เผยแพร่ |
---|
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนเป็นปัญหาที่สำคัญของเกษตรกร เนื่องจากเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดในต้นทุเรียน สามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้นทุเรียน ทำให้ต้นทุเรียนที่เป็นโรคนี้เสียหายอย่างรวดเร็วและไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ส่งผลให้ทุเรียนยืนต้นตาย ปริมาณและคุณภาพผลผลิตลดลง โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งการควบคุมโรคนี้ต้องทำความเข้าใจในหลักการควบคุมโรคอย่างถูกวิธี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในแนวทางการควบคุมโรคแบบผสมผสาน ปัจจุบันจึงยังพบการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร จึงดำเนินการวิจัยและจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อถ่ายทอดขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนที่ถูกต้อง และปรับใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก
นางสาวเครือวัลย์ ดาวงษ์ นักวิชาการเกษตรระดับชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กล่าวว่า การป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนด้วยวิธีผสมผสานที่นำมาปรับใช้ในพื้นที่ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออก ประกอบด้วย การวิเคราะห์พื้นที่ ดูการเขตกรรม ตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้แน่นทึบ แดดส่องลงถึงพื้นดินเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขุดร่องระบายน้ำไม่ให้ท่วมขังโคนต้น เก็บดินวิเคราะห์ธาตุอาหารเพื่อส่งเสริมให้พืชแข็งแรง กรณีดินเป็นกรดแนะนำปรับด้วยปูนขาว ฟื้นฟูระบบรากกรณีรากเน่าและเน่าคอดินโดยการราดด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ภายหลังการราดสารไม่น้อยกว่า 7 วัน นำเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสด อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กรดฮิวมิก 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15 หรือ 20-20-20 อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดให้ทั่วบริเวณรอบทรงพุ่มทุก 2 เดือน รักษาแผลที่โคนต้นต่อเนื่อง
สำหรับต้นที่โทรมกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยสารฟอสฟอรัส แอซิด และสำรวจโรคต่อเนื่อง เพื่อรักษาได้ทันโรคไม่แพร่กระจายลุกลาม เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน เพื่อลดปริมาณเชื้อราไฟทอปธอร่า ปรับสภาพแวดล้อมให้ต้นทุเรียนแข็งแรง ซึ่งการวิเคราะห์พื้นที่และปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะต่อการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าเป็นปัจจัยความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ควบคุมโรค ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดโรคเป็นแนวทางการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าที่ดีที่สุด
“สวพ.6 ได้ขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนด้วยวิธีผสมผสานไปสู่กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย อำเภอเมือง จังหวัดตราด และแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มีเกษตรกรที่ได้รับการขยายผลเทคโนโลยีจัดทำแปลงต้นแบบจำนวน 57 ราย พื้นที่ 147 ไร่ รวมทั้งได้ขยายผลถ่ายทอดความรู้และจัดทำแปลงต้นแบบ ภายใต้โครงการศูนย์เรียนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนแบบผสมผสานในพื้นที่ภาคตะวันออกร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน จำนวน 10 ศพก. 2 แปลงใหญ่ รวมพื้นที่แปลงต้นแบบ 24 ราย จำนวน 16 ไร่ และยังขยายผลเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังพื้นที่ปลูกทุเรียนอื่นๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อการลดการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างยั่งยืน จากความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีผสมผสานเพื่อป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าและฟื้นฟูสภาพต้นทุเรียนที่เป็นโรคในพื้นที่ภาคตะวันออกนี้ทำให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประเภทพัฒนางานวิจัยในปี 2566” นางสาวเครือวัลย์ กล่าว