ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
ในประเทศไทยมีความต้องการ “ว่านน้ำ” เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณ รวมทั้งในการสกัดน้ำมันว่านน้ำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม โดยนำ ว่านน้ำ มาแปรรูปเป็นน้ำมันหอมระเหยใช้แต่งกลิ่นเบียร์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยอาศัยไกโคลไซด์ที่ทำให้เกิดรสขม และใช้ในป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด
ว่านน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acorus calamus Linn. ชื่อสามัญ Mytle Grass, Sweet Flag จัดอยู่ในวงศ์ Araceae มีชื่ออื่นคือ คงเจี้ยงจี้ ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวน้ำ ฮางคาวบ้าน (ภาคเหนือ) ตะไคร้น้ำ (เพชรบุรี) ทิสีปุตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ว่านน้ำ ว่านน้ำเล็ก ฮางคาวผา (เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ว่านน้ำมีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นแท่งค่อนข้างแบน ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร เป็นพืชที่มีอายุหลายปี มีใบแข็งตั้งตรง รูปร่างแบนเรียวยาวคล้ายใบดาบฝรั่ง ปลายใบแหลม แตกใบเรียงสลับซ้ายขวาเป็นแผง ใบค่อนข้างฉ่ำน้ำ ดอกมีสีเขียวมีขนาดเล็กออกเป็นช่อ มีจำนวนมากอัดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก มีก้านช่อดอกลักษณะคล้ายใบ ทั้งใบ เหง้า และรากมีกลิ่นหอมฉุน ชอบขึ้นตามที่น้ำขัง หรือที่ชื้นแฉะ สามารถพบว่านน้ำ ได้ตามร่องคลองคูทั่วไปทุกจังหวัด
วิธีการปลูกและดูแลรักษา
ว่านน้ำปลูกได้ดีในดินเลน ชื้นแฉะ มีน้ำท่วม ริมบ่อน้ำ ร่องสวนก็ได้ การปลูกโดยการตัดต้นพันธุ์หรือเหง้าให้มีข้ออย่างน้อยท่อนละ 1 ข้อ ปักชำในกระบะทราย เมื่อเริ่มงอกแล้วจึงแยกไปปลูก หรือนำท่อนพันธุ์ไปปักดำเหมือนอย่างดำนาประมาณ 1 สัปดาห์ จะเห็นเป็นใบอ่อนแตกออกมา
ว่านน้ำชอบแสงแดดรำไร จะทำให้มีใบยาว 80 เซนติเมตรขึ้นไป ใบสีเขียวเข้ม แต่ถ้าปลูกในที่มีแสงแดดจัดเกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน จะมีใบสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร ใบจะมีสีออกเขียว-เหลือง และเจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน เมื่อเข้าปลายฤดูฝนเหง้าที่มีอายุ 7-8 เดือน จะเริ่มมีใบแห้ง เริ่มจากเหง้าข้อที่ 1 ไปเรื่อยๆ จะเหลือใบสดเฉพาะปลายเหง้าที่ทอดขนานดินในข้อที่ 3-5 จากปลายยอด ในช่วงนี้ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานาน เหง้าเหล่านี้จะแห้งตายไป แต่ถ้ามีน้ำอยู่ เหง้าเหล่านี้ยังคงสดอยู่และแตกรากและใบใหม่ในฤดูฝนต่อไป
การกำจัดวัชพืชไม่มีปัญหา เนื่องจากการขยายทอดขนานพื้นดินของว่านน้ำ ทำให้วัชพืชมีน้อยลง ทั้งนี้หากใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 จะทำให้ต้นว่านน้ำมีใบมากและยาว เหมาะสำหรับนำไปใช้อบไอน้ำ ถ้าใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ลักษณะของเหง้าจะใหญ่กว่าการใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ความยาวของใบสั้นกว่า เหมาะสำหรับการนำเหง้าว่านน้ำไปใช้ในเภสัชตำรับ สำหรับโรคและแมลง ส่วนใหญ่จะพบเพลี้ยแป้งและราแป้งขาวในช่วงที่มีความแห้งแล้งมาก
วิธีการเก็บเกี่ยวและเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
สามารถเก็บเกี่ยวใบว่านน้ำมาใช้ได้หลังจากปลูกแล้วไม่ต่ำกว่า 8 เดือน เพื่อการสะสมของน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยในใบ ประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์ และในเหง้าประมาณ 1.7 เปอร์เซ็นต์
การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
ในเหง้าของว่านน้ำ จะมีน้ำมันหอมระเหยชนิด acalamol aldehyde ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลงโดยออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง ขับไล่แมลง หยุดชะงักการกิน และยับยั้งการสืบพันธุ์ของแมลง เช่น แมลงวันแตง แมลงวันทอง ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ผัก แมลงในโรงเก็บ ด้วงงวงช้าง ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว มอดตัวป้อม มอดข้าวเปลือก แมลงกัดกินผัก
4 เคล็ดลับแปรรูปว่านน้ำกำจัดศัตรูพืช
วิธีที่ 1
1. นำเหง้าว่านน้ำ จำนวน 30 กรัม มาบดหรือโขลกให้ละเอียด
2. ผสมน้ำ 4 ลิตร ทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง หรือจะต้มนาน 45 นาที
3. กรองเอาน้ำด้วยผ้าบางๆ
4. ก่อนนำไปใช้ให้ผสมสารจับใบ เช่น แฟ้บ ซันไลต์ หรือแชมพู ในอัตราส่วน 1 หยด
5. ใช้ฉีดพ่นวันละ 1 ครั้ง เมื่อมีปัญหาศัตรูพืช
วิธีที่ 2
นำหัวว่านน้ำบดให้ละเอียด ผสมกับขมิ้นที่บดละเอียดอย่างละ 1-2 กิโลกรัม เติมน้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้ 1-2 วัน กรองเอาน้ำไปฉีดไล่แมลงวันในแปลงผัก และป้องกันหนอนกระทู้ผักรบกวนได้
วิธีที่ 3
นำเหง้ามาบดเป็นผงคลุกเคล้ากับเมล็ดพันธุ์ที่แห้งดีแล้ว ในอัตราส่วนเมล็ดพันธุ์ 50 กิโลกรัมต่อว่านน้ำ 1 กิโลกรัม สามารถป้องกันแมลงในโรงเก็บได้
วิธีที่ 4
เป็นวิธีการควบคุมแมลงในโรงเก็บ โดยนำเมล็ดถั่วหรือเมล็ดพืชไร่มาคลุกเคล้ากับน้ำมันว่านน้ำ หรือการใช้ชิ้นส่วนของเหง้าลงไปคลุกเคล้าด้วยก็ได้
การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
1. ตำรับยาไทย
– ใช้เหง้าเป็นส่วนผสมในยาขับลม หรือยาหอมกระตุ้น
– ใช้เหง้าต้มกับขิงและไพลแก้ไข้
– ใช้เหง้าผสมกับขิงและเปราะป่า ทาแก้ไขข้อ ปวดข้อ
– ใช้ผสมกับใบชุมเห็ดเทศ แก้โรคผิวหนัง
- ตำรับยาแผนปัจจุบัน
– ใช้เป็นส่วนผสมในยาแก้ไอ และขับเสมหะ
– เป็นส่วนผสมในยาบำรุงธาตุ
นอกจากนี้ ข้อมูลทางเภสัชวิทยา ยังพบว่า น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ที่ได้จากเหง้าสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคได้หลายชนิด รวมทั้งเชื้อราและยังใช้เป็นยาขับและฆ่าพยาธิได้ด้วย