เทคนิคการปลูก มะยงชิด-มะปรางหวาน ให้ได้ผลผลิตดี เป็นที่ต้องการของตลาด

การปลูกมะยงชิดหรือมะปรางหวานเป็นการค้านั้น ควรเป็นแหล่งที่มีฤดูฝนสลับฤดูแล้ง (หนาวและร้อน) ที่เด่นชัด เพราะช่วงแล้งดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อการออกดอกของมะปราง ซึ่งช่วงดังกล่าวจะช่วยทำให้ต้นมะปรางมีการพักตัวชั่วคราว ชะงักการเจริญเติบโตทางใบและกิ่ง ถ้ามีอุณหภูมิต่ำหรืออากาศเย็นจะช่วยให้มะปรางออกดอกติดผลได้ดียิ่งขึ้น

อุณหภูมิเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการแทงช่อดอก การติดผล และระยะเวลาการสุกของผลมะปราง คือ ถ้าอุณหภูมิต่ำและมีช่วงระยะเวลาของอุณหภูมิต่ำนานพอสมควร จะทำให้มะปรางออกดอกและติดผลได้ดีขึ้น และหลังจากมะปรางติดผลแล้ว ถ้าแหล่งปลูกมะปรางมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็ว จะมีผลให้มะปรางแก่หรือสุกเร็วกว่าในแหล่งที่มีอุณหภูมิต่ำ

หลายคนคงไม่ทราบว่า จังหวัดพิจิตรเป็นแหล่งผลิตมะยงชิดพันธุ์ดีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เฉพาะเขตพื้นที่ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก มีพื้นที่ปลูกมะยงชิดพันธุ์ดี ประมาณ 2,000 ไร่ ผลผลิตมะยงชิดของจังหวัดพิจิตรเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะผลใหญ่ เนื้อแข็ง และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลผลิตส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าเป็นจำนวนมากมารับซื้อเพื่อขายตลาดในประเทศ 

การปลูกมะยงชิด การเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่มีความสำคัญมาก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเลือกพันธุ์ก็คือ เป็นพันธุ์ที่ติดผลง่าย ผลมีขนาดใหญ่ เมล็ดเล็ก เนื้อแน่น รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเนื้อแน่นจะได้เปรียบมะยงชิดจากแหล่งอื่น เพราะถ้าเนื้อแน่นจะสามารถวางขายผลผลิตในตลาดได้ยาวนาน

สำหรับผู้สนใจปลูกมะยงชิดมือใหม่หลายรายมักประสบปัญหาต้นมะยงชิดย่อยตายหลังปลูกได้ไม่นาน บางรายปลูกไปแล้ว 1-2 ปี แต่ต้นมะยงชิดก็ยังไม่ยอมเจริญเติบโต ปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจถึงเรื่องการปลูกและการดูแลต้นมะยงชิดในระยะเล็ก จึงได้รวบรวมเคล็ดลับต่างๆ ในการดูแลมะยงชิดในระยะเริ่มแรก โดยสอบถามจากชาวสวนที่ประสบความสำเร็จพอสรุปได้ดังนี้

การเลือกกิ่งพันธุ์ที่ใช้ระบบรากต้องดี มะยงชิดเป็นพืชที่มีรากน้อยมาก โดยเฉพาะต้นที่มีอายุน้อยจะมีรากเพียง 3-4 เส้นเท่านั้น ดังนั้น ถ้ากิ่งพันธุ์มีระบบรากไม่ดีพอ มักพบปัญหาปลูกแล้วยืนต้นตายหลังแตกใบอ่อนได้เพียงชุดเดียว หรือบางครั้งต้นแคระแกร็นไม่ยอมแตกใบอ่อน แม้จะดูแลดีก็ตาม วิธีเลือกกิ่งพันธุ์ที่ดีจะต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ที่มีรากแก้ว การเจริญเติบโตจะดีมาก

ระยะปลูกให้เหมาะสมที่แนะนำคือ 8×8 เมตร โดยในช่วงแรกอาจปลูกแซมพืชอื่นไปก่อน เพราะกว่ามะยงชิดจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 5-8 ปี และผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของต้น ซึ่งโดยปกติแล้วชาวสวนจะมีเคล็ดลับและวิธีการดูแลต้นมะยงชิดให้ออกดอกติดผลต่างกัน ที่จะมีการแต่งกิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 

ตัดแต่งกิ่งที่แห้งตาย กิ่งที่เบียดชิดกัน และกิ่งที่อยู่ในร่มเงา ตัดแต่งเสร็จใส่ขี้วัวเก่า ต้นละ 2-3 กระสอบปุ๋ย ส่วนปุ๋ยเคมีจะใช้สูตร 8-24-24 อัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม โดยใส่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับต้นก่อนการออกดอก

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และมีอากาศหนาวเย็นติดต่อกัน 7-10 วัน ยอดของมะยงชิดจะพัฒนาเป็นตาดอก และจากระยะดอกจนถึงเก็บผลผลิตจะใช้ระยะเวลาเพียง 85-90 วัน ในแต่ละปีมะยงชิดจะออกดอก 2-3 รุ่น รุ่นแรก ฃจะออกดอกเดือนพฤศจิกายน และเก็บผลผลิตประมาณปลายเดือนมกราคม รุ่นที่สองจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม เก็บผลผลิตช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

หลังจากเริ่มแทงช่อดอกจะต้องดูแลเป็นพิเศษทางดิน จะต้องเริ่มให้น้ำ 5-7 วันต่อครั้ง จนกว่าผลอ่อนมะยงชิดมีขนาดเท่าหัวแม่มือก็จะเริ่มงดน้ำ ในเรื่องสารเคมีจะต้องพ่นสารเคมีในกลุ่มของกำจัดโรคและแมลงตั้งแต่ระยะเริ่มแทงช่อดอก ศัตรูที่พบมากที่สุดคือเพลี้ยไฟ และโรคที่สำคัญคือโรคแอนแทรกโนส 

การควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้ได้และต้องเลือกใช้สารเคมีที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP สารเคมีที่แนะนำให้ฉีดป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟคือ สารอะบาเม็กติน จะฉีดพ่น จำนวน 2 ครั้ง คือระยะก่อนดอกบาน และหลังดอกโรย ในช่วงดอกบานจะไม่ฉีดพ่นสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น

โรคแอนแทรกโนส จะใช้สารในกลุ่มโปรคลอราซ ฉีดในช่วงก่อนดอกบาน ส่วนหลังจากดอกโรยจะใช้สารแมนโคเซบ และสารโปรคลอราซ สลับกัน ฉีดพ่นจนกว่าผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือถึงระยะสลัดผลก็หยุดฉีด จะไม่นิยมใช้ปุ๋ยหรือฮอร์โมนเร่งขนาดของผลเลย เพราะการใช้ปุ๋ยเร่งมากๆ จะทำให้เนื้อของมะยงชิดเละไม่แน่น

การเก็บผลผลิตมะยงชิดพันธุ์ดีจะต่างกันแล้วแต่ความต้องการของตลาด ถ้าเป็นตลาดในประเทศจะเก็บที่ความแก่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ คือเก็บไปแล้วรับประทานได้เลย โดยสังเกตจากผิวจะต้องออกเหลืองส้มเกือบทั้งผล รสชาติจะหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย 

แต่ถ้าเก็บส่งตลาดต่างประเทศจะต้องเก็บที่ความแก่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ คือผิวจะออกสีจำปาแต่ยังไม่ทันแดง เพราะการส่งตลาดต่างประเทศใช้ระยะเวลานานต้องผ่านหลายขั้นตอน ตัวอย่างประเทศในเขตยุโรป ต้องใช้เวลาในการผ่านกระบวนการต่างๆ ประมาณ 7 วัน ถ้าเก็บที่ความแก่เต็มที่เมื่อถึงปลายทางเนื้อจะเละวางขายได้ไม่นาน