ศูนย์เกษตรวิถีเมือง รวมนวัตกรรมการปลูกผักในเมือง ทำง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้ประโยชน์ได้จริง

ศูนย์เกษตรวิถีเมือง มาจากแนวคิดความมั่นคงทางด้านอาหาร ข้อจำกัดในการปลูกพืชในเมืองและแนวคิด BCG จึงเกิดเป็นโครงการ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง พื้นที่เรียนรู้นวัตกรรมการปลูกพืชในเมืองซึ่งจะเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมและเผยแพร่ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับการปลูกพืชในเมืองให้กับประชาชนที่สนใจ โดยเป็นสถานที่กิจกรรมที่จะเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามาใช้พื้นที่และเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

ศูนย์เกษตรวิถีเมือง รวมนวัตกรรมการปลูกผักในเมือง ทำง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้ประโยชน์ได้จริง
ศูนย์เกษตรวิถีเมือง รวมนวัตกรรมการปลูกผักในเมือง ทำง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้ประโยชน์ได้จริง

โครงการจะนำเสนอรูปแบบการปลูกพืชในเมืองที่มีความเหมาะกับแต่ละพื้นที่ ด้วยการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกพืช การวางระบบ ไปจนถึงการจัดการทรัพยากรในโครงการหมุนเวียนนำเอาทรัพยากรมาใช้ใหม่ การนำวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัสดุทดแทน การใช้พลังงานสะอาดซึ่งจะตอบโจทย์แนวคิด BCG ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากการเป็นพื้นที่เรียนรู้นวัตกรรมการปลูกพืชในเมืองแล้ว ศูนย์เกษตรวิถีเมืองยังเป็นตัวอย่างของการสร้างพื้นที่ผลิตอาหารให้กับคนเมือง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการไปปรับใช้ในที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่ดีและการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

ผศ.ลือพงษ์ ลือนาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สังกัดคณะเทคโนโลยีทางการเกษตร สจล. และดร.มนสินี อรรถวานิช คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผศ.ลือพงษ์ ลือนาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สังกัดคณะเทคโนโลยีทางการเกษตร สจล. และ ดร.มนสินี อรรถวานิช คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ผศ.ลือพงษ์ ลือนาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สังกัดคณะเทคโนโลยีทางการเกษตร สจล. เล่าว่า โครงการนี้เป็นการสร้างศูนย์การเรียนรู้ เกษตรวิถีเมือง โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ได้รับการรีโนเวตมาจากอาคารเก่าที่เป็นอาคารรกร้าง เพื่อเป็นพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ด้วยแนวคิด Adaptive Reuse โดยใช้อุปกรณ์การเพาะปลูกที่ไม่ซับซ้อน สามารถหาซื้อหรือดัดแปลงได้โดยง่าย

โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนวัสดุก่อสร้างบางส่วนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยคัดสรรวัสดุที่เกิดจากแนวคิดการนำกลับมาใช้ และการเพิ่มมูลค่าจากขยะอุตสาหกรรม Recycle Upcycle

คุณระพี บุญบุตร ผู้จัดการบริษัท อาทิตย์ เวนติเลเตอร์ เล่าว่า ทางทีมเราเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรม เริ่มต้นจากการระบายอากาศด้วยลูกหมุนระบายอากาศ โดยนำลูกหมุนระบายอากาศมาสร้างเป็นพลังงานให้ผลิตพลังงานออกมาได้ ทางทีม วช. เห็นถึงทางทีมเราที่สามารถเชื่อมโยงนวัตกรรมได้ ได้รับโจทย์ทำยังไงให้ในเมืองสามารถผลิตอาหารได้ ทางทีมเลยนำเสนอ “พื้นที่รกร้างที่อยู่ใน วช. สามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ในการสร้างอาหารได้” เรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหาร และการใช้พื้นที่ที่จำกัดสามารถสร้างประโยชน์ได้ 

ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เพียงพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้ใหญ่มาก บางคนอาจจะไม่ได้นึกว่าพื้นที่แค่นี้จะนำไปสร้างประโยชน์อะไรได้ จริงๆ แค่พื้นที่ในห้องน้ำ ข้างตู้เสื้อผ้า ก็สามารถปลูกต้นไม้ได้

แนวคิด BCG Economy Model

เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยมุ่งต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง

B (Bio-economy) เศรษฐกิจชีวภาพ การนำความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิมที่มี เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้สารอาหารเพิ่มขึ้น

C (Circular-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ โดยปรับการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การนำขยะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ

G (Green-economy) เศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาที่คำนึงถึงความยั่งยืนการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การควบคุมมลพิษและของเสีย การลงทุนสีเขียว และจัดการงานสีเขียว

เป้าหมายของโครงการนี้คือต้องการสร้างเครือข่าย BCG ของการทำเกษตรในเมือง คนมีพื้นที่น้อยก็สามารถปลูกได้ ผศ.ลือพงษ์ ยังบอกอีกว่า “แต่อยากเสริมให้ว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น และรูปทรงของพื้นที่ไม่เหมือนกัน ถ้าได้นำความรู้จากโมเดลชิ้นนี้มาปรับใช้ อาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก อาจจะมีการปรับใช้ของตัวเอง ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการปลูกพืช”

ตัวอย่าง BCG ตามวิถีเมือง 

การเพาะเห็ดในครัวเรือน โดยใช้พื้นที่ไม่มาก ใช้เวลาปลูกไม่นาน เก็บเกี่ยวได้หลายรอบ กินได้สบายใจ มีเหลือก็สามารถขายได้

B : เป็นการใช้วัสดุที่มีอยู่หลากหลายในท้องถิ่นมาผลิตเป็นก้อนเพาะเชื้อเห็ด เช่น ขี้เลื่อย ไม้ยางพารา อินทรียวัตถุ และใช้เทคโนโลยีการเพาะเชื้อเห็ดในถุงพลาสติกก้อนเชื้อเห็ด และปราศจากสารเคมี

C : ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งของอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ขี้เลื่อย ไม้ยางพารา และก้อนเห็ดเก่าหมดสภาพไม่ออกดอกแล้ว สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยและเป็นวัสดุเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อกำจัดวัสดุเหลือทิ้งหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

G : เป็นการสร้างแหล่งผลิตอาหารในเมืองได้เอง สร้างให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจคือ ลดรายจ่ายในครัวเรือนสามารถสร้างรายได้ ทางสังคมเกิดกิจกรรมร่วมกันภายในครัวเรือนและชุมชนได้กินอาหารที่ปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มีการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อาหาร

การเพาะเห็ดในครัวเรือน เพื่อเป็นการบริโภคและการทำกิจกรรมตามแนวทางเกษตรวิถีเมืองที่ทำเกษตรในพื้นที่จำกัดหรือใช้พื้นที่น้อย และมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เพียงรดน้ำและจัดสถานที่ให้เหมาะสม ผลผลิตเห็ดจะออกดอกอย่างต่อเนื่อง จนไม่ออกดอก สามารถนำก้อนเห็ดเก่าไปทำเป็นปุ๋ยหรือเลี้ยงไส้เดือนต่อไปได้

ดร.มนสินี อรรถวานิช คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังพูดถึงเรื่อง การปลูกผักสลัดกินเองในครัวเรือน เป็นแนวทางในการสร้างอาหารในข้อจำกัดของความเป็นเมือง โดยการนำเอาความรู้และนวัตกรรมทางด้านการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ ผลจากสภาพแวดล้อมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปลูกพืชแบบดั้งเดิมที่ต้องการพื้นที่ราบไม่สามารถทำได้ การปลูกพืชในเมืองจึงมีข้อจำกัด ทั้งในด้านพื้นที่ อาคารและตึกสูงที่บดบังแสงอาทิตย์ไปจนถึงวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ไม่มีเวลาในการดูแล

ขั้นตอนการปลูกผักสลัดในครัวเรือน

1. ทำความเข้าใจพื้นที่หรืออาคารที่มีอยู่เพื่อประเมินทิศทางแดดและลม

2. ทำความเข้าใจภาวะพื้นฐานที่ผักสลัดต้องการเพื่อจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

3. เลือกรูปแบบการปลูกพืชในพื้นที่จำกัด เช่น ปลูกด้วยดินในกระถาง หรือกระบะ บนชั้นปลูก

4. เพาะเมล็ด หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะหลุมละ 2 เมล็ด แล้วกลบด้วยวัสดุปลูก (พีทมอส)

5. เตรียมย้ายต้นกล้า เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 3-4 ใบหรือ 15 วัน

6. เตรียมวัสดุปลูก ดิน ขุยมะพร้าว แกลบเผา ปุ๋ยคอก ผสมให้เข้ากัน

7. นำกาบมะพร้าวสับรองก้นกระถางแล้วจึงย้ายต้นกล้ากลบรอบต้นด้วยวัสดุปลูก

8. เก็บเกี่ยวหลังจากย้ายต้นกล้าประมาณ 30 วัน

ประโยชน์จากการปลูกผักสลัดในครัวเรือน

จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน และแนวคิดในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่เมือง เพื่อให้คนเมืองสามารถสร้างอาหารเองได้ ทั้งการปลูกเพื่อบริโภคหรือการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้จากพื้นที่ที่มีอยู่พึ่งพาตนเองได้ เพื่อความยั่งยืนของการอยู่อาศัยในพื้นที่เมือง

ภายในศูนย์เกษตรวิถีเมืองแห่งนี้ ได้นำเสนอ 30 นวัตกรรมการปลูกผักในเมือง สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีสามารถทำได้อย่างง่ายและมีต้นทุนต่ำ เหมาะสมกับทุกข้อจำกัดของพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สวนครัวพืชใบกลิ่นหอม เช่น กะเพราขาว กะเพราแดง โหระพา ฯลฯ สวนครัวผักกินใบ เช่น ผักชี ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ ต้นหอม ฯลฯ สวนครัวพืชแบบเหง้าและกอ เช่น ขิง ข่า ขมิ้น ฯลฯ มีใบและดอกประดับได้ด้วย และพืชแบบกออย่างตะไคร้ที่มีกลิ่นหอม เป็นพื้นที่สีเขียวที่กินได้

การปลูกผักในเมืองแม้จะมีข้อจำกัด แต่ก็สามารถปลูกได้ เพียงแค่มองว่าชนิดผักที่ปลูกต้องการสิ่งแวดล้อมแบบไหน สิ่งที่ผักต้องการ คือเรื่องของแสง ถ้าบ้านไหนแสงไม่ถึงก็สามารถใช้หลอดไฟที่เป็นคลื่นสเปกตัมที่พืชต้องการนำมาใช้ก็ได้ อันดับต่อมาคือเรื่องน้ำ จะให้ทางไฮโดรโปนิกส์ หรือการตั้งเวลาให้น้ำ บางทีคนเมืองไม่ค่อยมีเวลา เรื่องต่อมาคือปุ๋ย จะให้เป็นปุ๋ยเคมีจะใช้แค่ไหนที่ไม่ทำให้เกิดสารตกค้าง หรือปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

หากใครสนใจศึกษาวิธีการปลูกพืชจากนวัตกรรมต่างๆ มากกว่า 30 ผลงาน ภายในศูนย์เกษตรวิถีเมืองแห่งนี้ สามารถแวะมาเยี่ยมชมศูนย์เกษตรวิถีเมือง ในวันและเวลาราชการ วันจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น. ณ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-579-1370