ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อาหารสัตว์ นับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเลี้ยงสัตว์และเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญ ซึ่งในวันนี้เกษตรกรเป็นจำนวนมากต้องประสบกับภาวะราคาต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น จากภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย ที่มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นได้ จนทำให้ต้องเลิกอาชีพการเลี้ยงสัตว์ไป
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้ต่อไปได้ จึงได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นมาผสมขึ้นเป็นอาหารใช้เอง ทดแทนการซื้ออาหารสำเร็จรูป
สำหรับวันนี้จะนำสูตรอาหารสัตว์ 4 กระเพาะ ของปราชญ์ชาวบ้าน จ.กระบี่ มาฝากทุกคน
การผลิตอาหารสัตว์ 4 กระเพาะ เป็นสูตรอาหารที่เน้นถึงการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างในภาคใต้จะมีทางปาล์มน้ำมันอยู่มาก ทางปาล์มน้ำมัน เป็นวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรปีหนึ่งๆ มีหลายร้อยพันตัน นำมาบดและหมักสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงแพะและวัวแทนหญ้าได้เป็นอย่างดี ใช้เลี้ยงแพะและวัวในฟาร์ม บางส่วนยังเหลือสามารถจำหน่ายได้อีกด้วย
สูตรอาหารสัตว์ 4 กระเพาะ ประกอบด้วยวัตถุดิบหลักๆ คือ ใบทางปาล์มสด ผลปาล์มดิบ กากน้ำตาล ต้นอ้อย และเกลือ
ทั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 สูตร โดยจะมีแบบใช้กากน้ำตาล และใช้ต้นอ้อย
สูตรที่ 1 ส่วนผสม ใบทางปาล์ม (ใบสด) 75 กิโลกรัม ผลปาล์มดิบ 20 กิโลกรัม กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม และเกลือ 5 กิโลกรัม
สูตรที่ 2 ส่วนผสม ใบทางปาล์ม (ใบสด) 65 กิโลกรัม ผลปาล์มดิบ 20 กิโลกรัม ต้นอ้อย 15 กิโลกรัม และเกลือ 5 กิโลกรัม
วิธีการผสม
1.บดวัตถุดิบแต่ละชนิดตามสูตรให้ละเอียด โดยใช้เครื่องบดย่อย (ยกเว้นกากน้ำตาล ในสูตรที่ 1 และเกลือ)
2.นำวัตถุดิบตามสูตร (ยกเว้นเกลือ) มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
3.นำส่วนผสมที่ได้จาก ขั้นตอนที่ 2 มาใส่ถังขนาด 200 ลิตร โดยอัดให้แน่น ไล่อากาศออกให้มากที่สุด
4.โรยเกลือด้านบนเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา และปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันอากาศเข้า
5.หมักไว้อย่างน้อย 21 วัน แล้วจะมีกลิ่นหอม นำไปให้สัตว์กินได้ (จะหมักให้นานกว่านี้ก็ได้) แต่เมื่อเปิดฝาถังหมักและนำอาหารออกมาใช้แล้ว ควรนำออกมาใช้ให้หมดภายใน 3 วัน
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นองค์ความรู้ที่จะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป เพื่อนำมาซึ่งรายได้และการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน