พลัม คนไทย เรียกว่า ลูกไหน ช่วยชะลอวัย ป้องกันมะเร็ง

ลูกไหน ฝรั่งเรียกว่า พลัม (Plum) ชื่ออื่นๆ ลูกพรุน ไม้ผลที่มีผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ตรงหน่อมีตายอดและตาข้างเดี่ยว (ไม่เป็นกลุ่ม) ดอกออกเป็นกลุ่ม 1-5 ดอกบนก้านสั้นๆ ผลมีร่องยาวด้านข้าง และเมล็ดเรียบ เมื่อผลโตเต็มที่มีมีนวลสีขาวปกคลุม เมื่อสุกเปลือกสีม่วงอมดำ เนื้อสีเหลือง รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว

ถิ่นกำเนิด

พลัม เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในสหราชอาณาจักร หรือประเทศอังกฤษ ลูกไหนที่ปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก กลุ่มพันธุ์ยุโรป กลุ่มที่สอง กลุ่มพันธุ์ญี่ปุ่น และกลุ่มที่สาม กลุ่มพันธุ์อเมริกา สำหรับพลัมที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพวกพลัมญี่ปุ่น ซึ่งปลูกกันมานานแต่ยังไม่แพร่หลาย ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงได้นำเอาพลัมพันธุ์ Gulf Ruby จากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทดสอบที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางในปี พ.ศ. 2522 และได้วิจัยและพัฒนาจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ทำให้พลัมเป็นไม้ผลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นอาชีพชนิดหนึ่ง แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ แม่ปูนหลวง แกน้อย และอ่างขาง

ลักษณะทั่วไป

ประเทศไทยปลูกลูกพลัมได้ดีบนดอยสูงภาคเหนือของไทย เช่น โครงการหลวงดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์ และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกได้ดี คือกลุ่มพันธุ์ญี่ปุ่น เช่น พันธุ์กัลฟ์ ผลมีสีม่วงอมแดง พันธุ์กัลฟ์โกลด์ ผลสีส้ม พันธุ์เหลืองบ้านหลวง ผลสีเหลือง พันธุ์แดงบ้านหลวง ผลสีม่วงเข้ม และพันธุ์จูหลี่ ผลสีแดง ซึ่งทุกพันธุ์มีเนื้อในสีเหลือง

ต้นพลัมเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง เช่นเดียวกับท้อและพลับ ต้นลูกไหนเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน และดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ต้องการดินที่เป็นกรดอ่อนถึงเป็นกลาง เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีทั้งปลูกในสภาพร่มและแสงแดดจ้า แต่ต้องได้รับอุณหภูมิไม่ร้อนจัด ต้นพลัมมีดอกเป็นชนิดดอกสมบูรณ์ เพศคือมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม การผสมเกสรข้ามต้นจะช่วยให้ติดผลได้ดีกว่าการผสมเกสรในต้นเดียวกัน

ต้นพลัมจะออกดอกในเดือนมกราคม และผลสุกแก่สามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนมิถุนายน เนื้อในของผลต้นพลัมมีสีเหลืองอ่อนเกือบทุกพันธุ์ อ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอม รสชาติมีทั้งหวาน เปรี้ยวอมหวาน และเปรี้ยว ส่วนผิวนอกมีสีแดงไปจนถึงสีม่วงเข้ม ขนาดผลเฉลี่ยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5-5.0 เซนติเมตร เมล็ดในแข็ง มีขนาดเล็กกว่าเมล็ดท้อและเนคทารีน ดอกและผลจะออกตามกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวจำนวนมาก ผิวเปลือกมันไม่มีขน

วิธีปลูกและดูแลรักษาต้นพลัม

ใช้ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว 4 เมตร เท่ากัน ดังนั้น ใน 1 ไร่ ปลูกได้ 100 ต้น ปลูกต้นตอพันธุ์พื้นเมืองในหลุมที่ขุดไว้ กว้างและลึก 50-70 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยหญ้าแห้ง คลุกดินขุดจากหลุมกับปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักที่หมักได้ที่แล้ว ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แนะนำให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 2 ช้อนโต๊ะต่อหลุม เกลี่ยดินกลบต้นตอที่ฉีกถุงเพาะชำออกก่อน กลบดินตบเป็นหลังเต่าพอแน่น ปักไม้ไผ่ผูกเชือกกันลมพัดโยก ช่วงปลูกต้นตอควรปลูกในต้นฤดูฝน เมื่อต้นตอตั้งตัวดีแล้ว จึงเปลี่ยนยอดด้วยลูกไหนพันธุ์ดีที่อธิบายมาแล้วข้างต้น เลี้ยงยอดให้เป็นต้นเดี่ยว เมื่อมีความสูง 50 เซนติเมตร ตัดแต่งให้เหลือ 2-3 กิ่ง เพื่อเป็นโครงสร้างหลัก ต่อจากนั้นจึงเป็นทรงฝาชีหงาย ภายใน 2-3 ปี ต้นพลัมจะเริ่มติดผล

การตัดแต่งกิ่ง : ทรงต้นที่เหมาะสมควรจะเป็นแจกันหรือเป็นพุ่มแจ้ ตัดแต่งกิ่ง 2 ครั้ง ในรอบปี ครั้งแรกตัดแต่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้ตัดกิ่งแห้ง กิ่งหัก และเป็นโรคเผาทำลายทิ้ง ครั้งที่สอง ตัดแต่งในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ วัตถุประสงค์เพื่อตัดสางกิ่งที่มีมากเกินไปออก

การปลิดผล ควรปลิดผลควรปลิดให้เหลือผลห่างกันประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผลที่อยู่เป็นกลุ่มๆ ควรปลิดออกให้เหลือเพียงผลเดียว

การใส่ปุ๋ย : ในระยะการเจริญเติบโตหลังปลูกใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15, 16-16-16 หรือ 13-13-21 ใส่ในตอนต้นฤดูฝนอัตราประมาณ 0.4, 0.8, 1.2, 1.6 กิโลกรัมต่อต้นในปีที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ อาจเสริมปุ๋ยเดี่ยวไนโตรเจน เช่น 46-0-0 ตอนกลางฤดูฝนอัตราประมาณ 0.2, 0.3, 0.4, 0.5 กิโลกรัมต่อต้น ในปีที่ 1, 2, 3 และ 4 เช่นเดียวกัน

ระยะเก็บเกี่ยว ดีที่สุดคือ ผลสุกแก่มีสีแดงจัดหรือสีส้ม ขึ้นอยู่กับพันธุ์

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ โรคราสนิม โรคราแป้ง โรคแอนแทรกโนส โรคใบรู เพลี้ยไฟ แมลงวันทอง โรคสำคัญ เช่น โรคราสนิม ราแป้ง และแอนแทรกโนส แมลงที่พบเสมอคือ เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน และแมลงวันผลไม้

วิธีป้องกันกำจัด ให้รักษาความสะอาดในแปลงและตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เก็บผลที่ร่วงหล่นใต้ต้น เผาหรือฝังทำลาย ในที่สุดโรคแมลงศัตรูจะหมดไป

การใช้ประโยชน์

พลัม ช่วยในการชะลอวัย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ป้องกันและต่อต้านมะเร็ง ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ฯลฯ