สศก. แจงสถานการณ์กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2566/67 ระบุ ผลผลิต กระเทียม หอมแดง ลดลง ขณะที่ผลผลิตหอมหัวใหญ่เพิ่มขึ้น

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์พืชหัวปีเพาะปลูก 2566/67 กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566)

กระเทียม คาดว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูก 52,916 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่มีเนื้อที่ปลูก 54,583 ไร่ (ลดลงร้อย 3.05) ให้ผลผลิต 54,653 ตัน ลดลงจาก 59,326 ตัน (ลดลงร้อยละ 7.88) เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งและบางพื้นที่มีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูง โดยแหล่งปลูกที่สำคัญ 3 ลำดับแรก คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน

หอมแดง คาดว่าจะมีเนื้อที่ปลูก 54,858 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่มีเนื้อที่ 55,830 ไร่ (ลดลงร้อยละ 1.74) ให้ผลผลิต 143,988 ตัน ลดลงจาก 149,312 ตัน (ลดลงร้อยละ 3.57) เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย แหล่งปลูกที่สำคัญ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และลำพูน

หอมหัวใหญ่ คาดว่าจะมีเนื้อที่ปลูก 9,640 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่ปลูก 7,955 ไร่  (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.18) ผลผลิต 32,967 เพิ่มขึ้นจาก 28,265 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.64) เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก ประกอบกับมีแหล่งน้ำเพียงพอ ซึ่งแหล่งปลูกสำคัญ 3 ลำดับแรก คือ เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ทั้งนี้ ผลผลิตพืชทั้ง 3 ชนิดเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน โดยจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ร้อยละ 60-80 ของผลผลิตทั้งหมด

สำหรับมาตรการบริหารจัดการสินค้าพืชหัวปีเพาะปลูก 2566/67 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ได้พิจารณากำหนดมาตรการรองรับเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาที่อาจจะผันผวนและตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ดังนี้

1. เร่งกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต และชะลอการจำหน่ายผลผลิต ในกรณีที่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรมีโรงเรือนสำหรับแขวนผลผลิตเพื่อรอจำหน่าย 2. เชื่อมโยงเจรจาซื้อขายสินค้าพืชหัวล่วงหน้าภายใต้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน เพื่อให้การซื้อขายระหว่างกันมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตส่วนหนึ่ง 3. โครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ให้กับจังหวัดแหล่งผลิตสำคัญ เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ 4. การตรวจสอบการนำเข้าสินค้าพืชหัวจากต่างประเทศเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า 5. ดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้า และป้องปรามการกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร

ด้าน นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าดังกล่าวในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ ไปบ้างแล้วประมาณร้อยละ 10-30 ของผลผลิตทั้งหมด โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม และเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งในขณะนี้ ราคาผลผลิตเกรดสดคละกระเทียม หอมแดง ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจและมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยกระเทียมสดคละราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 14-17 บาทต่อกิโลกรัม หอมแดงสดคละราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ เบอร์ 0, 1 เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม โดยอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคามีความผันผวนและมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลง

ส่วนผลผลิตหอมหัวใหญ่ในแหล่งผลิตอำเภอแม่วาง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปีเพาะปลูกนี้ ถึงแม้จะมีคุณภาพดี แต่ขนาดใหญ่เบอร์ 0 และ 1 มีไม่มาก อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของหอมหัวใหญ่ (อากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอ) อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาด้านราคาที่อาจผันผวนและตกต่ำ จนอาจกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ บูรณาการในการกำหนดมาตรการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ จะได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อไป และสำหรับท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดพืชหัว สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชสวน สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 02-561-4737 ในวันและเวลาราชการ