ยางทำนิวไฮทะลุ 63 บาท/กก. ชาวสวนจับตาราคาติดจรวด

ราคายางพาราในประเทศพุ่งรับปีมังกร แค่ 5 วัน ยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ประมูลในตลาดกลางสงขลาขยับขึ้นมา 5 บาทกว่า/กก. หรือราคายางยืนอยู่เหนือ 63 บาท/กก. ดันราคาน้ำยางขึ้นมา 60 บาทเช่นกัน ชาวสวนหวั่นราคาขึ้นเร็ว ต้องจับจังหวะซื้อขายยางล่วงหน้าให้ดี ส่วน “เพิก เลิศวังพง” ยืนยันราคายางกำลังปรับฐาน ผลปราบยางเถื่อน ดันโครงการล้อยาง “Thai Tyre” ไปตลาดโลก

ราคายางพาราในประเทศได้ขยับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ กก.ละ 55.02 บาท (ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา) ในวันที่ 19 ธันวาคม 2566 มาถึงวันนี้ (16 มกราคม 2567) ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ได้ขยับขึ้นมาถึง กก.ละ 63.09 บาท หรือราคาปรับขึ้นมาถึง 8 บาท/กก.ในช่วงเวลาแค่เดือนเดียว

สอดคล้องกับราคาน้ำยางสด ณ โรงงานก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยขณะนี้ราคาน้ำยางอยู่ที่ กก.ละ 60 บาท (บ.ศรีตรัง กก.ละ 59 บาท-ไทยรับเบอร์ 58 บาท-เซาท์แลนด์ 56 บาท) ส่วนราคา FOB RSS3 (Bangkok) อยู่ที่ 68.59 เหรียญ หรือปรับขึ้นมาจากช่วงวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ 60.52 เหรียญ

ย้อนหลังไป 5 วันที่ผ่านมาจะพบว่า ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ กล่าวคือ ในช่วงระยะเวลาเพียง 5 วัน (10-16 มกราคม 2567) ราคายางแผ่นขยับขึ้นมาถึง 5.74 บาท/กก. หรือเกือบ 6 บาท ท่ามกลางการจับจ้องของชาวสวนยางทั่วประเทศที่ว่า ราคายางจะพุ่งขึ้นไปถึงกี่บาท

จากปรากฏการณ์ที่ราคายางเคยขึ้นเร็วลงเร็วหรือลงมาวันละกว่า 5 บาท/กก. ก็เคยมีมาแล้ว ในขณะที่ชาวสวนยางพาราบางส่วนก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นการปั่นราคาของพ่อค้ายาง เพื่อให้เกษตรกรขายสต๊อกยางออกมาในช่วงผลผลิตยางลดลงก็ได้

วันเดียวน้ำยางพุ่ง 3 บาท

นายเพิก เลิศวังพง ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากติดตามสถานการณ์ยางพาราเฉพาะเมื่อวานนี้ (15 มกราคม 2567) วันเดียว ราคาน้ำยางในประเทศขยับขึ้นไป 2.60-3.00 บาท/กก. จนถึงขณะนี้ทะลุ 60 บาทไปแล้ว ในส่วนนี้เป็นผลจากการปฏิบัติการหลายส่วนที่ได้เดินหน้าทั้งระบบหลังบ้าน-หน้าบ้าน

เริ่มจากการจับ “ยางเถื่อน” ซึ่งมีการดำเนินการอย่างจริงจัง โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่ได้ประกาศสงครามกับยางเถื่อนไปก่อนหน้า และเมื่อยางเถื่อนไม่เข้ามาทำลายกลไกตลาดในประเทศ ราคายางพาราก็จะไม่ลดลง

ส่วนด้านหน้าบ้านก็มีการเดินสายเจรจากับผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยได้พบกับสมาคมยางพาราไทย เพื่อขอความร่วมมือในการรับซื้อยาง เพราะระบบของยางยังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากโรงงานใหญ่เพิ่มการรับซื้อก็จะมีผลทำให้ราคายางขยับขึ้นด้วย

“ระดับราคายางที่ปรับขึ้นตอนนี้ ผมว่าไม่ใช่ช่วงสั้นแน่นอน แต่เรากำลังปรับฐานลากยาว เป้าหมายของผมเราไม่ได้พูดตัวเลขราคา 60 บาท แต่เรามุ่งดูแลเรื่องความเป็นธรรม จากเดิมที่ไม่เคยมี แต่ต่อไปต้องมี อย่างน้อยราคายางต้องไม่ต่ำกว่านี้ เป้าหมายผมจริงๆ ต้องการเห็นราคายางพาราในเลข 3 หลัก แต่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

แต่ทุกคนรับรู้แล้วว่า ศักยภาพยางไทยไปได้ในโลกนี้ ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำก็คือ การกำหนดราคายางเอง ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้ในตลาดโลกเริ่มหันมามองเราแล้ว จากเดิมที่เราต้องมองเขา จากสิ่งที่เราทำในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทุกอย่างมีผลหมด ทั้งปัจจัยภายใน การดำเนินการภายในของเราเอง และปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องโรงงานยางพาราที่จีนไฟไหม้” นายเพิก กล่าว

ขายโครงการยางล้อ Thai Tyre

นอกจากนี้ เรายังพยายามคอนโทรลปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาด โดยใช้กลไกการบริหารจัดการ ตอนนี้เราเริ่มคอนโทรลได้บางส่วนแล้ว ทั้งจากเรื่องการทำโฉนดไม้ การทำตลาด 500 ตลาด และการทำโรงงานยางล้อ โครงการยาง Thai Tyre เปรียบเสมือนแก้มลิงที่จะดึงยางออกไป ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณทำให้ผู้ซื้อเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ สามารถทำได้จริงๆ จากเดิมที่มองว่า “ไทยไม่สามารถทำได้”

“การคอนโทรลปริมาณยาง หมายถึง จะปล่อยผลผลิตยางออกสู่ตลาดเท่าไร เราสามารถทำได้ จากการที่เรามุ่งไปส่งเสริมการสร้างผลผลิตยาง โดยเฉพาะการทำโรงงานยางล้อ โดยการจ้าง OEM โรงงานยางล้อในจีน ซึ่งทำให้เราสามารถดึงผลผลิตยางออกจากตลาด 400,000 ตัน/ปี หรือคิดเป็น 10% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด 4 ล้านตัน

ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับราคาแบบที่ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดอย่างที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ไม่ต้องพูดถึง เพราะที่ผ่านมาทำแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ราคาขยับสูงขึ้น ทางเราจึงไม่ทำประกันรายได้” นายเพิก กล่าว

สำหรับโรงงานยางล้อ จะเป็นการจ้างผลิต OEM โดยที่ไม่ได้มีการลงทุนตั้งโรงงานเอง ขณะนี้ได้หารือกับโรงงานที่มีอยู่แล้ว ทั้งจีนและไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้มารับจ้างผลิตยางล้อให้ ส่วนเราทำหน้าที่คุมเรื่องมาตรฐานอย่างเดียว ซึ่งพอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Thai Tyre” กำลังจดเครื่องหมายการค้า จากนั้นจะไปขึ้นรูปแม่พิมพ์เพื่อดำเนินการผลิตต่อไป

“โครงการ Thai Tyre จะดึงผลผลิตยางมาได้ 400,000 ตัน/ปี สำหรับราคาที่ยกระดับขึ้นทำได้ทะลุ 60 บาทไปแล้ว มีผู้รับซื้อทั้ง 61-62 บาทลดหลั่นกันไป ชาวสวนก็อยู่ได้ เพราะราคายางดีขึ้นพอสมควร และมาตรฐานที่เราทำ เราก็ยังส่งสัญญาณไปถึงโรงงานว่า วัตถุดิบที่จะส่งออกไปขึ้นอยู่กับเราด้วย เพราะเราวางบทบาทว่าเราจะเป็นผู้เล่นที่สามารถผลิตวัตถุดิบได้ดีที่สุด” นายเพิก กล่าว

สำหรับการปรับฐานราคายางพาราที่จะขยับขึ้นนี้ จากที่ดูในส่วนของโครงสร้างราคา ผู้ที่ทำหน้าที่จ่ายค่ายางคือ ผู้ใช้ยาง ซึ่งเดิมกระบวนการผลิตยางล้อ มีขั้นตอนคือ เกษตรกรขายให้โรงงาน แล้วโรงงานก็นำไปขายโรงงานยางล้อ ส่วนต่างขั้นแรก 10% ส่วนต่างของโรงงานคนกลางที่ได้ 10-20%

ส่วนปลายทางอาจจะได้กำไรจากผู้บริโภค 50% แต่สิ่งที่เราพยายามดำเนินการคือ ขอให้ปลายทางพยายามเกลี่ยกำไร 50% คืนกลับมาทางต้นน้ำบ้าง ซึ่งการที่เราจะขยับราคายางขึ้นไปสู่เลข 3 หลัก ผู้ประกอบการเพียงแค่ลดกำไรลง

“การดำเนินการเรื่องนี้สามารถช่วยบรรเทาลดปัญหาราคายางที่ปกติมักจะปรับราคาลดลงในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตลาดก็จะรับรู้ว่าจีนจะหยุดซื้อยางก่อนตรุษจีน 10 วัน ผู้ประกอบการก็จะนำมาเป็นข้ออ้างในการลดราคารับซื้อยางจากเกษตรกร ทั้งที่ในความเป็นจริงช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไม่มีการซื้อขายและส่งมอบยางอยู่แล้ว เพราะเขาทำสัญญาล่วงหน้า ทำให้ปีนี้ไม่มีเรื่องราคายางลดลงแน่นอน” นายเพิก กล่าว

ราคาพุ่งรับสารพัดข่าวในประเทศ

มีการตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางถึงราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วว่า เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่มีข่าวออกมาว่า โรงงานยางจีน ในเขตการค้าเสรีฉินหวงเต่า เมืองชิงเต่า เกิดไฟไหม้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับผลิตภัณฑ์ยางในโกดังประมาณ 9,600 ตัน

โดยข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2567 ราคายางก็ขยับขึ้นมาจาก 57 บาทเป็น 58 บาท/กก.ทันที พอมาวันที่ 12 มกราคม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ประมูลกันในตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ก็ไต่ขึ้นมายืนเหนือระดับ 60 บาท/กก.เป็นครั้งแรก และราคาก็ขยับขึ้นมาวันละ 1 บาทกว่า จนถึงวันนี้ที่ราคา 63.09 บาท/กก.

“มีความพยายามออกข่าวกันว่า ที่ราคายางขยับขึ้นเป็นเพราะเรามีการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางแผ่นดิบจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างได้ผล ในส่วนนี้เห็นว่า จะเข้มงวดหรือไม่เข้มงวด ยางจากประเทศเพื่อนบ้านก็ทะลักเข้าสู่ไทยตามแนวชายแดนเป็นปกติอยู่แล้ว

เพราะเขาไม่มีตลาดขาย ค่าแรงกรีดยางต่ำกว่าไทย ตลาดยางในไทยก็รับรู้แล้วว่า ทุกปีจะมียางจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาเท่าไหร่ตามการคาดการณ์ พื้นที่ปลูกยาง มันไม่ได้ทำให้ไปกดราคายางภายในประเทศมากมายเท่าไหร่นัก

ตอนนี้ที่ยางราคาขึ้นผิดปกติ อาจเป็นช่วงผลผลิตยางเข้าสู่ตลาดน้อย ในภาคอีสานหยุดกรีดยางไปแล้ว ส่วนที่ภาคใต้ก็เกิดโรคยาง ทำให้ยางเข้าสู่ตลาดน้อย ตอนนี้สหกรณ์การเกษตร-สถาบันเกษตรกรที่จะขายยางต้องติดตามสถานการณ์ในตลาดยางอย่างใกล้ชิด เพราะราคายางขึ้นเร็วลงเร็วในชั่วเวลาแค่ข้ามคืน”

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์