3 ล้อ ผสมเกสรดอกทุเรียน นวัตกรรมช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต ประหยัดเวลา ลดขั้นตอน ติดผลเร็ว

นักประดิษฐ์อาชีวศึกษาสุดเจ๋ง ขึ้นรับรางวัล Thailand New Gen Inventor Award : I-New Gen Award 2024 งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม นำประเทศ” Thailand New Gen Inventor Award : I-New Gen Award 2024 เป็นเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผลงานที่เข้าร่วมประกวดครั้งนี้กว่า 400 ผลงาน

ในระดับอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา ด้านเกษตรปีนี้ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสงขลา ผลงาน เครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน

เทคโนโลยีชาวบ้าน ได้ติดต่อสัมภาษณ์เพิ่มเติม เกี่ยวกับที่มา การใช้งาน และประโยชน์ของเครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน กับ นายธนกร สืบสม นายจักริน นิลเพชร นักศึกษาสาขาเครื่องกล ปวส.2 ผู้จัดทำ โดยมี นายสัจกร ทองมีเพชร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหัวหน้าโครงการ ให้ข้อมูลว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย นอกจากการบริโภคภายในประเทศแล้ว ทุเรียนยังเป็นผลไม้ที่ทำรายได้ให้กับไทยเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปี ไทยมีการส่งออกทุเรียนมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก เฉลี่ยปีละ 683,410 ตัน

ดังนั้น การผสมเกสรดอกทุเรียนของเกษตรกรจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลในแง่ของปริมาณผลผลิต แต่ในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีการผสมเกสรโดยใช้แรงงานมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาในการผสมเกสรล่าช้า หรือบางครั้งวิธีการผสมเกสรอาจส่งผลต่อระบบร่างกาย ทำให้เมื่อยล้าหรือเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลทำให้เกษตรกรเสียเวลาในการทำงาน

“ที่ผ่านมาเวลาที่เกษตรกรจะผสมเกสรดอกทุเรียนจะต้องปีนขึ้นไปบนต้นทุเรียนแล้วใช้ไม้กวาดดอกหญ้าปัดดอกผสมเกสรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดดอกและผลผลิตที่ดีขึ้น แล้วในขั้นตอนปีนขึ้นก็อาจทำให้เกิดอันตรายตกต้นทุเรียนได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะสร้างเครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการผสมเกสรดอกทุเรียน ทำให้ประหยัดเวลา รวดเร็ว เพิ่มผลผลิตในการติดลูก และป้องกันอุบัติเหตุจากการผสมเกสรทุเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน โดยการใช้ลมผสมกับสารออกซิน หรือว่าเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการติดดอกได้ดีขึ้น ฉีดพ่นขึ้นไป สั่งการด้วยรีโมทคอนโทรล แค่ขับรถไปจอดกลางร่องสวน แล้วดึงอุปกรณ์มาใช้ได้เลย”

โดยโครงสร้างของเครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน ส่วนที่ 1 ทำขึ้นจากเหล็กตัวซี และเหล็กกล่อง มีขนาดความยาว 2.5 เมตร กว้าง 2 เมตร สูง 1.5 เมตร ส่วนที่ 2 ระบบต้นกำลังใช้เครื่องรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ ในการขับเคลื่อน ส่วนที่ 3 ชุดผลิตลมอัดสามารถผลิตลมอัดไปเก็บไว้ในถังเก็บชุดที่ 1 ส่วนชุดถังเก็บลมอัดเกจวัดแรงดันลม ชุดเซฟติวาล์ว รูถ่ายน้ำทิ้ง มีชุดปรับปรุงคุณภาพลมวาล์วปรับแรงดันลมในการใช้งาน ส่วนที่ 4 ชุดระบบมิกซ์และสเปร์ย จะเป็นชุดที่ใช้ในการผสมฮอร์โมนกับลมเข้า ส่วนที่ 5 แผงควบคุมการทำงานระบบควบคุมการทำงานของชุดผลิตลมอัดและแรงดันลมกับการใช้ที่สัมพันธ์กัน ส่วนที่ 6 ชุดขับเคลื่อนระบบรองรับช่วงล่าง โดยมีเพลาขับเป็นตัวส่งกำลังไปยังชุดเฟืองท้าย มีแหนบและโช้คเป็นระบบรองรับ ส่วนที่ 7 ชุดถังบรรจุฮอร์โมน และส่วนที่ 8 ชุดเก็บสายลมแบบอัตโนมัติเก็บความยาวสายลดได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใช้งานจริง โดยมอบให้กับวิสาหกิจชุมชนที่รวมกลุ่มปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ อำเภอจะนะ ได้ทดลองใช้ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ การติดดอกทุเรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงคุณภาพและปริมาณของผลผลิตก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

Advertisement

“จากเดิมที่ต้องใช้ไม้กวาดปัด ต้องใช้เวลาประมาณ 30-40 นาทีต่อต้น เพราะต้องปีนขึ้น-ลง แล้วจุ่มสารกว่าจะเสร็จ และอีกสาเหตุคือการปีนขึ้น-ลงบ่อย อาจจะทำให้กิ่งทุเรียนเกิดความเสียหายได้ง่าย แต่พอใช้เครื่องผสมเกสรของเราใช้เวลาเพียง 10 นาที สร้างความสะดวก รวดเร็ว ลดการเกิดอุบัติเหตุ และปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น”

ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ

  1. ทำให้ประหยัดเวลา มีความสะดวกรวดเร็วในการผสมเกสรทุเรียน อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนในการผสมเกสร
  2. ช่วยป้องกันอุบัติเหตุในการปีนเพื่อการผสมเกสรทุเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน
  3. ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ติดผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้นจากเดิม

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ครูที่ปรึกษา นายสัจกร ทองมีเพชร ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ งานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ อยู่ที่ เลขที่ 11 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โทร. 090-685-5252

Advertisement