลี้ยงแพะตามกระแส…เจ็บมาเยอะแล้วครับ” ผศ.ดร.ไชยวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ เกษตรกรมือใหม่ที่สนใจเลี้ยงแพะ สามารถติดตามข่าวสารและความรู้เรื่องการเลี้ยงแพะที่น่าสนใจ ได้ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ผศ.ดร.ไชยวรรณ คือ FB : Chaiyawan Wattanachant
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จากเฟซบุ๊ก : Chaiyawan Wattanachant