ซีพีเอฟ อินเดีย ร่วมลงนาม MoU นำร่องโครงการพัฒนาประมงยั่งยืน มุ่งอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลตะวันตกเมืองรัตนคีรีถึงเมืองกัว

6 สมาคมประมง ภาคเอกชน และอุตสาหกรรมประมงที่เกี่ยวข้องของอินเดีย ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเปิดตัวโครงการพัฒนาประมง (Fishery Improvement Project หรือ FIP) นับเป็นครั้งแรกประเทศอินเดียที่มีการนำร่องแนวทางปฏิบัติเพื่อการรณรงค์การอนุรักษ์ห่วงโซ่การผลิตและระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยมุ่งปรับปรุงพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตกตั้งแต่เมืองรัตนคีรีถึงเมืองกัว

สมาคมประมงและภาคเอกชนที่ร่วมลงนามใน MoU ครั้งนี้ประกอบด้วย Ratnadurga Macchimar Society, Adarsh Machchimar Society บริษัทสหกรณ์ประมงและการตลาดมันโนวี จำกัด บริษัทสหกรณ์เจ้าของเรือประมงขนาดเล็กและการตลาดวาสโก้ จำกัด บริษัทสหกรณ์ประมงและการตลาดซูอาริ จำกัด สมาคมเจ้าของเรือเพื่อการพัฒนาคัตแบน บริษัทโอเมก้าปลาป่นและน้ำมัน จำกัด และบริษัท ซีพีเอฟ อินเดีย จำกัด โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงทั้งจากรัฐบาลอินเดียและองค์กรเอกชน (NGO) เช่น กรมประมง สถาบันวิจัยประมงกลาง มหาวิทยาลัยรัตนคีรี รวมถึงผู้แทนจากโครงการหุ้นส่วนการประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fisheries Partnership หรือ SFP) เป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้

การเปิดตัวโครงการ FIP ในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการจับปลาซาร์ดีนและการผลิตน้ำมันปลาตามแนวชายฝั่งทะเลทางตะวันตกตั้งแต่เมืองรัตนคีรีถึงเมือง โดยมุ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพการจับปลาและการจัดการ ด้วยความโปรงตามแนวทางอาหารปลอดภัย รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นายแซนเดส เซิร์ฟ ประธานกรรมการของ Ratnadurga Macchimar Society กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความตกลงครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมประมงทั้งหมดในการป้องการทรัพยากรทางทะเล โดยมีพันธะสัญญาร่วมกัน 4 ประการ ประกอบด้วย
•        ผลิตภัณฑ์ประมงต่างๆ ต้องมาจากการแหล่งที่ทำการประมงด้วยความรับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต
•        ห่วงโซ่การผลิตจะต้องมีความโปรงใสและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตจะต้องมีการแจ้งกับผู้ซื้อในต่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจน
•        ต้องมีการปฏิบัติและบริหารงานด้านการประมงให้เกิดผลในการป้องกัน, ยับยั้งและกำจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน (IUU) ในทุกรูปแบบ รวมถึงการจับปลาเกินขนาด เพื่อขยายการปกป้องระบบนิเวศทางทะเล
•        การสร้างความน่าเชื่อถือในระบบการติดตามและระบบตรวจสอบย้อนกลับ  เพื่อลดการทำประมงผิดกฎหมายและขาดการรายงาน ขณะเดียวยังช่วยปกป้องผู้ที่เคารพกฎหมาย

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังดำเนินการตามแนวทางขององค์กรปลาป่นและน้ำมันปลาสากล (International Fishmeal and Fish Oil Organization หรือ IFFO) ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลประโยชน์และเป็นตัวแทนผู้ผลิตปลาป่นและน้ำมันปลาทั่วโลก โดยมีวิสัยทัศน์ในการเพิ่มความสำคัญในประเด็นโภชนาที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์และสวัสดิภาพปศุสัตว์เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วโลก ขณะเดียวกัน IFFO ยังเป็นองค์กรที่ให้การรับรองแนวทางปฎิบัติความรับผิดชอบในการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนเพื่อใช้ในการผลิตปลาป่นและน้ำมันปลาซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นอาหารมนุษย์ อาหารสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ

นาย เอ.บี. ซาลังเก้ ผู้ช่วยคณะกรรมาธิการประมง (เมืองรัตนคีรี) กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียกำลังเดินหน้าในการเพิ่มเครื่องมือในการทำงาน เช่น สปีดโบ๊ท ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินการตามกฎหมายในการเอาชนะปัญหาต่างๆ ที่มีผลต่อการทำประมงอย่างยั่งยืน รวมถึงความร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสนับสนุนโครงการ FIP ตามแนวชายฝั่งของเมืองรัตนคีรีถึงเมืองกัว คู่ขนานไปกับภาคเอกชนที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับมหาสมุทรอินเดียในระยะยาว

นายเอมอล ปาติล ผู้อำนวยการบริษัทโอเมก้าปลาป่นและน้ำมัน จำกัด กล่าวว่า ภาคเอกชนให้คำมั่นสัญญาในการทำประมงยั่งยืนตามแนวทางของ FIP เพื่อร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรและวัตถุดิบให้เพียงพอป้อนให้กับอุตสาหกรรมปลาป่น ซึ่งสมาคมต่างๆ รวมด้วย ซีพีเอฟ อินเดีย และ IFFO ที่ร่วมดำเนินโครงการนี้จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรม และการเพิ่มความต้องการของปลาป่นคุณภาพจากประเทศที่มีสามารถดำเนินตามมาตรฐานสากล