ม.เกษตร เปิดตัว Redberry ข้าวเหนียวแดงพันธุ์ใหม่ ปลูกได้ทั้งปี มีโภชนาการสูง 

ปัจจุบันประชากรโลกและคนไทยก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ เสี่ยงเจอโรคภัยไข้เจ็บคุกคาม โดยโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ คือ โรคเบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือดที่เกิดจากการอุดตันจากไขมัน โรคความดันโลหิตสูง และอื่นๆ อีกมากมาย

การบริโภค “ข้าวโภชนาการสูง” เหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยและคนที่รักสุขภาพ เพราะข้าวกลุ่มนี้มีสารอาหารเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แอนโทไซยานิน แกมมา-โอริซานอล วิตามินต่างๆ สามารถช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดการเกิดมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งข้าวโภชนาการสูงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มข้าวสี เช่น สีดำ สีม่วง และสีแดง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวสังข์หยดพัทลุง เป็นต้น

Redberry ข้าวเหนียวแดงพันธุ์ใหม่

ในงานเกษตรแฟร์ 2567 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว Rice Science Center และ ดร.ชัชมาศ กาญจนอุดมการ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน จัดกิจกรรมกินข้าวกินผักโดยเปิดตัวข้าวเหนียวแดงโภชนาการสูง สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Redberry พร้อมทั้งหุงชิมร่วมกับข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ของศูนย์

Redberry (M.2 9689) อยู่ในกลุ่มข้าวเฉดสี เป็นข้าวต้นเตี้ยที่ให้ผลผลิตสูง มีต้นกำเนิดจากการกลายพันธุ์ของข้าวเจ้าหอมนิล ที่สีของเมล็ดเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีแดงอิฐ เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี เมล็ดข้าวหุงสุก มีสีแดงอิฐ และมีความเหนียวน้อยกว่าข้าวเหนียวยอดนิยมทั่วไป Redberry มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เส้นใยอาหารรวมสูงที่สุด ประกอบด้วยเส้นใยที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำมากที่สุด มากกว่าผลิตภัณฑ์ข้าวเต็มเมล็ดอื่นๆ นอกจากนี้ Redberry ยังอุดมไปด้วยโปรแอนโทรไซยานิน (Proanthocyanin) มีคุณสมบัติช่วยชะลอวัย และโพลิฟีนอล (Polyphenol) สารพฤกษเคมี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวที่มีเม็ดสี ช่วยลดเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว Rice Science Center มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเฉดสี ได้แก่

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ปรับปรุงพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ขึ้นมาซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้าสีม่วงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ แอนโทไซยานิน โพลิฟินอล แกบมา-ออไรซานอล วิตามิน B-complex และวิตามินอี ข้าวกล้องหุงสุกมีความนุ่ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สารสกัดจากรำข้าวไรซ์เบอร์รี่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ รำข้าวและน้ำมันข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังเป็นแหล่งที่ดีของพรีไบโอติกส์อีกด้วย

ไรซ์เบอร์รี่ต้านทานขอบใบแห้ง

เป็นข้าวเจ้าสีม่วงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยเพิ่มลักษณะความต้านทานโรคขอบใบแห้งเข้ามา

ไรซ์เบอร์รี่ 6+ (11F09)

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ เป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ปรับปรุงล่าสุด เป็นพันธุ์ข้าวที่ดี มีความทนทานต่อสภาวะโลกรวน ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความเป็นพิษของธาตุเหล็กและอุณหภูมิสูง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ เป็นข้าวสีม่วงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ข้าวที่หุงสุกแล้วจะมีความนุ่ม และมีกลิ่นหอม

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว