วิธีปลูกดูแล “ต้นทับทิม” ผลไม้ดีต่อสุขภาพผู้สูงวัย

ทับทิม มีถิ่นกำเนิดอยู่บนที่ราบสูงอิหร่าน และอินเดียตอนเหนือ ต่อมาแพร่กระจายไปสู่อียิปต์ อาเซอร์ไบจาน อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี จีน และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งรุกขยายเข้าไปยังสเปน แอฟริกาเหนือ และแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ต้นทับทิม มีความสามารถปรับตัวได้ดี ตั้งแต่ในเขตค่อนข้างแห้งแล้ง เขตร้อนชื้น และเขตอากาศหนาวเย็น ที่มีอุณหภูมิ -14 องศาเซลเซียส ก็พบเห็นเสมอ ชาวจีนและชาวอียิปต์ รู้จักปลูกและบริโภคทับทิมมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะชาวจีนให้ความสำคัญกับทับทิมเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นไม้มงคล จึงนิยมปลูกไว้หน้าบ้าน แม้ไม่มีที่ดินพอก็ยังปลูกใส่กระถางไว้โชว์

ทับทิมในภาษาละตินที่พัฒนามาเป็นภาษาอังกฤษ เรียกว่า Pome grenade มีความหมายว่า แอปเปิ้ลสีแดง มีเมล็ดฉ่ำน้ำ ทับทิมเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 10 เมตร ใบมีขนาดเล็ก กว้างเพียง 2 เซนติเมตร และยาว 3-7 เซนติเมตร ดอกสีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณ 3 เซนติเมตร มีผลกลม เมื่อสุกแก่มีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-12 เซนติเมตร ผลขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์เต็มที่ ใน 1 ผล มีเมล็ดประมาณ 600 เมล็ด เมล็ดหุ้มด้วยเนื้อนุ่มและเคลือบไว้ด้วยผิวบางๆ ทำให้เมล็ดไม่เหนียวหนืดติดกันเป็นผืน เนื้อหุ้มเมล็ดใช้รับประทานได้ทั้งสดและทำน้ำผลไม้ มีตั้งแต่สีขาว สีชมพู สีแดง จนถึงม่วงแดง

ในเนื้อทับทิม 100 กรัม ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 19 กรัม น้ำตาล 14 กรัม เยื่อใย 14 กรัม ไขมัน 1 กรัม และโปรตีน 2 กรัม นอกจากนี้ ยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในปริมาณ 10 10 12 36 และ 236 มิลลิกรัม ตามลำดับ โดยเฉพาะโพแทสเซียมนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้สูงวัย

การขยายพันธุ์ทับทิม นิยมทำกัน 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำ วิธีเพาะเมล็ด ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเมล็ดมีขนาดเล็ก โดยเฉพาะพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจากประเทศจีน ตุรกี หรือแม้แต่สเปนก็ตาม

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด

หลังรับประทานผลทับทิมแล้ว ระวังอย่ากัดหรือขบให้เมล็ดแตก จากนั้นล้างให้สะอาด นำขึ้นผึ่งลมไว้ 2-3 วัน แล้วแช่ในน้ำร้อน ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ทดสอบด้วยมือ จุ่มลงในน้ำร้อน หากร้อนเกือบทนไม่ได้ ก็นำแช่ทันที แช่ไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที เมื่อน้ำเย็นลงให้เติมน้ำร้อนเพิ่มอีก ครบตามเวลานำขึ้นผึ่งลมอีกจนแห้งดี ขั้นต่อไปเพาะลงในภาชนะที่มีขุยมะพร้าวเป็นวัสดุเพาะ วางเมล็ดกระจายให้ทั่ว กลบตื้นๆ รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้จนสะเด็ดน้ำ ภาชนะดังกล่าวจะใช้กระถางดินหรือกระถางพลาสติกก็ได้ แต่ต้องสะอาด นำเข้ากระโจมหรือใช้ถุงพลาสติคใสขนาดใหญ่แทนก็ได้ วางกระถางลงในถุงตั้งให้สมดุล รวมปากถุงผูกด้วยเชือกฟาง โยงขึ้นอย่าให้พับลง

เทคนิคดังกล่าว ถุงพลาสติกช่วยรักษาความชื้นไว้ อีกทั้งภายในถุงและเกิดภาวะเรือนกระจก อุณหภูมิจะสูงขึ้นกว่าภายนอก ช่วยกระตุ้นให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่านำเข้าอบแล้วก็ตาม ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 เดือนครึ่งเมล็ดจึงจะงอก ปล่อยไว้ให้ต้นสูงประมาณ 5 เซนติเมตร จึงเปิดแง้มปากถุงให้อากาศถ่ายเทได้บ้าง เมื่อเห็นว่าต้นอ่อนปรับตัวได้ดีแล้ว จึงเปิดปากให้กว้าง หรือนำออกจากถุงนำไปเก็บในโรงเรือน ให้ถ่ายลงปลูกในถุงเพาะชำ ถุงละ 1 ต้น บรรจุด้วยวัสดุปลูก ประกอบด้วย ดินร่วน ขี้เถ้าแกลบ และแกลบดิบ อัตรา 3 : 1 : 1 พร้อมผสมปุ๋ยคอกเล็กน้อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน วางต้นกล้าหรือต้นอ่อนกลางถุงที่เปิดหลุมไว้ตื้นๆ กลบด้วยวัสดุชนิดเดียวกัน กดพอแน่นแล้วรดน้ำตาม ดูแลต้นให้สมบูรณ์ครบ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ใช้ปลูกลงในแปลงได้ ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตเมื่ออายุครบ 5 ปี

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำ

ส่วนวิธีปักชำ เลือกกิ่งขนาดเท่าแท่งดินสอดำโดยประมาณ ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ใช้กรรไกรคมและสะอาดตัดกิ่งให้มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีใบติดมาเล็กน้อย ผึ่งลมไว้ 1-2 ชั่วโมง จุ่มส่วนโคนในสารเร่งราก ทิ้งไว้อีกพอหมาดๆ จึงปักชำในขุยมะพร้าวบรรจุในภาชนะ ฝังลงลึก 10 เซนติเมตร ให้เอียงเล็กน้อย แต่ละท่อนห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร นำเข้าเก็บในกระโจมเช่นเดียวกับวิธีเพาะเมล็ด มัดปากถุง เก็บในโรงเรือนที่ร่มรำไร ใช้เวลา 21-30 วัน รากและใบจะแทงออกและผลิใหม่ให้เห็น จากนั้นค่อยแง้มปากถุงให้อากาศภายนอกเข้าไปภายในได้ ครบสัปดาห์เปิดปากถุงออกให้หมด นำภาชนะบรรจุกิ่งชำออกจากถุง ถ่ายกิ่งแต่ละกิ่งลงถุงเพาะกล้า วิธีเดียวกับการเพาะเมล็ด นำเข้าเลี้ยงต่อในเรือนเพาะชำ เมื่อตั้งตัวได้ดีใช้ปลูกลงแปลงได้ ต้นทับทิมที่ได้จากกิ่งปักชำจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3 ปี หลังปลูกลงดิน

แหล่งปลูกที่เหมาะสม

แหล่งปลูกทับทิมที่ดี ต้องมีน้ำสะอาดเพียงพอตลอดปี และน้ำท่วมไม่ถึง หากช่วงฤดูหนาวมีอากาศเย็น ยิ่งทำให้คุณภาพของผลผลิตดียิ่งขึ้น ใช้ระยะปลูก 4×4 หรือ 4×6 เมตร ก็ได้ผล ใกล้เคียงกัน ส่วนการดูแลรักษาใช้วิธีเดียวกับการปลูกพืชยืนต้นอื่นๆ สิ่งสำคัญที่สุด ในระยะติดผลอย่าให้ขาดน้ำ พันธุ์ทั่วไปที่ปลูกในประเทศไทย ออกดอกหลังผ่านช่วงหนาวมาแล้ว ราวเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเก็บผลได้ในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

วิธีป้องกันแมลงศัตรูพืช

แมลงศัตรูสำคัญคือ เพลี้ยไฟ มักเข้าทำลายขณะแตกใบอ่อน เมื่อพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย ฟิโปรนิล 50 เปอร์เซ็นต์ เอสแอล อัตรา 10 ซีซีต่อน้ำ 1 ปี๊บ เท่ากัน และไม่ควรฉีดพ่นระยะออกดอก เพราะจะทำให้ดอกร่วง ส่วนโรคระบาดอื่นๆ ยังไม่ปรากฏ

คำถามว่า จะทำสวนทับทิมดีหรือไม่ ขอตอบว่า ถ้าคุณพร้อม ทั้งทุน เวลา สถานที่ และใจรัก ทำได้เลย แต่ขอให้ค่อยทำค่อยไป เพราะคุณต้องเรียนรู้ทั้งทางด้านชีวภาพ คือพันธุ์พืช รวมทั้งโรคแมลงศัตรู ด้านกายภาพ ประกอบด้วย ดิน น้ำฝน และอุณหภูมิรอบข้าง สุดท้ายคือ ด้านสังคม และวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่คุณกำลังจะไปดำเนินการ