หนุ่มชลบุรี เลี้ยงไส้เดือนในถาดไดโซะ เลี้ยงง่าย โตดี เก็บมูลขายได้ทุกอาทิตย์ สร้างรายได้ชิลๆ เดือนละเกือบครึ่งแสน

ไส้เดือนดินถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์มากกว่าสัตว์ที่เป็นโทษต่อมนุษย์ โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยช่วยพลิกกลับดิน ทำให้เกิดการผสมคลุกเคล้าแร่ธาตุในดิน อีกทั้งยังเป็นการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน ซากพืช ซากสัตว์ และอินทรียวัตถุต่างๆ ทำให้ธาตุอาหารต่างๆ อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพิ่มและกระจายจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพราะการชอนไชของไส้เดือนดินทำให้ดินร่วนซุย มีการระบายน้ำ และอากาศดีขึ้น ปัจจุบันมีการนำไส้เดือนมาเลี้ยงสร้างรายได้กันอย่างแพร่หลาย

คุณรัชพงศ์ โรจน์รุ่งศศิธร หรือ คุณสร เจ้าของฟาร์มไส้เดือนพนัสนิคม

คุณรัชพงศ์ โรจน์รุ่งศศิธร หรือ คุณสร เจ้าของฟาร์มไส้เดือนพนัสนิคม ตั้งอยู่ที่สามเเยกโรงน้ำเเข็ง ถนน 3246 พนัสนิคม-เกาะโพธิ์ ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี หนุ่มพนักงานประจำใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเลี้ยงไส้เดือนสร้างรายได้เสริมเกือบครึ่งแสนต่อเดือน

คุณสร เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทำงานประจำอยู่ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัทต่างชาติ ย่านพนัสนิคม ส่วนการเลี้ยงไส้เดือนเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริม โดยสืบเนื่องมาจากที่บ้านเป็นครอบครัวเกษตรกรมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จนมาถึงรุ่นของตนเองที่มีความชื่นชอบงานด้านเกษตรอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็ได้มีการปรับรูปแบบการทำเกษตรเพื่อให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ด้วยการเริ่มต้นปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แต่ด้วยความที่การปลูกผักไฮโดรฯ ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับที่ในตอนนั้นการเข้าถึงลูกค้าค่อนข้างมีจำกัด จึงลองหาอะไรใหม่ๆ จนมาเกิดความสนใจการเลี้ยงไส้เดือน หลังจากนั้นก็เริ่มทดลองเอาไส้เดือนมาเลี้ยง เพื่อศึกษาดูความเป็นไปได้ในการต่อยอดทำเป็นอาชีพเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี จนเริ่มอยู่ตัวและเริ่มมีรายได้เข้ามากลายมาเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ควบคู่กับงานประจำมานานกว่า 11 ปี

“พอเริ่มเลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากไส้เดือนหลายเรื่องด้วยกัน เริ่มตั้งแต่เป็นตัวช่วยย่อยสลายขยะในครัวเรือน เศษผัก เศษผลไม้ เศษหญ้าที่เป็นอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้เอง และในส่วนของการสร้างรายได้ การเลี้ยงไส้เดือนลงทุนเพียง 1 ครั้ง แต่สร้างรายได้ในระยะยาว ขั้นตอนการเลี้ยง อาหาร ก็ไม่ยุ่งยากมีแค่มูลวัว ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย จึงมองว่าการเลี้ยงไส้เดือนเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ทั้งสร้างปุ๋ย สร้างรายได้ ก็เริ่มมีการขยับขยายทำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

ความน่าสนใจของการเลี้ยงไส้เดือน
สร้างปุ๋ย สร้างรายได้ สร้างความสมดุล

คุณสร บอกว่า ความน่าสนใจของไส้เดือนมีเด่นๆ อยู่ 2 ข้อด้วยกัน 1. สามารถทำควบคู่กับงานประจำได้อย่างสบายๆ 2. สร้างปุ๋ยจากขยะที่เหลือทิ้งในครัวเรือน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการเลี้ยง หากต้องการทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ จุดเด่นก็คือ ลงทุน 1 ครั้ง ได้ผลตอบแทนในระยะยาว จะเลี้ยงเพื่อขายมูล ขายตัวไส้เดือน หรือขายทั้ง 2 อย่างควบคู่กันก็ได้ เพียงแค่ว่าถ้าต้องการเลี้ยงเพื่อขายตัวไส้เดือนด้วย ก็จะมีวิธีการเลี้ยงว่าทำยังไงให้ตัวไส้เดือนโตดี สมบูรณ์ สามารถเอาไปขายต่อยอดได้ราคา แต่ถ้าเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ย ก็ต้องมาคำนึงว่าจะเลี้ยงอย่างไรให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่สวยงาม แล้วก็ได้ออกมาเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้มีสิ่งเจือปนน้อยที่สุด อย่างเช่นอาหารที่ใช้เลี้ยงต้องคัดสรรเพื่อให้ปุ๋ยออกมาดี

“ผมมักจะบอกกับคนที่เข้ามาขอความรู้อยู่เสมอว่า ถ้าเราเลี้ยงตัวไส้เดือนเราจะได้ปุ๋ยเป็นผลพลอยได้ แต่ถ้าเลี้ยงเพื่อเอาปุ๋ยเราจะได้ตัวไส้เดือนเป็นผลพลอยได้ และต้องมาดูกันอีกว่าต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก คือคุณอยากได้อะไรเป็นหลัก อย่างของผมเอง วัตถุประสงค์ของผมคือเลี้ยงเพื่อเอาปุ๋ยเป็นหลัก เพราะฉะนั้นตัวไส้เดือนของผมมองว่ามันเป็นผลพลอยได้จากผลผลิต แต่บางคนบอกว่าอยากได้ตัวครับ เพราะว่า 1. ตัวไส้เดือนระหว่างเลี้ยงกัน คือสาย พันธุ์ AF เขาก็เลี้ยงแล้วไปขายตามบ่อตกปลา เพราะว่าปัจจุบันไส้เดือนดินแทบจะหาไม่ได้แล้ว ด้วยสภาพอากาศบ้านเรา เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าที่เลี้ยงตรงนั้นวัตถุประสงค์หลักก็คือตัวไส้เดือน แต่ผลพลอยได้ของเขาคือปุ๋ย”

เลี้ยงไส้เดือนในถาดไดโซะ
สะดวกง่ายต่อการจัดการ

คุณสร อธิบายว่า การเลี้ยงไส้เดือน สามารถเลี้ยงได้หลายแบบหลายวิธี ทั้งเลี้ยงในกะละมังกลม บ่อซีเมนต์ บ่อปูนกลม ซึ่งที่ฟาร์มเคยเลี้ยงมาแล้วเกือบทุกรูปแบบแม้กระทั่งเลี้ยงใส่ผ้าใบที่ปูกับพื้นทั่วไปก็เคยมาแล้ว สุดท้ายมาจบที่การเลี้ยงในถาดไดโซะ ด้วยขนาดความกว้างความสูงของถาดกำลังเหมาะสม มีรูระบายน้ำระบายอากาศมาให้เรียบร้อย สามารถวางเรียงทับกันเป็นชั้นได้ ช่วยประหยัดพื้นที่ และการดูแลจัดการที่ง่ายขึ้น

ซึ่งการเลี้ยงในถาดไดโซะขั้นตอนการเตรียมเบดดิ้งจะไม่แตกต่างจากการเลี้ยงในกะละมังทั่วไป คือใช้อาหารหรือเบดดิ้งในการเลี้ยงอยู่ที่ชุดละประมาณ 4-5 กิโลกรัม ถ้ามาเลี้ยงใส่ในถาดใช้น้ำเบดดิ้งเท่ากัน ใช้ตัวไส้เดือนเท่ากัน แต่สิ่งที่ดีกว่าคือเราไม่ต้องมานั่งเจาะรู ระบายน้ำ ระบายอากาศ และการเจริญเติบโตของไส้เดือนจะดีกว่าการเลี้ยงในกะละมัง

เพราะฉะนั้นในการปรับรอบทั่วไปส่วนใหญ่จะปรับรอบเป็น 1 เดือน แต่การเลี้ยงในถาดไดโซะของที่ฟาร์มจะปรับรอบการเก็บมูลไส้เดือนทุกสัปดาห์ ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องใช้เวลาการเพาะเลี้ยง 1 เดือน เก็บมูลขายได้เพียงเดือนละครั้ง

โดยปัจจุบันที่ฟาร์มมีถาดเลี้ยงไส้เดือนอยู่ทั้งหมดประมาณ 600-700 ใบ แต่ด้วยกลไกการตลาด มีขึ้นมีลงตามสภาวะเศรษฐกิจ จำนวนที่เลี้ยงก็ต้องเพิ่มหรือลดตามไปด้วย ซึ่งตอนนี้เลี้ยงไส้เดือนอยู่ประมาณ 400-500 ใบ

สายพันธุ์ที่เลี้ยง ปกติในประเทศไทยจะนิยมเลี้ยงสายพันธุ์หลักๆ มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ด้วยกัน ได้แก่ 1. สายพันธุ์แอฟริกัน ไนท์ ครอเลอร์ (African Night Crawler) หรือ AF 2. สายพันธุ์ไทเกอร์ (Tiger Worm) 3. สายพันธุ์บลูเวิร์ม (Blue Worm) และ 4. สายพันธุ์ขี้ตาแร่

ปัจจุบันที่ฟาร์มจะเลี้ยงในรูปแบบผสม 3 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นการผสมผสานนำเอาจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์มาเลี้ยงด้วยกันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เร็วขึ้น และมีคุณภาพ ดังนี้

1. สายพันธุ์ AF เป็นไส้เดือนขนาดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงปนเทา สามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว มีความสามารถในการย่อยสลายขยะในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว ผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีจากธรรมชาติ ปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย ช่วยเพิ่มและแพร่กระจายจุลินทรีย์ในดิน เป็นประโยชน์ต่อพืช ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ เหมาะเป็นอาหารสัตว์และเป็นเหยื่อสำหรับตกปลา

ข้อดี กินเก่ง โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง ขยายพันธุ์เร็ว ลูกดก ตัวโต เหมาะในการนำไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารโปรตีน เช่น อาหารกบ หรือนก

ข้อเสีย มีกลิ่นคาว และในช่วงอากาศหนาวเขาจะนิ่ง ไม่ค่อยขยับขยายพันธุ์ ปุ๋ยจะได้น้อย

2. ไส้เดือนสายพันธุ์บลูเวิร์ม (Blue Worm) มาเลี้ยงผสมเพื่อปรับสมดุล ลดกลิ่นคาวในพื้นที่ ด้วยลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือ มีกลิ่นหอมคล้ายดอกโมก กลิ่นหอมมาจาก Coelomic fluid และขยายพันธุ์ได้เร็วมาก ทนร้อนได้ดี มีฮอร์โมนพืชสูง ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ ใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์น้ำ และเหมาะสำหรับผลิตปุ๋ยหมักเพราะย่อยสลายได้เร็ว มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชสูง

ข้อดี กินเก่งเช่นกัน แต่ไม่เลือกกิน ขยายพันธุ์เร็ว และลูกดกมากๆ

ข้อเสีย ของไส้เดือนพันธุ์นี้คือ ตัวเล็กแยกตัวลำบาก ถ้าในบ่อหรือภาชนะที่เลี้ยงมีประชากรแออัด ไส้เดือนพันธุ์นี้ก็จะเริ่มซุกซน กระดึ๊บไปที่บ่ออื่น

3. สายพันธุ์ไทเกอร์ (Tiger Worm) ตัวสั้นแบน ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ลำตัวสีแดง ปล้องเป็นแถบชัดเจนคล้ายลายเสือ หางสีเหลือง ถิ่นกำเนิดยุโรป อเมริกา อัตราขยายพันธุ์ปานกลาง เหมาะสำหรับเลี้ยงกินมูลวัว และขยะสดในครัวเรือน

ข้อดี ที่กินเก่ง ให้ปุ๋ยเม็ดกลมสวย ขยายพันธุ์ดี

ข้อเสีย อยู่ตรงที่ ฟักไข่นาน ชอบอากาศเย็น ถ้าอากาศร้อนจะกินไม่ค่อยเก่ง

จึงเป็นที่มาของการนำไส้เดือนทั้ง 3 สายพันธุ์มาเลี้ยงด้วยกัน เพื่อปรับสมดุลทั้งปี เพราะฉะนั้น 3 สายพันธุ์ที่เลี้ยงจะช่วยสร้างสมดุลซึ่งกันและกัน เพราะจุดประสงค์หลักคือต้องการผลิตปุ๋ยให้ได้ทุกสัปดาห์ ปัจจัยหลักคือสภาพอากาศแต่เราไม่สามารถไปแก้ไขธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้นการนำไส้เดือนทั้ง 3 สายพันธุ์นี้มาเลี้ยงผสมกัน จึงเป็นวิธีการ เป็นทางรอด ให้ไส้เดือนยังสามารถผลิตปุ๋ยออกมาให้เราได้อย่างต่อเนื่อง

วิธีการเลี้ยงไส้เดือน

เมื่อเตรียมถาดเลี้ยงเรียบร้อยแล้ว โรงเรือนพร้อมแล้ว คุณสร บอกว่า หลังจากนั้นคือขั้นตอนการเตรียมเบดดิ้งให้ไส้เดือน โดยหลักๆ ที่ฟาร์มจะใช้มูลวัวเป็นหลักสำหรับการทำเบดดิ้ง หรือถ้าใครสะดวกใช้มูลสัตว์อย่างอื่นก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ถ้าสำหรับมือใหม่เพิ่งเริ่มต้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือใช้มูลวัวเอามาแช่น้ำ 3-7 วัน ให้มูลวัวนิ่มเปื่อย เพราะไส้เดือนไม่มีฟัน จะใช้วิธีการย่อยสลายอินทรีวัตถุโดยการดูด เพราะฉะนั้นอาหารของไส้เดือนจึงต้องแช่น้ำเพื่อให้เกิดความเปื่อยยุ่ย

หลังจากนั้นเมื่อแช่มูลวัวครบตามกำหนดแล้ว ให้นำขึ้นมาสะเด็ดน้ำหมาดๆ เพราะธรรมชาติของไส้เดือนไม่ชอบแห้ง และไม่ชอบแฉะ นำมูลวัวใส่ถาดเพาะแล้วใส่ไส้เดือนที่เตรียมไว้ปล่อยเลี้ยงได้เลย

“ผมบอกเลยว่าเบื้องต้นการเลี้ยงสามารถใช้มูลสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ทุกชนิด แต่ว่าวิธีการเตรียมแต่ละอย่างมันค่อนข้างจะยาก และไม่เหมือนกัน และให้ผลผลิตไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีที่ง่ายสุดคือให้ใช้ขี้วัวเพราะหาได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเศษผักผลไม้ที่เราหมักมาเป็นอาหารก็ให้ได้ แต่จะไม่แนะนำสำหรับมือใหม่”

อัตราการเลี้ยงไส้เดือนต่อถาด ไส้เดือนแต่ละสายพันธุ์มีขนาดตัวไม่เหมือนกัน ที่ฟาร์มจะใช้อัตราส่วน 1 : 1 : 1 คือตัวไส้เดือน 1 กิโลกรัม ขี้วัว 1 กระสอบ เก็บปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง “อย่างเช่นขี้วัว 1 กระสอบ เราแช่แล้วเราเอาขึ้นมาใส่ถาดได้ประมาณ 4-5 ถาด ตัวไส้เดือน 1 เดือน หยิบใส่ถาดละ 2 ขีด หรือกะเอาประมาณ 1 หยิบมือ จากนั้นใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 1 เดือน ก็จะได้จำนวนปุ๋ยทั้งหมด

การดูแลให้อาหาร ถ้าเป็นเบดดิ้งใหม่ หรืออาหารใหม่ ส่วนใหญ่ที่ฟาร์มจะรดน้ำละอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง 3 วันติด เพราะธรรมชาติของไส้เดือนวันที่ 3 ถ้าอยู่ได้จะเริ่มมีไข่ มีมูลออกมาให้เห็นอยู่บนถาดเลี้ยง แล้วหลังจากนั้นจะเปลี่ยนการรดน้ำเป็น 2-3 วันครั้ง หรือให้สังเกตพยายามรักษาความชื้นในถาดเลี้ยงให้เหมาะสม ไม่แห้ง ไม่แฉะจนเกินไป หลังจากนั้นคอยดูศัตรูของไส้เดือน แต่ถ้าหากใครใช้มูลวัวเลี้ยงส่วนใหญ่จะมีเพียงแมลงหวี่มารบกวน บ้างเล็กน้อย จะไม่ค่อยมีปัญหาสัตว์อย่างอื่นเข้ามารบกวน ถ้าไม่ได้ใช้อาหารที่ล่อสัตว์เหล่านี้เข้ามา

“อาหารของไส้เดือนใช้มูลวัวง่ายที่สุดในการเลี้ยง หรือถ้าใครยืนยันอยากจะใช้เศษอาหารก็ไม่ผิดอะไร แต่จะต้องคำนวณอาหารกับปริมาณตัวของไส้เดือนให้สัมพันธ์กัน เพราะต้องบอกว่าถ้าในกรณีที่เลี้ยงด้วยมูลวัว เรามีมูลวัวมากแต่ไส้เดือนน้อย ก็จะกินอาหารช้าหน่อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ถ้าเราใช้เศษผลไม้ปริมาณเยอะแต่ไส้เดือนมีน้อย ถ้าผ่านไป 2-3 วัน ไส้เดือนยังย่อยสลายไม่หมดจะเกิดเชื้อรา แล้วจะมีแมลงวันมาไข่ ทำให้เกิดหนอน แล้วจะมีปัญหาจุกจิก หนู มด นก ตามมา”

การเติมหรือเปลี่ยนอาหาร ถ้าจะใช้วิธีการเติมอาหารส่วนใหญ่ก็คือ หลายคนที่เลี้ยงไม่อยากรอ 3 อาทิตย์ ถึง 1 เดือน อยากได้ปุ๋ยใช้ไวๆ 1-2 อาทิตย์ ก็สามารถปาดเอาด้านบนไปใช้ได้เลย เพราะฉะนั้นปริมาณอาหารที่มีอยู่ในกะละมังจะเริ่มลดน้อยลง เราก็ต้องคำนวณระยะเวลาในการเตรียมอาหารใหม่คือ 3-7 วัน

“สมมุติเราจะเริ่มปาดมูลมาใช้หรือไปจำหน่าย เราก็ต้องแช่ขี้วัวล่วงหน้าไว้ 3 วัน หลังจากนั้นพอปาดเอาขี้ด้านบนไปใช้ เรานำเบดดิ้งที่เราเตรียมไว้ไปเติมทดแทนในปริมาณเท่าเดิมได้ เพราะธรรมชาติของไส้เดือนจะลงไปกินอาหารข้างล่างก่อน แล้วขึ้นมาขับถ่ายข้างบน จะเป็นแบบนี้วนไปเรื่อยๆ แต่ถ้าทำแบบนี้ไปนานๆ ที่ก้นภาชนะรูจะอุดตัน ผมแนะนำว่าสักประมาณอาทิตย์หรือ 1 เดือน ให้เรากลับดินด้านล่างขึ้นด้านบน เพื่อไม่ให้รูด้านล่างถาดตัน สามารถระบายน้ำได้ดี แต่ถ้าใครรอระยะเวลา 1 เดือนได้ ไส้เดือนก็จะกินอาหารหมดภาชนะที่เราให้ เราก็ยกถาดนั้นมาคัดแยกปุ๋ยกับคัดแยกตัวออก แล้วก็เอาอาหารใหม่ที่เตรียมไว้และตัวที่คัดไว้ใส่ลงถาดเลี้ยงต่อได้เลย”

เทคนิคเลี้ยงไส้เดือนยังไง
ให้เก็บมูลขายได้ทุกอาทิตย์

ปกติการเลี้ยงไส้เดือนจะใช้เวลาตั้งแต่ 2 อาทิตย์ ถึง 1 เดือน ถึงจับเก็บมูลขายได้ แต่ของที่ฟาร์มแห่งนี้สามารถเก็บมูลไส้เดือนขายได้ทุกอาทิตย์มีเทคนิคอย่างไร คุณสร อธิบายว่า เทคนิคของที่ฟาร์มคือเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกภาชนะในการเลี้ยงคือ 1. เลี้ยงในถาดไดโซะ ขนาดใหญ่ 500x350x80 มิลลิเมตร 2. ใช้ไส้เดือนกว่า 3 สายพันธุ์ในการเลี้ยง 3. เพิ่มจำนวนไส้เดือนต่อ 1 ถาดเลี้ยงให้มากขึ้น

“อัตราการเพิ่มจำนวนของไส้เดือน ถ้าเราคิดเป็นน้ำหนักใน 1 เดือน มันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเลี้ยงดี อาหารดี อากาศดี สมมุติถ้าเราไปซื้อไส้เดือนมา 1 กิโลกรัม แล้วเราเลี้ยงเก่งมากเลย เดือนที่ 2 จะเพิ่มเป็น 1 กิโลกรัม 2 ขีด ก็คือจะเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเดือนที่ 2 เดือนที่ 3 เราอาจจะไม่ได้เลี้ยงแค่ 5 กะละมังแล้ว มันจะเพิ่มปริมาณไปเรื่อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พื้นที่เราไม่พอ ไม่อยากเลี้ยงเพิ่มเป็น 6-7 ชุด อยากจะเลี้ยงแค่ 5 ชุด ก็ให้เอาจำนวนที่ได้เพิ่มมาไปใส่เพิ่มในกะละมังที่มีอยู่ก็จะช่วยปรับรอบการเก็บมูลได้เร็วขึ้น จาก 1 เดือน อาจจะเหลือ 3 อาทิตย์ ก็ได้ปุ๋ยทั้งหมด ไม่ต้องรอถึง 1 เดือนแล้ว เพราะว่าตัวไส้เดือนเพิ่มปริมาณมากขึ้นทำให้มูลไส้เดือนออกได้เร็วขึ้น จากปกติใส่ถาดละ 2 ขีด แต่ฟาร์มเราใส่ถาดละ 5-6 ขีด มันก็เลยเร็วขึ้น”

วิธีการเก็บมูลไส้เดือน หากเลี้ยงไว้ผลิตปุ๋ยใช้เอง มีถาดเลี้ยงไม่มาก แนะนำให้ใช้ตะกร้าขนมจีนเล็กๆ มาร่อนเพื่อแยกปุ๋ยกับตัวไส้เดือน ส่วนถ้าหากใครทำเพื่อจำหน่ายปุ๋ยโดยเฉพาะแนะนำให้ใช้เครื่องร่อนจะทำได้เร็วและปริมาณมาก และอยากแนะนำว่าปุ๋ยไส้เดือนที่ดีมีคุณภาพจะต้องมีความชื้นที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีอุปกรณ์เช็ก ก็ใช้วิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน คือให้ใช้มือกำแล้วบีบถ้ามีการคลายตัวของปุ๋ยนั่นหมายความว่าความชื้นเหมาะสม แต่ถ้าบีบแล้วยังมีน้ำซึมอยู่แปลว่ายังใช้ไม่ได้”

เก็บมูลไส้เดือนขายเดือนละ 3 ตัน
ฟันรายได้
ชิลๆ เกือบครึ่งแสน

สำหรับปริมาณมูลไส้เดือนที่เก็บได้แต่ละอาทิตย์ คุณสร บอกว่า จะต้องคำนวณจากอาหารที่ใช้เลี้ยง โดยตามสถิติที่ทางฟาร์มเก็บไว้คือจะเก็บมูลได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของอาหาร เช่น ถ้าหากนำมูลวัวไปแช่น้ำในความชื้นหมาดๆ อยู่ที่ประมาณ 20 กิโลกรัม ถ้าเลี้ยงจนหมดจะได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนประมาณ 15-16 กิโลกรัม และส่วนที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ ไส้เดือนอาจจะกินไม่หมด หรืออาจจะมีกากที่ไส้เดือนกินไม่ได้ ตรงนี้คือส่วนที่เราต้องคัดออก ซึ่งส่วนใหญ่ที่ฟาร์มจะไม่ทิ้งแต่จะนำกลับมาเข้าระบบใหม่ เพื่อให้ไส้เดือนย่อยสลายในรอบถัดไปได้

โดยเฉลี่ยต่อเดือนจะเก็บมูลไส้เดือนขายได้เดือนละ 3-4 ตัน จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 8-10 บาท ลูกค้าหลักๆ มีอยู่ 3 กลุ่ม 1. กลุ่มลูกค้าที่รับแล้วไปขายต่อ 2. กลุ่มผู้ใช้โดยตรง และ 3. กลุ่มเจ้าของสวนผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด ด้วยการใช้เทคนิคการหาตลาดแบบเข้าถึงลูกค้า

“จากเดิมปีแรกผมเดินไปหาลูกค้าตามร้านต้นไม้ แต่กระแสตอบรับไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ผมจึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการขายโดยการเข้าสวนผลไม้แทน แล้วไปคุยกับเจ้าของสวน การแบ่งปุ๋ยให้ทดลองใช้ก่อน พร้อมบริการจัดส่งเองถึงสวน จากนั้นพอเจ้าของสวนใช้ได้ผลเขาก็เริ่มสั่งออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ และในตอนหลังได้มีการแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงเองใช้เอง ประกอบกับช่วงจังหวะโควิด-19 เข้ามาพอดี คนอยู่บ้านกันเยอะ กระแสไม้เริ่มเข้ามา เราก็พลิกวิกฤตมาเป็นโอกาสโปรโมตปุ๋ยมูลไส้เดือนของเราผ่านสื่อโซเชียล และเริ่มสะสมลูกค้าได้ตั้งแต่ตอนนั้นมา”

ประโยชน์ของมูลไส้เดือน

สามารถนำมาใช้ได้กับพืชทุกชนิด แต่จะใช้ได้ผลดีกับไม้ใบ ไม้สี มากที่สุด ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของปุ๋ยมูลไส้เดือนคือเป็นปุ๋ยคอกที่เป็นปุ๋ยเย็นชนิดเดียวในโลก จึงสามารถนำมาทำอะไรก็ได้ ทั้งใส่เป็นวัสดุปลูก ใช้เป็นปุ๋ยอัตราส่วนเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีผลเสียแต่จะเปลืองถ้าผลิตเองไม่ได้

“ปุ๋ยมูลไส้เดือนมีแร่ธาตุหลัก NPK ครบ แต่ไส้เดือนกินได้เฉพาะพวกผัก ถ้าหลักๆ ที่ผมเลี้ยงคือขี้วัว วัวก็กินพืช จะหนักในตัวไนโตรเจน เพราะฉะนั้นเวลาใช้กับไม้สวยงาม ไม้ใบ พวกนี้จะให้ผลเร็ว แต่ถ้าเอาไปใช้กับไม้ผลที่ต้องการผล หรือไปบำรุงต้นที่เป็นไม้ใหญ่ อันนี้ต้องใช้ปริมาณที่เยอะมาก คือจุดด้อย อย่างมะนาว มะนาว 1 ต้น เราต้องใช้ปุ๋ยประมาณ 5-10 กิโลกรัม ต่อเนื่องถึงจะให้ลูก”

แนะนำเกษตรกรมือใหม่

“แนะนำสำหรับเกษตรกรมือใหม่หากมีพื้นที่ว่างข้างบ้านเหลืออยู่ แล้วไม่รู้จะทำอะไร การเลี้ยงไส้เดือนถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคนทำเกษตร เพราะว่าไส้เดือนเราลงทุน 1 ครั้ง อายุของเขาอยู่ได้เป็น 10 ปี สามารถขยับขยายให้เราได้อย่างต่อเนื่อง หากใครมีที่แล้วปล่อยให้รกร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ถ้าต้องการจะฟื้นฟูปรับสภาพดิน ก็เอาไส้เดือนไปปรับฟื้นฟูดินได้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือจะต้องมีแหล่งน้ำที่ดี มีอากาศทีดี ตรงนี้เป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ ถ้าเรามีองค์ประกอบครบยังไงเราก็ต่อยอดได้ ไม่มีผลเสีย และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกร แต่ว่าถ้าจะต่อยอดไปอนาคตมันต้องดูว่าเรามีวัตถุประสงค์ว่าจะไปต่อยังไง อย่างเรามีเป้าหมายชัดเจนทำเป็นอาชีพเสริม ซึ่งจริงๆ สามารต่อยอดเป็นอาชีพหลักก็ได้” คุณสร กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 094-635-7741 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : ฟาร์มไส้เดือนพนัสนิคม