ถังหมักขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ ใช้งานง่าย เก็บกลิ่น 2 เดือนเป็นปุ๋ย

จากลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่ยึดติดความสะดวกสบายของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้มีปริมาณขยะอินทรีย์เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ มากมาย เกิดเป็นปัญหาขยะล้นเมือง และปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ทั้งทางด้านทัศนียภาพ กลิ่น และแมลงพาหะนำโรค รวมถึงปัญหาด้านการขาดแคลนพื้นที่กำจัดขยะและวิธีการจัดการที่ไม่เหมาะสม

ในเมื่อเศษอาหารประจำวันที่ดูจะเพิ่มขึ้นทุกวัน กลายเป็นปัญหาของสังคม ทิ้งอย่างไร กำจัดอย่างไรก็ไม่รู้จักหมดสิ้น คงต้องใช้วิธีการนำเศษอาหารที่เป็นขยะประจำวันมาแปรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยใช้ปลูกพืชซะเลย งานนี้ประหยัดค่าปุ๋ย แถมได้พืชผักที่ปลอดภัยไว้รับประทานในบ้าน

ด้วย “ถังหมักขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ Zero organic waste” ผลงานของภาควิชาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นชุมชนในภาคตะวันออก พื้นที่ฝังกลบไม่สามารถรองรับขยะที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสุขภาพและอนามัย จึงกลายเป็นที่มาของการประดิษฐ์ถังหมักขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศขึ้นมา หรือที่เรียกว่า “ถังหมักขยะอินทรีย์ รักษ์โลก” นั่นเอง

วิธีใช้งาน

1. ใส่เศษใบไม้สดหรือแห้ง กากมะพร้าว ปุ๋ยคอก 1-2 กิโลกรัม โรยก้นถัง ก่อนใส่เศษอาหาร

2. โรยเชื้อ พด.1 ประมาณ 1-2 ช้อนชา หรือปุ๋ยคอกประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม ให้ทั่วเพื่อช่วยเพิ่มการย่อยสลาย

3. ทิ้งเศษอาหารได้ต่อเนื่อง หากมีกลิ่นหรือหนอน แก้ไขได้โดยเติมเศษใบไม้ลงในถัง

4. ขยะที่ย่อยยาก เช่น กระดูก เปลือกหอย หรือเปลือกไข่ สามารถทิ้งลงถังหมักได้ แต่ต้องใช้เวลาหมักเพิ่มขึ้น

5. ใช้เวลาหมักประมาณ 1-2 เดือน หลังจากทิ้งครั้งแรก สามารถเปิดฝาถังด้านล่างเพื่อนำปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดแห้งนำไปผสมดินปลูกได้เลย

6. ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักเพียงอย่างเดียว เพราะมีปริมาณธาตุอาหารสูงมาก อาจทำให้ต้นไม้ตายได้

7. ปุ๋ยชนิดน้ำต้องเจือจางก่อนนำไปใช้

ด้านในถัง

การหมักขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์

– สามารถเพิ่มจุลินทรีย์ เชื้อ พด. ของกรมพัฒนาที่ดินหรือจุลินทีย์ EM ที่มีจำหน่ายทั่วไป เพื่อช่วยให้การย่อยเกิดได้เร็วขึ้น

– ขยะที่ย่อยยาก เช่น กระดูก เปลือกหอย หรือเปลือกไข่ สามารถทิ้งลงถังหมักได้แต่ต้องใช้เวลาหมักเพิ่มมากขึ้น

– ถังหมักมีช่องเติมอากาศให้กับจุลินทรีย์ จึงไม่ต้องคลุกขยะ สามารถทิ้งขยะได้อย่างต่อเนื่อง

– ถังหมักขยะแบบนี้จะไม่มีกลิ่นขยะ แต่ถ้าใส่ขยะสดมากๆ เช่น เศษปลา อาจจะมีกลิ่น แก้ไขได้โดยเติมเศษใบไม้ลงไปในถัง

– อาจมีหนอนและแมลงจากการหมัก แม้ว่าเป็นระบบปิด ซึ่งอาจเกิดจากไข่ของหนอนและแมลงที่ติดมาจากเศษอาหาร

– ใช้เวลาหมักประมาณ 1-2 เดือนหลังจากทิ้งครั้งแรกสามารถเปิดฝาถังด้านล่างเพื่อนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้

– ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดแห้งนำไปผสมดินปลูกได้เลย ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักเพียงอย่างเดียว เพราะมีปริมาณธาตุอาหารสูงมาก

– ปุ๋ยชนิดน้ำต้องนำไปเจือจางก่อนนำไปใช้

ท่ออากาศภายในถัง สำหรับให้อากาศแก่จุลินทรีย์ใช้สำหรับย่อยขยะอินทรีย์

จุดเด่น

1. เป็นถังหมักขึ้นรูปจากพลาสติกชิ้นเดียวไม่มีรอยต่อ (อายุการใช้งาน 10 ปี) สูง 120 เซนติเมตร ถังส่วนบนสำหรับรองรับขยะ สูง 90 เซนติเมตร และถังส่วนล่างรองรับน้ำหมัก สูง 30 เซนติเมตร ถังแยกเป็น 2 ส่วน เพื่อความสะดวกในการขนส่งและการใช้งาน

2. ฝาทิ้งขยะด้านบนรองรับขยะอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่อง ขยะที่ผ่านการย่อยสลายแปรสภาพเป็นปุ๋ยจะอยู่ด้านล่างของถัง ซึ่งติดตั้งประตูไว้ด้านล่างของถังบนเพื่อนำปุ๋ยอินทรีย์จากการหมักออกมาใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องออกจากฝาด้านบน และติดตั้งก๊อกไว้ที่ถังรองรับน้ำหมักด้านล่าง

3. ภายในถังติดตั้งท่ออากาศ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.75 นิ้ว พร้อมติดตั้งฝาครอบรูปกรวยคว่ำจากก้นถังที่ระยะ 38 เซนติเมตร และ 68 เซนติเมตร เพื่ออัตราการย่อยสลายโดยไม่ต้องกลับกอง และเป็นช่องระบายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการย่อยสลาย

4. การย่อยสลายเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยแบคทีเรียกลุ่มที่ชอบอุณหภูมิสูง ปุ๋ยหมักนำไปใช้ได้ภายในระยะเวลา 1-2 เดือน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อาคาร 26 ชั้น 2 เลขที่ 199 หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โทร. 098-691-1228 หรือ 038-354-588