เพิ่มมูลค่า “ผลตาลโตนดสุก” แปรรูปเป็น “ผงแป้งตาลโตนด” ใช้ทำขนมไทยรสชาติดีเยี่ยม

โดยทั่วไป “ลูกตาลสุก” ไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ประโยชน์ ส่วนใหญ่จะปล่อยให้สุกคาต้น และหล่นเน่าเสียไป แม้ชาวบ้านหลายรายจะพยายามใช้ประโยชน์จากลูกตาลสุก โดยนำลูกตาลสุกมายีเอาเนื้อออกเพื่อใช้ทำขนมตาล แต่สามารถทำได้บางฤดูกาลเท่านั้น และการเตรียมเนื้อลูกตาลสุกมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลามาก ที่สำคัญไม่สามารถเก็บเนื้อลูกตาลสุกไว้ได้นาน

ผศ.ชไมพร เพ็งมาก อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่ เล็งเห็นว่า ตาลโตนดที่มีมากในภาคใต้ โดยเฉพาะลูกตาลสุกที่ส่วนใหญ่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป สามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้มากมายที่สำคัญ ลูกตาลสุกมีคุณค่าทางสารอาหารมากมายเพราะเนื้อตาลสุกมีเบต้าแคโรทีนเกือบเท่ากับแคร์รอต จึงได้ทดลองนำลูกตาลสุกนำมาแปรรูปเป็น “ผงแป้งตาลโตนด” การนำเนื้อลูกตาลสุกมาทำให้แห้งเป็นผง เพื่อยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น แป้งตาลโตนดแบบผง สามารถใช้เป็นส่วนผสมของขนมไทยได้หลากหลายชนิด เช่น ขนมชั้น ขนมถ้วย ขนมปุ้ยฝ้าย ฯลฯ รับประกันรสชาติดีเยี่ยม หอมหวาน ปลอดภัย เพราะเป็นแป้งที่สกัดมาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์

ลูกตาลสุก
ปอกเปลือกผลตาลสุก

วิธีทำแป้งตาลโตนด เริ่มจากนำลูกตาลสุกมาล้างให้สะอาด ลอกเปลือกดำออกให้ เอาดีตาลออกเพื่อไม่ให้เนื้อตาลมีรสขม (ดีตาลมีลักษณะแข็งอยู่ระหว่างเม็ดลูกตาล) ยีลูกตาลกับน้ำทีละน้อย กรองด้วยตะแกรงตาถี่เพื่อกรองเอาเส้นใยออก เทใส่ผ้าดิบใช้เชือกผูกให้แน่น แขวนหรือหาของหนักทับไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นเกลี่ยเนื้อตาลในถาด นำเข้าตู้อบลมร้อน โดยใช้อุณหภูมิในการอบแห้ง 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 ชั่วโมง  บดแล้วผ่านตะแกรงร่อนขนาด บรรจุในถุงลามิเนต ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปทดแทนส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ขนมไทย เพราะจะทำให้ผสมกับส่วนผสมอื่นได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ การอบแห้งเนื้อตาลสุก จะเกิดการเปลี่ยนสีเมื่อเก็บไว้นาน โดยจะมีค่าความเข้มของสีลดลง ดังนั้น เพื่อป้องกันการเปลี่ยนสี เราสามารถให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส ตุ๋นเนื้อตาลสุกด้วยเวลาอย่างน้อย 5 นาที ก็สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เปอร์ออกซิเดสในเนื้อลูกตาลสุกได้ทั้งหมด

คั้นน้ำจากลูกตาลสุก
แป้งตาลโตนด

ขั้นตอนการให้ความร้อนกับเนื้อลูกตาลสุกก่อนทำแห้งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ทำให้สีของเนื้อลูกตาลสุกเกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้เวลาในการให้ความร้อนเพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณน้ำในวัตถุดิบลดลง เป็นผลให้ปริมาณของแข็งเพิ่มขึ้นจึงทำให้ค่าสีเพิ่มขึ้น แต่เวลาในการให้ความร้อนที่เพิ่มขึ้นไม่มีผลต่อปริมาณเบต้าแคโรทีนที่เหลืออยู่

โดยการเก็บแป้งตาลในสภาวะสุญญากาศสามารถรักษาสีและปริมาณเบต้าแคโรทีนได้ดีกว่าการบรรจุในบรรยากาศปกติ เพราะแป้งตาลที่เก็บในบรรยากาศปกติจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของเบต้าแคโรทีน ทำให้สีของแป้งตาลจางลง (โดยปกติสามารถเก็บได้นานมากกว่า 4 สัปดาห์)

ผงแป้งตาลโตนดที่อบแห้งแล้ว เก็บไว้ได้นาน
ขนมชั้นที่ผลิตจากแป้งตาลโตนด

ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการผลิตแป้งตาลโตนดแล้ว ผศ.ชไมพรได้ทดลองนำแป้งตาลโตนดไปทดแทนในส่วนผสมแป้งของขนมไทย 3 ชนิด คือ ขนมชั้น ขนมนํ้าดอกไม้ และขนมปุยฝ้าย เพื่อให้ได้สี และกลิ่นที่เหมาะสม ผลการศึกษาพบว่า การผสมแป้งตาลโตนดร้อยละ 10 ของปริมาณส่วนผสมแป้ง เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุดในการทําผลิตภัณฑ์ขนมไทยดังกล่าว โดยขนมไทยทั้งสามชนิดผ่านการยอมรับจากผู้ทดสอบชิมในด้านความชอบรวมสูงที่สุดทุกผลิตภัณฑ์ หากมีการเติมแป้งตาลโตนดในปริมาณมากขึ้นจะทำให้ขนมไทยมีลักษณะของสีเข้มและกลิ่นฉุนเกินไป และทำให้เนื้อสัมผัสแฉะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผ.ศ.ชไมพร เพ็งมาก อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่ โทร. 087-204-4941

นำมาทำขนมน้ำดอกไม้
นำแป้งตาลโตนดมาทำขนมปุยฝ้าย