เลี้ยงแพะเสริมรายได้ ช่วงพักกรีดยาง ได้มูลแพะใส่ต้นยางพารา ช่วยลดต้นทุนการผลิต มีกำไรเพิ่มขึ้น

คุณวันดี สอนฮุง ยึดอาชีพทำสวนยางพารามากว่า 10 ปี ต่อมาได้เลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการทำสวนยางพารา โดยในช่วงแรกเน้นเลี้ยงแบบขุนเพื่อส่งขายให้กับพ่อค้า และพัฒนาการเลี้ยงมาเรื่อยๆ เน้นผสมพันธุ์สำหรับขายลูกแพะ จนเกิดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

คุณวันดี สอนฮุง

คุณวันดี เล่าว่า บนเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาปลูกยางพารา คุณวันดีจึงได้แบ่งพื้นที่นาบางส่วนมาปลูกยางพารา ประมาณ 10 ไร่ และพื้นที่ที่เหลือยังทำนาอยู่เช่นเดิม เมื่อต้นยางพาราเจริญเติบโตจนสามารถกรีดให้น้ำยางเป็นผลผลิตได้ จึงยึดเป็นอาชีพหลักเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และช่วงที่ยางผลัดใบที่ต้องมีการพักการกรีด จึงได้หาแพะมาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ในเวลาต่อมา 

“การเลี้ยงแพะเริ่มแรกเลยคือลูกชาย เขาก็มาบอกว่าเห็นที่อื่นเลี้ยงแล้วขายได้ ก็เลยหานำมาเลี้ยง โดยช่วงแรกเน้นเลี้ยงเป็นแบบแพะขุนขายก่อน ก็ประสบผลสำเร็จดี แต่ด้วยปริมาณแพะที่เยอะขึ้นทำให้พื้นที่อีก 7 ไร่ที่เคยทำนาปรับมาปลูกหญ้าเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงแพะขุนแทน พอตลาดเริ่มนิ่งสามารถขายได้ดี ก็เลยเกิดแนวความคิดใหม่ เลี้ยงแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกพันธุ์ขาย น่าจะตอบโจทย์มากกว่า และยังสามารถปล่อยเลี้ยงในสวนยางพาราได้อีกด้วย” 

ปล่อยแพะในสวนยางพารา

การปล่อยแพะเลี้ยงภายในสวนยางพารา คุณวันดี บอกว่า ต้องเป็นสวนยางพาราที่ต้นเจริญเติบโตใหญ่เต็มที่พร้อมสำหรับกรีดให้น้ำยางแล้ว ถ้าหากปล่อยเลี้ยงในสวนต้นยางพาราปลูกใหม่และมีขนาดต้นที่ยังเล็กอยู่นั้น แพะจะกินใบยางพาราจนหมดทำให้เกิดความเสียหายได้

เมื่อการเลี้ยงแพะสามารถทำรายได้แน่นอน เปลี่ยนจากแปลงปลูกข้าวนำมาปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงแพะแทนทั้งหมด และส่วนที่เป็นสวนยางพารายังคงไว้เหมือนเดิม โดยใช้เป็นพื้นที่วิ่งเล่นและให้แพะหาหญ้ากินเป็นอาหาร พร้อมทั้งมีการแบ่งโซนสำหรับสร้างโรงเรือนให้แพะนอนอย่างเป็นสัดส่วน ทำให้ง่ายต่อการจัดการ และที่ยิ่งไปกว่านั้น มูลแพะที่ได้จากการเลี้ยงยังสามารถเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับต้นยางพารา ทำให้ต้นทุนการใส่ปุ๋ยเคมีในสวนของเขาลดลงตามไปด้วย

มูลแพะที่ใช้ทำปุ๋ย

“อาหารที่ให้แพะกินก็จะเป็นหญ้าที่ปลูกเองเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาก็จะเป็นหญ้าธรรมชาติภายในสวนยางพารา และเสริมเข้าไปก็เป็นพืชอื่นๆ ที่หาได้จากท้องถิ่น พอแพะได้กินหญ้าก็จะขับถ่ายออกมา มูลที่ได้ตัวนั้นเป็นปุ๋ยชั้นดี นำมาใส่ให้กับต้นยางพาราเราทั้งหมด 10 ไร่ ไว้ใช้ภายในสวนเอง จากสมัยก่อนต้องใช้ปุ๋ยเคมีให้กับต้นยางพาราประมาณ 30 กระสอบ พอมาเลี้ยงแพะใช้มูลแพะเป็นปุ๋ยแทน ปุ๋ยเคมีที่ใช้ก็ลดเหลือแค่ 10 กระสอบ ใส่ไร่ละ 1 กระสอบเท่านั้น ต้นยางพาราให้น้ำยางดีไม่แพ้กัน” 

ในเรื่องของการผสมพันธุ์ให้ได้ลูกแพะนั้น คุณวันดี บอกว่า จะปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ โดยภายในฝูงที่เลี้ยงจะมีพ่อพันธุ์ไว้คุมตัวเมียทั้งหมด โดยอายุที่เหมาะสมสำหรับผสมพันธุ์จะต้องให้แม่พันธุ์มีอายุอย่างต่ำ 8 เดือนขึ้นไป ส่วนพ่อพันธุ์มีอายุอย่างต่ำ 1 ปี

แปลงหญ้าที่ปลูกเอง

สำหรับการผสมพันธุ์นั้นหลังจากที่แม่พันธุ์ผสมพันธุ์ติดแล้ว รอตั้งท้องประมาณ 5 เดือน ก็จะคลอดลูกออกมา ระยะนี้ไม่ต้องแยกลูกและแม่แพะออกจากฝูง สามารถเลี้ยงรวมภายในฝูง ให้เดินเล่นในแปลงหญ้าและสวนยางพาราได้ตลอดเวลา ลูกแพะดูแลไปเรื่อยๆ จนได้อายุ 6-7 เดือน จะโตและมีน้ำหนักที่ต้องการอยู่ที่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถขายเป็นลูกพันธุ์ให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อได้ทันที

“เรื่องของการป้องกันโรคของแพะ มีการจัดการตามโปรแกรมอยู่เสมอ โรคหลักๆ ก็จะทำวัคซีนป้องกันปากเปื่อยเท้าเปื่อยปีละ 2 ครั้ง ส่วนการป้องกันพยาธิจะฉีดเดือนละ 1 ครั้ง มีการจัดการทำโปรแกรมที่ดี ก็สามารถช่วยให้แพะที่เลี้ยงมีสุขภาพที่ดีห่างไกลจากโรคต่างๆ” 

การทำตลาดช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยง คุณวันดี บอกว่า ยังไม่ได้คิดว่าจะขายได้ดีขนาดนี้ ที่นำมาเลี้ยงก็เพื่อไว้เป็นกิจกรรมยามว่างสร้างความสุข แต่เชื่อมั่นในลูกชายที่บอกว่าตลาดค้าขายแพะยังไปได้ไกล เมื่อเลี้ยงมาเรื่อยๆ เริ่มมีจำนวนที่มากขึ้น ก็มีพ่อค้าเข้ามาติดต่อขอซื้ออยู่เรื่อยๆ จนทำให้เกิดกำลังใจว่าสิ่งที่ลงมือทำสามารถสร้างเงินได้ดี

“พอเลี้ยงไปเกิดขายได้ขึ้นมาจริงๆ เรียกได้ว่ามีเท่าไหร่เขารับซื้อหมด มันก็ทำให้ได้เห็นจำนวนเงินขึ้นมาจริงๆ เรียกได้ว่าตลาดแพะยังไปได้ดี เพราะดูได้จากมีลูกค้าโทร. มาเช็กอยู่เสมอว่าแพะมีจำนวนพร้อมขายได้รึยัง ซึ่งเราเองก็ทำตลาด 2 แบบ ถ้าตัวไหนมีทรงที่สวยๆ ก็จะขายเป็นแพะเพื่อให้เขานำไปเลี้ยงต่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ส่วนตัวไหนที่ไม่สวยก็จะส่งขายเป็นแพะขุน สร้างรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น” คุณวันดี บอก

โดยแพะขุนราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 100-120 บาท น้ำหนักตัวอยู่ที่ 20 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนแพะที่ทรงสวยขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 4,000 บาท ซึ่ง ณ เวลานี้จำนวนแพะที่มีภายในฟาร์มผลิตไม่พอขาย 

จากการนำแพะมาเลี้ยงภายในสวนยางพารา คุณวันดี บอกว่า นอกจากทำรายได้จากการขายแล้ว เมื่อแพะเดินเข้าไปภายในสวนยางพารายังไปคอยกินหญ้าและวัชพืชต่างๆ ทำให้ภายในสวนไม่มีวัชพืช พร้อมทั้งมูลที่ถ่ายออกมาก็เป็นปุ๋ยให้กับต้นยางพาราต่อไป เลี้ยงแพะก็ทำรายได้พร้อมทั้งได้ผลผลิตจากยางพารา ปลูกแบบลดต้นทุนในเรื่องของการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย

“สำหรับผู้ที่ทำสวนยางพาราหรืออยากจะมีอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ควบคู่ไปกับงานหลัก อยากจะบอกว่าการเลี้ยงแพะก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยเริ่มแรกถ้ามีทุนน้อยๆ อาจจะเริ่มเลี้ยงไม่มากก่อน พร้อมศึกษาอุปนิสัยของเขา และเมื่อรักและชอบทำได้จนประสบผลสำเร็จ ก็พัฒนาขยายพันธุ์ขึ้นไปเรื่อยๆ รายได้จากการเลี้ยงแพะก็สามารถทำเงินให้ได้อย่างแน่นอน และที่สำคัญในเรื่องของปุ๋ยจากมูลแพะ นำมาใส่ในสวนยางพาราประหยัดต้นทุนหลายต่อ”  

สำหรับท่านใดสนใจการเลี้ยงแพะในสวนยางหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณวันดี สอนฮุง ฟาร์มตั้งอยู่ที่ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬเติม หมายเลขโทรศัพท์ 061-165-1929