ฟิล์มคลุมดิน ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มผลผลิตในการปลูก

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก และมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 93,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อนำไปใช้ผลิตอาหาร พลังงานชีวภาพ และไบโอพลาสติก

แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยกำลังประสบปัญหาในการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง พืชขาดน้ำ การระบาดของไวรัสใบด่างในมันสำปะหลัง ผลผลิตเสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรขาดแคลนต้นพันธุ์ปลอดโรคเพื่อใช้ในการเพาะปลูก

จากปัญหาที่เกิดขึ้น เกษตรกรจึงเลือกใช้พลาสติกคลุมดิน (Plastic Mulch) เพื่อปรับอุณหภูมิและเก็บกักความชื้นภายในดิน รวมถึงควบคุมวัชพืช และป้องกันหน้าดินเสื่อมสภาพจากสภาวะอากาศแปรปรวน

โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมใช้ที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลิเอธิลีน (PE) ซึ่งสลายตัวได้ยากในธรรมชาติ จึงอาจทิ้งสารพิษตกค้างและก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้ การกำจัดพลาสติกชนิดนี้ยังทำได้ยากและมีต้นทุนสูงเพราะต้องใช้แรงงานและอุปกรณ์เฉพาะ

ปัจจัยเหล่านี้ ได้ส่งผลต่อศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลังอื่นๆ และยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ต้องพึ่งพารายได้จากพืชเศรษฐกิจนี้ บริษัท ไทยวา จำกัด จึงได้พัฒนาพลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ (Biodegradable Bioplastic) ภายใต้แบรนด์ ROSECO โดยวัตถุดิบที่ใช้เป็นเม็ดพลาสติกที่ทำจากมันสำปะหลังซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนความร้อน และสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติ จึงช่วยลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม  

คุณหทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยวาเป็นหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมนี้ เราเข้าใจดีถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านเกษตรกรรมไทยไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้เติบโตได้ในอนาคต

จึงได้นำเสนอไทยวาโมเดลที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อส่งเสริมชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลัก โดยไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเพาะปลูกและผลิตอาหารเท่านั้น แต่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อทุกคน

จุดเด่นนวัตกรรม

1. อัตราการงอกและการเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากฟิล์มช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน และเป็นการแก้ปัญหาฝนทิ้งช่วงที่เกษตรกรกำลังประสบอยู่ จึงช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้มากยิ่งขึ้น สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น

2. เมื่อสิ้นฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรสามารถไถกลบฟิล์มชีวภาพ ROSECO หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งจะย่อยสลายและกลายเป็นปุ๋ยในดินที่มีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ ช่วยบำรุงดิน ช่วยลดขั้นตอนยุ่งยาก และต้นทุนในการกำจัด เพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกร

3. ช่วยลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช ลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร

ปัจจุบันไทยวามีโรงเรือนในประเทศไทยทั้งหมด 10 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง กาฬสินธุ์ และตาก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของบริษัท จึงสามารถจัดหาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพสูงให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุดไทยวายังสร้างโรงเรือนกระจกในอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งห่างไกลจากไร่มันสำปะหลังแหล่งอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะมีต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้ตลอดทั้งปี

หากใครสนใจนวัตกรรมชิ้นนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) อาคารไทยวา 1 ชั้น 6 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์ : 02-285-0040

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : Future Perfect