ถุงดักแมลงเม่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำง่าย ไม่ต้องลงทุนสักบาท

“แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” เป็นสำนวนไทยโบราณที่คุ้นเคยกันดี หมายถึง ผู้ที่หลงแสงสีสวยงามเย้ายวนโดยไม่พิจารณาถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ให้รอบคอบอาจจะนำตัวเองให้เข้าไปติดกับโดยไม่รู้ตัว แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า “แมลงเม่าเล่นไฟ” นั้นเป็นสัญญาณบอกว่า “ปลวก” ที่เป็นศัตรูร้ายของบ้าน กำลังหาทางบุกรุกเข้าทำลายโครงสร้างบ้านเรือนของคุณ

“แมลงเม่า” คือปลวกหนุ่ม-สาวที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่บินออกจากรังมาหาคู่ ส่วนใหญ่แมลงเม่าจะบินออกจากรังในตอนพลบค่ำเป็นฝูงใหญ่เพื่อเล่นไฟ จากนั้นจะทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน สลัดปีกแล้วจับคู่โดยตัวเมียจะเดินนำหน้ามีตัวผู้เดินตามหลังใช้ปากคาบปล้องสุดท้ายของตัวเมียไปฝังตัวตามรอยแตกของไม้หรือมุดลงสู่ใต้พื้นดินเพื่อผสมพันธุ์ ทำรังและวางไข่ กลายเป็นอาณาจักรของราชาและราชินีปลวกคู่ใหม่ที่จะให้กำเนิดประชากรปลวกนับแสนนับล้านตัว

วงจรชีวิตของแมลงเม่าและปลวก (ภาพจากมติชน)

วิธีจับแมงเม่าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

สัจภูมิ ละออ นักเขียนของเทคโนโลยีชาวบ้าน มีเคล็ดลับการจับแมลงเม่าจากภูมิปัญญาชาวบ้านมาฝากกัน โดยเล่าว่า เครื่องมือจับแมลงเม่าสมัยเด็กๆ เห็นผู้ใหญ่นำเอาใบตองกล้วยมาทาน้ำมัน แล้วก็นำไปแขวนไว้ใกล้ๆ ดวงไฟ ปรากฏว่าแมลงต่างๆ มันจะบินไปติด บ้างก็ตกมาตายเบื้องล่าง ตอนเช้าๆ เมื่อเดินไปบริเวณที่ติดตั้งดวงไฟ จะเห็นแมลงตายเป็นกอง

การจับแมลงเม่าสมัยเด็กๆ ที่เห็นอยู่บ่อยๆ อีกอย่างคือ นำน้ำใส่กะละมังขนาดใหญ่ไปวางใกล้หลอดไฟ ไม่นานแมลงเม่าก็จะบินไปตกลง เด็กบางคนชอบกินแมลงเม่าคั่วกับน้ำเกลือ ผู้เขียนเองสมัยเด็กๆ ก็เช่นกัน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมถึงได้เอร็ดอร่อยปานนั้น

ถุงดักแมลงเม่า

อีกหนึ่งวิธีการดักจับแมลงเม่าที่เจอในจังหวัดสุพรรณบุรีคือ นำถุงพลาสติกใสๆ มา ใช้สก็อตช์เทปติดไว้ที่หลอดไฟ แมลงเม่าจะบินเข้าไปเอง เพื่อความกระจ่างใจ เมื่อกลับมาบ้านจึงลองทำดู

รอจนมืดค่ำ แมลงเม่าเริ่มออกอาละวาด มันบินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ หลอดไฟ เริ่มจาก 2-3 ตัว นานเข้าก็กลายเป็นฝูง จึงหยิบถุงใส่แกงใสๆ ในตู้กับข้าวมา 1 ใบ นำสก็อตช์เทปใสจากโต๊ะเขียนหนังสือมาติดปากถุง ม้วนปากถุงให้เปิดกว้างเข้าไป เอาไปติดที่หลอดไฟ ไม่นานบรรดาแมลงเม่าก็ทยอยกันเข้าไปในถุง

แมลงเม่า

สาเหตุที่มันเข้าไปอยู่ในถุง ไม่แน่ใจว่าเพราะเห็นเพื่อนๆ เข้าไปอยู่ หรือว่าเพราะความซุกซนของมัน เรื่องนี้ไม่อาจสรุปได้แน่ชัด รู้แต่ว่ามันเข้าไปอยู่ในถุงจริงๆ ไม่นานก็ทยอยเข้าไปจนเหลือน้อยเต็มที จนกระทั่งไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว เมื่อมันเข้าไปในถุงแล้ว เราก็เอาไปทิ้งไกลๆ บ้านได้

 

…………………

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก มติชนออนไลน์