กรมการข้าว หนุนโครงการเสริมสร้างศักยภาพ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดขอนแก่น

กรมการข้าว นำสื่อมวลชนศึกษาดูงาน ศูนย์ข้าวชุมชน ณ ศูนย์วิสาหกิจชุมชนทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ พื้นที่ตำบลศรีสำราญ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ และวิสาหกิจชุมชนบ้านหินกอง​ ตำบลป่ามะนาว​ อำเภอบ้านฝาง​ จังหวัดขอนแก่น​ เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์ข้าวชุมชนเป็นองค์กรชาวนาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้การสนับสนุนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชน

นายมงคล จันทร์ประทัด ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว
นายมงคล จันทร์ประทัด ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว

โดย นายมงคล จันทร์ประทัด ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว ซึ่งร่วมนำคณะสื่อมวลชนเดินทางดูงานในครั้งนี้ กล่าวว่า กรมการข้าวได้ดำเนินงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของศูนย์ข้าวชุมชนให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาในชุมชนและของประเทศ โดยเน้นศูนย์ข้าวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี มีการส่งเสริมแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนากิจกรรมและการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกันระหว่างกรมการข้าวและศูนย์ข้าวชุมชน

นายทรงศิริ นราพงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ เล่าถึงจุดเริ่มต้น เกิดจาก มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน และจังหวัดชัยภูมิ โดย นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น ได้มอบหมาย เกษตรจังหวัดชัยภูมิคัดเลือกเป้าหมายให้ตำบลศรีสำราญ เป็นตำบลนำร่องโครงการทำนาแบบประณีต มี นายทรงศิริ นราพงษ์ (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสำราญ) เป็นผู้รวบรวมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในตำบล จำนวน 21 ราย เข้าร่วมโครงการทำนาแบบประณีต SRI ณ แปลงนา

โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญถือเป็นวิสาหกิจชุมชนตัวอย่างเรื่องข้าวของจังหวัดชัยภูมิ มีจำนวนสมาชิก 117 ราย ผลผลิต 400 กิโลกรัมต่อไร่ ทางวิสาหกิจชุมชนได้แจกจ่ายและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับสมาชิกและรับซื้อข้าวจากสมาชิกทั้งหมด โดยคนที่เป็นสมาชิกในกลุ่มต้องขายข้าวให้กับวิสาหกิจชุมชนนี้เท่านั้นซึ่งจะให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป สำหรับพันธุ์ข้าวที่สมาชิกปลูกคือข้าวมะลิ 105 และไรซ์เบอร์รี่ โดยทางวิสาหกิจชุมชนมีเครื่องตรวจสอบความชื้น คุณภาพข้าว เครื่องคัดแยกเมล็ด ที่ทันสมัย มีลานตาก และเครื่องสีข้าว สามารถรับซื้อข้าวได้วันละ 3.3 ตัน กำลังการสี 500 Kg/Hr.

นอกจากนี้ ทางวิสาหกิจชุมชนยังมีการจัดทำแพ็กเกจบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีตราผลิตภัณฑ์ของตนเองชื่อ “ศรีสำราญ” และมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย เช่น แม็คโคร โชห่วย โรงพยาบาล หน่วยงานรัฐ ในจังหวัดชัยภูมิและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงขายออนไลน์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนและสามารถกระจายรายได้สู่กลุ่มสมาชิก ซึ่งการผลิตข้าวของชุมชนได้ผลกำไรดีพอที่เลี้ยงครอบครัวของคนในชุมชนได้ เนื่องมาจากกรมการข้าวสนับสนุนในเรื่องของรถเกี่ยวนวดข้าวให้เป็นของวิสาหกิจชุมชนเอง

อีกทั้งทางวิสาหกิจชุมชนยังมีการบริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม อาทิ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้ภายในกลุ่ม การใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูข้าวหรือพืชผักอื่นๆ ซึ่งกลุ่มผลิตใช้เอง ลานตากข้าว ยุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวเปลือกที่ตากแห้งแล้ว มีโรงสีข้าว มีเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกของกลุ่มเอง โดยมี นายทรงศิริ นราพงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ ตำบลศรีสำราญ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้ดูแลโครงการ

ส่วนในด้านของวิสาหกิจชุมชนบ้านหินกอง ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น มีจำนวนสมาชิกในกลุ่มศูนย์ข้าว 43 คน โดยข้าวที่สมาชิกหรือชุมชนปลูก ได้แก่ ข้าว กข ข้าวหอมมะลิ 105 วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้รับสีข้าวให้กับชุมชนและสมาชิกในกลุ่ม ด้วยเครื่องสีข้าวไฟฟ้าที่ทันสมัย เล็กแต่มีประสิทธิภาพมากกว่าโรงสีใหญ่

โดยสีได้ปริมาณข้าวเยอะ รำแก่น้อย ราคาถูกกว่าโรงสีใหญ่ประมาณ 70% โดยมีทั้ง เครื่องเป่า เครื่องชั่ง เครื่องคัดแยกเมล็ด กำลังผลิตต่อวันมากสุดถึง 600 กิโลกรัมต่อวัน มี นายจิรภัทร เดชเอกอนันต์ ประธานศูนย์เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ดูแลโครงการของชุมชน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าวเช่นกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ศูนย์ข้าวชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวมีจำนวน 4,327 ศูนย์ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยศูนย์ข้าวชุมชนดังกล่าวที่มีการจัดตั้งไว้แล้วนั้นยังคงมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในลักษณะการบริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม “โดยชาวนา เพื่อชาวนา” ภายใต้การกำกับดูแลโดยกรมการข้าว

ซึ่งได้วางระบบร่วมกันกับผู้แทนของศูนย์ข้าวชุมชน โดยจัดตั้งคณะกรรมการในการบริหารศูนย์ข้าวชุมชนในทุกระดับและมีการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของคณะกรรมการ ได้แก่ ระดับศูนย์ จังหวัด เขต และประเทศ จึงกล่าวได้ว่าศูนย์ข้าวชุมชนเป็นองค์กรตัวแทนของชาวนาทั้งประเทศอย่างแท้จริง