เพิ่มมูลค่าก้อนเห็ดเหลือทิ้ง เป็นแผ่นฉนวนกันความร้อน ปลอดจากสารก่อมะเร็ง

การเพาะเห็ดถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เกษตรกรไทยนิยมทำกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องดูแลรักษามากเหมือนกับพืชชนิดอื่นๆ และสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ง่าย จึงทำให้มีผู้ผลิตก้อนเชื้อเห็ด ผู้ผลิตหัวเชื้อเห็ด และเกษตรกรผู้เพาะเห็ดเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของตลาด

ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากนี้คือ หลังจากการเก็บเกี่ยวดอกเห็ดเสร็จแล้ว จะมีก้อนเห็ดเก่าที่หมดอายุเป็นจำนวนมาก บางคนอาจจะมองว่าไม่มีประโยชน์จึงปล่อยทิ้งไว้หรือนำไปทิ้ง แต่รู้หรือไม่ว่าก้อนเห็ดเก่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยในปัจจุบันจะนิยมนำมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ แต่นอกเหนือจากการทำปุ๋ยหมักแล้ว ก้อนเห็ดเหลือทิ้ง จริงๆ แล้วสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยหนึ่งในนั้นคือการนำมาทำเป็นแผ่นวัสดุกันความร้อนจากก้อนเห็ดเหลือทิ้ง

โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของ ผศ.ดร.เยาวภา อร่ามศิริรุจิเวทย์, ผศ.เจษฎา โพธิรัตน์, ผศ.ดร.ปริศนา วิริยะจิตสมบูรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแผ่นวัสดุที่ปลอดจากสารก่อมะเร็ง และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากก้อนเชื้อเห็ดหลังการเก็บเกี่ยวดอกเห็ดและยังช่วยลดขยะเหลือทิ้งจากการเกษตร โดยการนำมาขึ้นรูปพัฒนาเป็นวัสดุประเภทฉนวนกันความร้อน เหมาะที่จะนำมาใช้ภายในอาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากผลการทดสอบแผ่นวัสดุเหลือใช้ ในด้านความหนาแน่น ปริมาณความชื้น การพองตัวตามความหนา ความต้านแรงตัด และมอดูลัสยืดหยุ่น เหมาะสำหรับการทำเป็นแผ่นฉนวนกันร้อน หรือกันเสียงรบกวนได้ดี และยังสามารถใช้เป็นแผ่นฝ้าเพดานหรือแผ่นพาร์ติชั่นหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแปรรูปด้วยวัสดุที่เหมาะสม

นับได้ว่าเป็นผลงานที่มีความโดดเด่น ในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ สามารถใช้ภายในอาคารเป็นมิตรกับผู้บริโภค และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด Zero waste

หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปท่านใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 02-562-5555 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์