สวนกล้วยไม้ Readyorchid แนะวิธีใช้ปุ๋ยทางใบกับกล้วยไม้

คุณอรทัย บุญยืนเวทวัฒน์ เจ้าของสวนกล้วยไม้ Readyorchid บ้านเลขที่ 273/14 หมู่ที่ 1 ซอยเพชรเกษม 82 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160 โทร. 089-019-5504 จัดเป็นนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นใหม่ที่ได้รับถ่ายทอดประสบการณ์การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาจาก คุณวีรเดช บุญยืนเวทวัฒน์ ผู้เป็นบิดา ผ่านประสบการณ์ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มากว่า 30 ปี ในยุคของการปลูกกล้วยไม้หวายเพื่อการตัดดอกจำหน่าย แต่ด้วยภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง จึงปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตกล้วยไม้กระถาง ควบคู่ไปกับงานการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสม โดยคุณวีรเดชจะพัฒนาสายพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจนำไปปั่นตาเพื่อจำหน่ายเป็นลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ๆ ตัวอย่างราคาของกล้วยไม้หวายลูกผสมพันธุ์ใหม่จะซื้อ-ขายกัน ราว 5,000-10,000 บาท และกล้วยไม้แคทลียาลูกผสมพันธุ์ใหม่ ซื้อ-ขาย ราว 10,000-50,000 บาท เป็นต้น

ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ต้องเข้าใจการใช้ปุ๋ย

การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้งามและพร้อมออกดอกนั้น อาจจะมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน แต่สำหรับคุณอรทัยแล้วแนะนำว่า ผู้ปลูกเลี้ยงต้องมีความเข้าใจการใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้เสียก่อน อีกทั้งการใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้นั้นยังต้องปรับเปลี่ยนตามการเจริญเติบโตในแต่ละช่วง สภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล จึงมีข้อแนะนำในการใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ตามฤดูกาลต่างๆ ดังนี้

คุณอรทัย อธิบายว่า ปุ๋ยนั้นเป็นคำเรียกแทนอาหารของพืช ซึ่งมีแร่ธาตุหลายชนิดที่มีคุณค่าแก่การเติบโตของพืช แบ่งเป็น 2 จำพวกใหญ่ๆ คือ ปุ๋ยธรรมชาติ หรือปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีอยู่ในโลกตามธรรมชาติ เช่น ขี้หมู ขี้วัว ขี้ควาย ใบไม้ และหญ้าหมัก ตลอดจนพืชและสัตว์ที่ตายทับถมเน่าเปื่อยผุพังไปแล้วนานๆ ปุ๋ยแบบนี้มักนำไปใช้กับกล้วยไม้ประเภทที่มีระบบรากอยู่ในดิน หรือแบบกึ่งดินกึ่งอากาศ เช่น สกุลรองเท้านารี สกุลไฟอัส หรือเอื้องพร้าว สกุลยูโลเฟีย หรือหมูกลิ้ง สกุลสะแปโตกลอทติส และสกุลฮาเบนาเรีย เป็นต้น

ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยประเภทนี้จะประกอบด้วยแร่ธาตุอาหาร 3 ชนิด ที่พืชต้องการมากที่สุดคือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ซึ่งแร่ธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้ ถือเป็นอาหารหลักที่ต้องใช้เป็นประจำและใช้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีแร่ธาตุอาหารอื่นที่เป็นธาตุอาหารรอง ซึ่งกล้วยไม้และพืชต่างๆ ต้องการใช้เพียงจำนวนเล็กน้อย เพื่อเป็นการเสริมอาหารหลักให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น

คุณอรทัย เล่าว่า ปุ๋ยที่ใช้เป็นประจำในสวนกล้วยไม้นั้น หลักๆ จะมีด้วยกันประมาณ 4 สูตร คือ สูตรเสมอเท่ากัน เช่น 20-20-20, 21-21-21 เป็นต้น สูตรเร่งดอก เช่น 15-30-15 สำหรับฉีดกระตุ้นตาดอกในไม้ที่หน่อสุดแล้ว สูตรขั้นบันได ได้แก่ 10-20-30 และ 16-21-27 ช่วยด้านความแข็งแรงของลำต้นและการออกดอกในกรณีที่แสงน้อย และสูตรตัวหน้าสูง เพิ่มความอวบของต้นไม้ เช่น 30-20-10

แนวทางการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในบ้าน

ปุ๋ยกล้วยไม้ที่ใช้กันโดยมากจะเป็นปุ๋ยเคมี แบบเกล็ดละลายน้ำ และปุ๋ยน้ำ ที่สำคัญนั้นต้องดูที่สูตรปุ๋ย โดยสูตรปุ๋ยที่ควรมีประจำติดบ้านหลักๆ คือ สูตรเสมอ เช่น 21-21-21 และ สูตรขั้นบันได เช่น 16-21-27 หรือ 10-20-30 ปกติแล้วที่แนะนำคือ ฉีดพ่นสลับกัน ทุก 7-10 วัน ยกตัวอย่าง เช่น วันที่ 1 ฉีดพ่นปุ๋ยสูตร 21-21-21 พอวันที่ 8 ให้เปลี่ยนเป็นปุ๋ยสูตร 16-21-27 และพอถึงวันที่ 15 ก็กลับมาใช้สูตร 21-21-21 ฉีดสลับกันไปแบบนี้เรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือ ต้องใส่ปุ๋ยให้สม่ำเสมอ ใช้ในอัตราส่วนที่พอเหมาะ ตามฉลาก และใส่ปุ๋ยในช่วงเช้า วันที่อากาศสดใส เพื่อการดูดซึมที่ดี ไม่จำเป็นต้องใช้สูตรพิสดารมากมาย เพียง 2 สูตรนี้ ก็ทำให้ต้นงามและเห็นดอกได้แล้ว

ใช้ปุ๋ยตามระยะการเติบโต และสอดคล้องกับฤดูกาล

การใช้ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้กระถางนิ้วคือ อายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน โดยปกติแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 21-21-21 ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุกๆ 7 วัน ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกมาก ให้ใช้สูตรเสมอ ฉีดสลับกับ สูตร 16-21-27 จะทำให้ไม้นิ้วแข็งแรงขึ้น ในช่วงอากาศแห้ง ความชื้นในอากาศน้อย และฤดูหนาว ให้ใช้สูตรเสมอ ฉีดสลับกับ สูตร 30-20-10 จะทำให้ไม้นิ้วอ้วนขึ้น ใบเขียว แต่สำหรับกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตเต็มที่ เป็นไม้สาว พร้อมออกดอก คุณอรทัย แนะนำว่า โดยปกติทั่วไป แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 21-21-21 ฉีดสลับกับ สูตร 16-21-27 ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุกๆ 7 วัน กล้วยไม้สกุลแคทลียาและหวายสามารถให้สูตร 16-21-27 ทุกๆ 7 วัน ได้เลย จะช่วยให้ออกดอกบ่อย แต่ต้นจะไม่เขียว ออกสีเขียวเหลืองๆ หน่อย ฤดูร้อนจัด เดือนเมษายน/ฤดูแล้ง ควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 21-21-21 ฉีดสลับกับสูตรตัวหน้าสูง เช่น 30-20-10 ในช่วงฤดูฝนจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 21-21-21 ฉีดสลับกับ 16-21-27 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของลำต้น ถ้าต้นอ่อนแอมาก ก็สามารถใช้สูตร 6-20-30 ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนช่วงหมดฝน-ฤดูหนาว ใช้สูตรเสมอ 21-21-21 เป็นตัวยืน ฉีดสลับด้วย 16-21-27 หรือ 10-20-30 ถ้ากรณีที่มีลมหนาวมาแรงๆ ทำให้ใบเหลืองได้ ก็อาจใช้ปุ๋ยปลาช่วยได้บ้างเป็นครั้งคราว

สิ่งสำคัญอื่นๆ นอกจากการให้ปุ๋ย คุณอรทัย แนะว่า ผู้เลี้ยงต้องหมั่นสังเกต ยกตัวอย่าง สภาพแวดล้อม เช่น แสง น้ำ ลมโกรก โรค และเครื่องปลูก โดยเฉพาะเครื่องปลูกประเภทกาบมะพร้าว มักจะอมน้ำ และเมื่อปลูกไปนานๆ จะหมดสภาพคือ เอานิ้วจิ้มลงไปจะเละ ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่เช่นนั้นระบบรากจะเริ่มเสีย ทำให้ต้นกล้วยไม้ทรุดโทรม อาหารเสริมอื่นๆ เช่น สาหร่าย และวิตามิน แร่ธาตุอื่นๆ สามารถให้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้วยไม้ ความสมบูรณ์ และสีสันของดอก แต่ต้องระมัดระวังการใช้ ให้พอดีกับความต้องการของต้นไม้ ยาฆ่าเชื้อรา ต้องระมัดระวังในการใช้ ควรใช้ตามอัตราส่วนที่ฉลากแนะนำ หากใช้อัตราที่สูง อาจส่งผลเสีย เช่น ทำให้ต้นแกร็น หรือเติบโตช้าได้

ผู้สนใจสามารถติดต่อ สวน readyorchid ได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 089-019-5504, 085-902-9027 หรือทาง LINE ID : readyorchid  หรือทาง  https://www.facebook.com/Readyorchid

……..

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก facebook : Readyorchid