“เทคนิคสตูล” ส่งเสริมอาชีพชุมชนแนะวิธีผลิต “สบู่แผ่นล้างมือ” จากสารพรอพอลิส “รังผึ้งชันโรง”

ชันโรง เป็นผึ้งจิ๋วขนาดเล็กไม่มีเหล็กใน ชอบตอมเกสรดอกไม้ ระยะหาอาหารประมาณ 300 เมตร มีพฤติกรรมเก็บน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรของพืชที่ใช้เป็นอาหารแตกต่างจากผึ้ง โดยจะเก็บเกสรดอกไม้ ร้อยละ 80 เก็บน้ำหวาน ร้อยละ 20 ในขณะที่ผึ้งเก็บเกสรดอกไม้ ร้อยละ 50 และน้ำหวานร้อยละ 50

น้ำผึ้งชันโรง โดดเด่นเรื่องกลิ่นหอม รสอร่อยเปรี้ยวอมหวาน เป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูงจากการผสมผสานจากดอกไม้นานาพันธุ์รวมไปถึงน้ำหวานจากพืชสมุนไพร รังผึ้งชันโรง 1 รังสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 500-750 มิลลิลิตร จำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงในราคาลิตรละ 1,000-1,600 บาท ชันโรงสามารถผลิตน้ำผึ้งได้  2-3 ครั้งต่อปี

ผึ้งชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า น้ำผึ้งชันโรงและรังของชันโรงมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อราหรือจุลินทรีย์ต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง หรือแผลอักเสบ ดังนั้น น้ำผึ้งชันโรงและรังของชันโรงจึงถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริม ยาและเวชสำอาง สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม รักษาเหงือกอับเสบ และแก้อักเสบผิวหนัง ฯลฯ

จังหวัดสตูลมีการเลี้ยงชันโรงอย่างแพร่หลาย มีการจัดตั้งกลุ่มที่ชัดเจนและมีการจำหน่ายน้ำผึ้งจากผึ้งชันโรง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ที่นี่มีแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเนื่องจากอยู่ใกล้กับป่าต้นน้ำหัวกาหมิง อีกทั้งยังเป็นรอยต่อน้ำตกโตนงาช้าง ผึ้งที่นี่จึงมีมากกว่า 9 สายพันธุ์ โดยเฉพาะผึ้งชันโรงปากหมู (Geniotrigona thoracica) ให้ผลผลิตมากที่สุดครั้งละ 1.5-2  กิโลกรัม และเป็นสายพันธุ์ที่ผลิตชัน (พรอพอลิส) ออกมาในปริมาณที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

รังของผึ้งชันโรง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านหัวกาหมิง” เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านในชุมชนที่ทำเกษตรเป็นอาชีพหลักและเลี้ยงผึ้งเป็นรายได้เสริม ชุมชนแห่งนี้เลี้ยงผึ้งชันโรงจำนวน 9 สายพันธุ์ เช่น ผึ้งชันโรงปากแตรใหญ่ ผึ้งชันโรงปากหมู ผึ้งชันโรงอิตาม่า ชันโรงรุ่งอรุณ ชันโรงพันธุ์ปากแตรเล็ก ชันโรงพันธุ์เบนอามี ฯลฯ ช่วยผสมเกสรให้กับสวนผลไม้ที่มีในท้องถิ่น เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด จำปาดะ ทำให้ชาวบ้านมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ในช่วงฤดูผลไม้เกษตรกรสามารถเก็บน้ำผึ้งได้บ่อยขึ้นคือ ทุกๆ 15 วัน ทั้งนี้ โดยทั่วไปเกษตรกรสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ 12-15 กิโลกรัมต่อเดือน

ที่ผ่านมา วิทยาลัยเทคนิคสตูล เข้ามาอบรมความรู้ให้ชาวบ้าน เพิ่มมูลค่าเพิ่มน้ำผึ้งที่เหลือจากการขาย โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่น้ำผึ้งชันโรง โลชั่นน้ำผึ้ง เครื่องประทินผิวต่างๆ ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้ เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศเข้ามาศึกษาดูงานการเลี้ยงผึ้งตลอดทั้งปี

ทีมนักวิจัยของวิทยาลัยเทคนิคสตูล

วิทยาลัยเทคนิคสตูล ได้ศึกษาข้อมูลพบว่า พรอพอลิส (Propolis) มีสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และสารต้านอนุมูลอิสระจากพืชที่มีคุณสมบัติต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา มีคุณสมบัติยับยั้งการอักเสบได้ดี ทีมนักวิจัยได้ศึกษาแนวทางแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม “พรอพอลิส” ที่ได้จากผึ้งชันโรงปากหมู ในรูปแบบผลิตภัณฑ์สบู่แผ่นล้างมือจากสารสกัดพรอพอลิสของรังผึ้งชันโรง รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้ชุมชน แก้ปัญหาความยากจน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์สบู่แผ่นล้างมือจากสารสกัดพรอพอลิสของรังผึ้งชันโรง

วิธีการผลิต “ผลิตภัณฑ์สบู่แผ่นล้างมือ”

ส่วนผสมสำคัญได้แก่ – กลีเซอรีน – สารสกัดพรอพอลิสจากรังผึ้งชันโรงสายพันธุ์ผึ้งชันโรงปากหมูและน้ำหอม

วิธีทำ

1. ใช้เตาไฟฟ้าละลายกลีเซอรีนด้วยวิธีการตุ๋น จนเป็นของเหลวใส เติมสารสกัดพรอพอลิสในสารละลายเอทานอล โดยใช้อัตราส่วนระหว่างกลีเซอรีน : สารสกัดพรอพอลิสในลารละลายเอทานอล เท่ากับ 400 : 20 มิลลิลิตร

2. เติมน้ำหอม 10 หยด ลงในส่วนผสมข้อที่ 1.

3. เทลงแบบพิมพ์ ใช้แผ่นกวาดเกลี่ยผิวหน้าของสบู่ให้พอดีกับแบบพิมพ์

หากใครสนใจผลิตภัณฑ์สบู่แผ่นล้างมือ จากสารสกัดพรอพอลิสของรังผึ้งชันโรง ติดต่อสั่งซื้อได้ทาง Facebook : BIO-products of STTC shop และ Line ID : nususci โทร. 094-584-0749

ผลิตภัณฑ์สบู่แผ่นล้างมือจากสารสกัดพรอพอลิสของรังผึ้งชันโรง

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก Facebook : อาชีวะ Marketplace

และ Facebook : งานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยเทคนิคสตูล