ขนุนลูกดกเต็มต้นด้วย “แก่นฝาง” เรื่องง่าย ใครๆ ก็ทำตามได้

ต้นขนุนเป็นพืชที่ออกผลบริเวณโคนต้นและโคนกิ่ง “การตอกลิ่มไม้ฝาง” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้บังคับให้ต้นขนุนออกผลตามตำแหน่งที่ต้องการ เริ่มจากเลือกต้นขนุนอายุ 3-5 ปี ที่พร้อมให้ผลผลิต จากนั้นเหลาแก่นฝางให้มีขนาดและรูปร่างเช่นเดียวกับไม้จิ้มฟัน ตอกทำมุมฉากกับเปลือกต้นขนุน เมื่อถึงเนื้อไม้ตอกต่อไปไม่ได้แล้ว ให้หักก้านส่วนที่เหลือทิ้ง ทารอยแผลด้วยปูนแดง ป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปตามรอยแผล

วิธีตอกลิ่มไม้ฝางสามารถบังคับให้ขนุนออกดอกติดผลบริเวณดังกล่าวได้ แต่ไม่สามารถบังคับให้ออกผลได้ในเวลาจำกัด ต้องคอยจนถึงฤดูที่ให้ผลคือ ครบรอบของการติดผลเท่านั้น บางครั้งต้องใช้เวลาหลายเดือนก็มี

คุณลุงไสว ศรียา ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าว ได้บอกกับผู้คนที่สนใจว่า วิธีตอกลิ่มไม้ฝางบังคับให้ขนุนออกผลนั้นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ก่อนหน้านี้ คุณลุงไสวเคยทดลองนำไม้ไผ่เสียบลูกชิ้น และไม้ชนิดอื่นๆ มาทดลองตอกต้นขนุน แต่ก็ไม่ได้ผลเหมือนกับการใช้แก่นฝาง สาเหตุที่แก่นไม้ฝางช่วยให้ขนุนติดลูกได้นั้น  เกิดจากในไม้แก่นไม้ฝางมีสารชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ทำให้ต้นขนุนติดดอกออกผลในบริเวณที่ต้องการได้

แก่นไม้ฝาง
แก่นฝางที่นำมาตอกต้นขุนนเพื่อบังคับให้ออกผลในจุดที่ต้องการ

ด้าน หมอเกษตร ทองกวาว นักวิชาการเกษตรอิสระ ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับไม้ฝางว่า เป็นพืชตระกูลถั่ว แก่นฝางมีสีแดงอมเหลือง รสขื่นฝาดอมหวาน ใช้ระงับปวด แก้ท้องร่วง ขับเสมหะและน้ำกัดเท้า ในเนื้อไม้มีสารสำคัญ ชื่อว่า ฟลาโวนอยด์ มีผลต่อการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์ในสิ่งมีชีวิต ใช้สกัดเอทานอลได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ในทางทฤษฎีการไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์พืช จะส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาเซลล์ใกล้เคียงให้เป็นตาดอก เติบโตต่อไปเป็นดอกและผลได้

เนื่องจากขนุนเป็นพืชที่อ่อนไหวต่อสารควบคุมการเจริญเติบโตหรือฮอร์โมนพืชเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น มีเกษตรกรที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ปลูกขนุนไว้ใกล้กับสวนมะม่วง เมื่อราดสารแพคโคบิวทราโซลให้กับมะม่วง ปรากฏว่า ต้นขนุนอยู่ไกลหลายเมตร ยังสามารถดูดสารแพคโคบิวทราโซลได้ ต้นขนุนมีใบขนุนเกิดใหม่และมีผลขนาดเล็กเกิดขึ้นเต็มไปหมด ภายในระยะเวลาอันสั้น