ต้นตอปัญหาเรื้อรัง “อาหารสัตว์” ปรับโมเดลลดรุกป่า ปลูกข้าวโพดหลังนา

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคปศุสัตว์ ปัญหาที่เกิดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงเชื่อมโยงตั้งแต่เกษตรกรถึงผู้บริโภค แต่ละปีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีกำลังการผลิต 20 ล้านตัน ทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดอย่างมาก แต่วัตถุดิบมีไม่เพียงพอจึงเกิดปัญหาตามมามากมาย

นายบุญธรรม อร่ามศิริวัฒน์ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เล่าว่า ความต้องการใช้ข้าวโพดในแต่ละปี เฉลี่ย 8 ล้านตัน แต่ไทยปลูกได้ 4.6-5.0 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่น เช่น ข้าวสาลี กากข้าวสาลี (DDGS) มาทดแทน 3 ล้านตัน เพื่อผสมให้ได้สารอาหารโปรตีนในระดับใกล้เคียงกับข้าวโพด ซึ่งมีโปรตีน 7-8% ส่วนข้าวสาลีมีโปรตีน 9-10% DDGS มีโปรตีน 25-30% เป็นเหตุให้กระทรวงพาณิชย์ต้องกำหนดมาตรการให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพด 3 ส่วนเพื่อรับสิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ไม่ให้กระทบชาวไร่

2) ข้าวโพดช่วงปลายฝน เก็บเกี่ยวช่วงฤดูหนาว ระหว่างธันวาคม-กุมภาพันธ์ อากาศแห้ง ความชื้นต่ำ คุณภาพดี มีสัดส่วนเพียง 25% ของผลผลิตทั้งหมด และ 3) ข้าวโพดหลังนา ปลูกหลังเกี่ยวข้าวนาปี มีสัดส่วนเพียง 5% ซึ่งอาจเรียก “โมเดล 70-25-5” ที่ทำให้คุณภาพไม่ดี ความชื้นสูง ราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง

อีกมิติหนึ่ง ข้าวโพดต้นฝน 70% เป็นข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่รุกป่าเกินครึ่ง ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้า เช่น สหภาพยุโรป แสดงความกังวลว่าเนื้อสัตว์จากไทยเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ที่ผลิตจากข้าวโพดในพื้นที่ผิดกฎหมาย ไทยจึงต้องเร่งแก้ไข

แนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวโพดที่ผ่านมาได้ดำเนินการคู่ขนานกัน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวโพด เพื่อปรับโมเดลการปลูกจาก 70-25-5 เป็น 20-30-50 หมายถึง ลดพื้นที่ต้นฝนจาก 70% ให้เหลือ 20% และเพิ่มพื้นที่ข้าวโพดรุ่น 2 จาก 25% เป็น 30% และเพิ่มสัดส่วนข้าวโพดหลังนาจาก 5% เป็น 50%

โมเดลใหม่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพข้าวโพด ลดการ กระจุกตัวที่ส่งผลต่อราคาข้าวโพดแล้ว อีกมิติยังเป็นการดึงพื้นที่นาราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีเอกสารสิทธิที่ดินถูกต้องมาปลูกข้าวโพดทดแทนลดปัญหาการรุกพื้นที่ป่าได้

นอกจากนี้ การปรับพื้นที่นาปรังมาปลูกข้าวโพด ยังได้ช่วยลดการใช้น้ำ และลดซัพพลายผลผลิตข้าวนาปรังได้อีกมิติหนึ่ง

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโมเดลนี้ดำเนินการคู่ขนานกับการแก้ไขปัญหาการรุกป่าโดยภาครัฐ หากสำเร็จจะสร้างประโยชน์ต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศอย่างมาก ส่งผลดีต่อเกษตรกรไปจนถึงผู้บริโภค

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์