สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ร่วมมือกับ นักศึกษาหลักสูตร ปรม. รุ่น 23 ผุดไอเดีย แปรรูปปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน พลิกวิกฤตสร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำสมุทรสงครามและพื้นที่ใกล้เคียง

สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ร่วมมือกับ กลุ่มหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.) รุ่นที่ 23 ร่วมหาทางออกแก้ปัญหาจากเหตุบริษัทเอกชนได้นำเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดำจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553 จนเกิดการแพร่พันธุ์กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำท้องถิ่นและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตถ้าไม่สามารถควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำได้ อาจแพร่กระจายไปสู่แหล่งน้ำจืดและชายฝั่งมากขึ้น สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำท้องถิ่น และกระทบต่อการทำประมงอีกด้วย

พันตำรวจเอก ทศพล โชติคุตร์ ประธานกลุ่มหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.) รุ่นที่ 23 กล่าวว่า จากการศึกษารวบรวมข้อมูลและรับฟังจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ตอนนี้เราไม่เล็งโทษใครทั้งนั้น แต่เราจะเดินหน้าแก้ปัญหา โดยขอความร่วมมือทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนนักวิชาการที่มีความรู้ ตลอดจนแหล่งเงินทุนในการรับซื้อที่ราคาสูงกว่าที่เคยซื้อในตลาดเช่นที่ผ่านๆ มา และสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเพื่อไปจำหน่ายโดยอาศัยช่องทางการตลาดจากส่วนต่างๆ ไปยังผู้บริโภคเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้น นอกจากนี้ ก็ยินดีจะช่วยประสานในการยื่นหนังสือข้อร้องเรียนไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลอีกทางหนึ่ง

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในเชิงรุกย้ำให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยจะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป และพร้อมกันนี้ คณะนักศึกษา ปรม. รุ่นที่ 23 ยังร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการจัดทำ “โครงงานปลาหมอคางดำจากวิกฤตสู่โอกาสสร้างรายได้” เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาสสร้างรายได้แก้ปัญหาปากท้องให้กับชุมชนทั้งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างยั่งยืน

ด้าน รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวเสริมว่า การทำโครงงานปลาหมอคางดำจากวิกฤตสู่โอกาสสร้างรายได้ เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำโดยสามารถดำเนินการได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เนื่องจากสถาบันวิจัยและพัฒนา (www.ird.ssru.ac.th) มีทีมนักวิจัยและอาจารย์ที่มีองค์ความรู้หลายๆ ฝ่ายที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาครอบคลุมรอบด้าน เช่น อาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ที่จะช่วยร่าง พ.ร.บ. หรือการแก้ไขปัญหาทางด้านกฎหมาย อาจารย์ทางด้านศิลปกรรมที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน product design

เรามีทีมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและมีอุปกรณ์เครื่องมือส่งมอบให้กับชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้น มองว่าถ้าการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งโรงงานต้นแบบให้กับชาวบ้านในการรับซื้อปลาหมอคางดำ ซึ่งมีประธานวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ดูแลเรื่องของการรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนเพื่อการบริโภคในชุมชนและนำผลผลิตออกไปจำหน่ายได้เอง ซึ่งวิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาปลายน้ำที่จะช่วยประชาชนได้เร็วที่สุด

นายปัญญา โตกทอง ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่แพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ช่วงประมาณปี 54 เริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำชัดเจนบริเวณยี่สาร แพรกหนามแดง และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันก็ 10 กว่าปีมาแล้ว โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 47 ชาวบ้านได้รวมตัวกันไปร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา

โดยการสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการรับซื้อปลาหมอคางดำที่ชาวบ้านจับได้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้น และอีกวิธีคืออนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายพร้อมทั้งขอความร่วมมือบุคลากรจากหน่วยงานที่มีกำลังพล เช่น ทหารหรือนักโทษชั้นดีเพื่อล้อมกวาดจับให้ได้เป็นจำนวนมากที่สุด ตลอดจนปล่อยพันธุ์ปลานักล่า เช่น ปลากะพง และปลานักล่าอื่นๆ เพื่อช่วยอีกแรง แต่ก็ยังติดปัญหาที่เป็นเงื่อนไขซึ่งชาวประมงในพื้นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามพร้อมกันได้ในทุกขั้นตอน ทำให้การแก้ไขไม่ประสบผลสำเร็จ จนนำมาสู่การหาข้อสรุปในเวทีรับฟังความคิดเห็นและหาแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยได้มีการสรุปปัญหาตลอดจนแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวรวม 17 ข้อ ซึ่งได้นำมาเสนอเพื่อเป็นข้อมูลให้กับคณะทำงาน “โครงงานปลาหมอคางดำจากวิกฤตสู่โอกาสสร้างรายได้” เพื่อสรุปและร่วมกันหาทางออกร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ ปรม. รุ่นที่ 23 ยังได้คำแนะนำจาก ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษากลุ่มโครงงานปลาหมอคางดำ โดยได้เสนอแนวทางเพื่อหาทางออกว่า

“สิ่งที่ทางคณะนักศึกษา มองถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงปัญหาของชาวบ้าน แต่แท้จริงเมื่อเราเข้าไปศึกษาและดูจนเห็นจริงว่ามีระบาดสร้างความเสียหาย อีกทั้งยังต่อยอดขยายพันธุ์สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การทำประมงของชาวบ้านได้รับผลกระทบขยายวงกว้างแบบต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

แบบนี้แหละที่ทางคณะนักศึกษา ปรม. รุ่นที่ 23 มองว่าเป็นปัญหาของชาติได้ และภาครัฐหรือแม้แต่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรอยู่เฉย รัฐอาจจะเฉยๆ แม้จะแก้ยากก็ควรต้องแก้ ตรงนี้เราจึงพยายามคิดหาทางผลักดันเรื่องนี้ให้ได้รับการแก้ไขโดยอาศัยกลไกกระบวนการต่างๆ ในตรวจสอบ ร้องเรียน รวมถึงทางกฎหมายอย่าง ม.157 ที่เรามองว่าน่าจะช่วยกระตุ้นให้มันเป็นปัญหาของรัฐ หรือในช่องทางของการสื่อสารผ่านสื่อแขนงต่างๆ ให้เห็นถึงความเดือดจริงๆ ที่ต้องการให้แก้ไขเยียวยาเพราะเราเห็นว่าชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่ใช่จุดเริ่มต้นของปัญหา ฉะนั้นใครก็ตามที่เป็นต้นตอของเรื่องจนลุกลามเดือดร้อนถึงชาวบ้านก็ควรต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ปัญหาร่วมกัน

รศ.ดร.รจนา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ส่วนต้นน้ำเรื่องของการแก้ไขปัญหาระดับประเทศ ทางคณะนักศึกษา ปรม. รุ่นที่ 23 จะเร่งดำเนินการผลักดันนโยบายให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยนำข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปกำหนดเป็นแนวทางเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งการขับเคลื่อนในส่วนนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จึงร่วมมือกับ “กลุ่มปลาหมอคางดำ” ซึ่งเป็นตัวแทนของนักศึกษา ปรม. รุ่นที่ 23 เข้าไปเจรจาทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างโรงงานแปรรูปขนาดเล็กให้กับชุมชน พร้อมทั้งเป็นแหล่งซื้อขายปลาหมอคางดำ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุดที่สุด อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการทั้งสองส่วนนี้คู่ขนานกันไป

สุดท้ายก็หวังว่าประเด็นนี้จะไม่หยุดแค่ โครงงานดังกล่าวของหลักสูตร ปรม. รุ่นที่ 23 เท่านั้น แต่จะสามารถต่อยอดสร้างเครือข่ายผนึกกำลังกันจนแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน พลิกวิกฤตเป็นโอกาสสร้างรายได้แก้ปัญหาปากท้องให้กับชุมชนทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและพื้นที่ใกล้เคียงที่ประสบปัญหาได้เช่นเดียวกัน

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ และเป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน