“ปุ๋ยขี้วัวอัดแท่ง” ใช้ง่าย ขายง่าย ขนส่งสะดวก ยืดอายุปุ๋ยได้นานขึ้น แค่ฝังกลบใต้ต้น บำรุงดินร่วนซุย

ขอแสดงความยินดีกับ ผลงาน “ปุ๋ยขี้วัวอัดแท่ง” ของวิทยาลัยการอาชีพรัตนประสิทธิ์วิทย์ ที่ได้รับรางวัลระดับชาติ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล I-NEW GEN AWART Popular Vote 2024 และ เหรียญเงิน ระดับอาชีวศึกษา จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ในงาน “วันนักประดิษฐ์” กลุ่มการเกษตร ของสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567

ปุ๋ยขี้วัวอัดแห่ง (Cow Manure Fertilizer Pellets) เป็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) วิทยาลัยการอาชีพรัตนประสิทธิ์วิทย์ ได้แก่ นางสาวรัชนีวรรณ พามา นางสาวนัฐชยา จรูญรัตนกาญจนา นายกีรติ วรรณชัย และอาจารย์ที่ปรึกษา นายภาคภูมิ ประทุมวัน

ที่มาของแนวคิด เกิดจาก อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนให้เลี้ยงโคเนื้อตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างรายได้ เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะทิ้งมูลวัวตามท้องนา จึงเกิดปัญหาการจัดเก็บมูลวัวที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ คณะผู้วิจัยจึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนามูลโคเนื้อมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เพราะปุ๋ยเคมีมีราคาสูงขึ้นทุกปี ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย ทีมนักวิจัยจึงต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่หันกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่เป็นทรัพยากรในชุมชนเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ปุ๋ยขี้วัวอัดแท่ง เป็นนวัตกรรมการเกษตรที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ มีรูปแบบเป็นปุ๋ยอัดแท่งขนาดใหญ่ รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 5 เซนติเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 10 เซนติเมตร ความสูง 5-10 เซนติเมตร ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยขี้วัวอัดแท่งไม่ซับซ้อน โดยเกษตรกรสามารถนำมูลวัวหรือมูลควาย ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร นำมาอัดแน่นด้วยค้อนกระทุ้ง กลายเป็นปุ๋ยขี้วัวอัดแท่งที่ง่ายต่อการใช้งาน และทำใช้เองได้ในครัวเรือน

อาจารย์ภาคภูมิ กล่าวว่า การทำปุ๋ยขี้วัวอัดแท่ง ทำได้ไม่ยาก เริ่มจาก รวบรวมขี้วัวแห้งไปบ่มในน้ำเพื่อคลายก๊าซ และนำขี้วัวใส่ในบ่อซีเมนต์ประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อล้างแก๊ส และความร้อนก่อน จึงค่อยนำขึ้นจากบ่อไปตากให้แห้งอีกครั้ง ขั้นตอนการผสม ใช้ขี้วัวน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ใส่ปูนขาว น้ำสกัดชีวภาพ (อีเอ็ม) และน้ำ ผสมคลุกเคล้ากับแป้งเปียก 0.5 กิโลกรัม ให้เข้ากัน ก่อนใส่ในกระบอกสำหรับอัดแท่ง โดยขั้นตอนการอัด ใส่ขี้วัวในโมลแบ่งเป็น 3 ชั้น แล้วใช้ค้อนกระทุ้งชั้นละ 15 ครั้ง จึงนำปุ๋ยขี้วัวอัดแท่งออกจากโมล นำไปผึ่งให้แห้งในสภาพอากาศทั่วไป

ทีมนักศึกษาได้นำปุ๋ยขี้วัวอัดแท่งไปทดสอบในแปลงปลูกผักและไม้ยืนต้น โดยการฝังแท่งปุ๋ยขี้วัวรอบๆ โคนต้นไม้ระยะห่าง 1-2 เมตร พร้อมติดตามผลการย่อยสลายตัวของปุ๋ยในระยะเวลา 2 เดือน เก็บข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นไม้ รวมทั้งทดสอบสภาพความเป็นกรด-ด่างบริเวณที่ฝังปุ๋ยอัดแท่ง ผลการทดสอบพบว่า ปุ๋ยขี้วัวอัดแท่งช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุยได้ดีและมีวัชพืชลดลง เมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยขี้วัวแบบฝุ่นผง โดยการหว่านและโรยตามพื้นดิน

อาจารย์ภาคภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปุ๋ยขี้วัวอัดแท่งสามารถใช้กับไม้ผล ไม้ยืนต้นได้ทุกชนิด เช่น ทุเรียน มะขาม มะม่วง ฯลฯ บำรุงดินได้ดี ประหยัดต้นทุนกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี นวัตกรรมนี้สามารถยืดอายุการใช้งานปุ๋ย และสะดวกต่อการขนส่ง นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาการทิ้งขี้วัวที่ไม่ถูกสุขลักษณะได้ เกษตรกรทั่วไปหรือผู้เลี้ยงวัว สามารถนำแนวคิดนี้ไปผลิตปุ๋ยขี้วัวอัดแท่งเชิงการค้าได้เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า การขายปุ๋ยขี้วัวยกกระสอบแบบเดิม ที่เป็นลักษณะฝุ่นผง ยกตัวอย่าง รถ 1 คัน อาจบรรทุกปุ๋ยขี้วัวแบบเดิมได้คันละ 1 ตัน หากผลิตเป็นปุ๋ยขี้วัวอัดแท่ง จะขนส่งสินค้าได้มากกว่าเดิม และให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น หากลงทุนซื้อขี้วัว (น้ำหนักถุง 25 กิโลกรัม) ในราคา 30 บาท นำมาผลิตเป็นปุ๋ยขี้วัวอัดแท่ง ขายก้อนละ 2 บาท จะมีรายได้เพิ่มเป็นหลักร้อย หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับ อาจารย์ภาคภูมิ ได้ที่เบอร์โทร. 089-278-3050 (ในวันและเวลาราชการ)