“จักจั่น” แมลงนักดนตรี อาหารรสอร่อยช่วงฤดูร้อน

แว่วเสียงจักจั่น…เมนูฤดูร้อนมาถึงแล้ว ชาวบ้านมักเข้าป่าในฤดูร้อนเพื่อจับจักจั่นที่ร้องระงมอยู่ในป่าโปร่ง โดยใช้ไม้ไผ่รวกยาวเฟื้อยเป็นอาวุธ ที่ปลายไม้นั้นติดยางไม้เหนียวที่เรียกว่า “ตัง” จักจั่นมักเกาะอยู่บนเปลือกไม้ต้นสูงในระดับต้องแหงนคอส่องหา สีสันของจักจั่นเป็นสีน้ำตาลไหม้กลืนไปกับเปลือกไม้ ทำให้มองไม่ค่อยเห็นตัวมันหรอก ต้องใช้หูฟังเสียงว่าดังมาจากจุดไหน แล้วสังเกตปีกใสๆ ที่ส่องประกายในแดด เอาปลายไม้ไปแตะเบาๆ ตังเหนียวหนับแค่โดนปีกจักจั่นก็ดูดแมลงทั้งตัวลงมา วิธีนี้ปีกจักจั่นจะขาดรุ่งริ่ง ตัวจักจั่นที่ติดปลายไม้จะถูกดึงออกจากยางยัดลงไปในข้อง ทีละตัวๆ เพื่อนำไปปรุงอาหารในเมนูก้อย-ลาบ แกงผักหวานป่าใส่จักจั่นฤดูร้อน เด็กๆ ก่อไฟเอาจักจั่นเสียบไม้ปิ้งหอม…กลิ่นควันไฟอยู่ในเสียงจี่ๆ ของแมลงรสเลิศจากกองไฟอวลอยู่ในสายลมร้อน

ส่วนจักจั่นตัวสวยๆ ที่วางขายในตลาด ชาวบ้านจะออกล่ากันตอนกลางคืน แม้แมลงยังไม่ร้องให้ได้ยินเสียง แต่ถ้ารู้จักต้นไม้ที่จักจั่นชอบ แค่ไปยืนใต้ต้นไม้ ถ้ารู้สึกว่ามีละอองน้ำเป็นฝอยตกลงมาคือ “เยี่ยวจักจั่น” ชาวบ้านจะลงมือเขย่าต้นไม้ให้จักจั่นร่วงลงสู่พื้น จากนั้นก็ใช้ไฟส่องตามเก็บเอาบนพื้นดิน บางคนถึงขนาดโค่นต้นไม้ลงทั้งต้นเพื่อเอาจักจั่นในสภาพที่สวยงามสมบูรณ์ ขายได้ราคาดี

จักจั่นชนิดที่พบเห็นในเมืองไทยมาก
จักจั่นออสเตรเลีย

แมลงทั้งโลกมีอยู่ราว 850,000 ชนิด หลายท่านอาจไม่ทราบว่าที่จริงแล้วแมลงส่วนใหญ่เป็นใบ้ คือไม่ส่งเสียงเลย มันแค่เกิดมาใช้ชีวิตตามวงจรของมันแล้วจากโลกนี้ไป มีเพียงจักจั่น กับจิ้งหรีด เป็น “แมลงนักดนตรี” ที่สามารถส่งเสียงได้ เมื่อเทียบความดังของเสียงแล้ว จักจั่นเป็นแมลงที่ส่งเสียงดังมากกว่าและสามารถร้องเพลงได้เป็นเวลายาวนานกว่า

จักจั่นเป็นแมลงโบราณเก่าแก่ยุคเดียวกับไดโนเสาร์ที่ยังคงสืบพันธุ์จนถึงทุกวันนี้ ทั่วโลกมีจักจั่นอยู่ด้วยกันหลายสกุลรวมแล้วนับพันชนิด มักอาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อน เป็นแมลงนักดนตรีที่ทั่วโลกรู้จักกันดี เนื่องจากเสียงของมันดังก้องกังวานแตกต่างจากเสียงของแมลงนักดนตรีชนิดอื่นๆ และพบมากในช่วงฤดูแล้ง…เฉพาะในเมืองไทยต้องเป็นฤดูร้อนแล้งเท่านั้น เสียงจักจั่นที่ร้องระงม ดังแอ่ๆๆๆๆ มีเอกลักษณ์มากจริงๆ พอได้ยินปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านั่นเป็นเสียงจักจั่น มิใช่อย่างอื่น พวกเขามาพร้อมกับฤดูร้อน ชอบบรรเลงเพลงในช่วงเช้าและบ่าย โดยเฉพาะยามเย็นมักจะร้องนานกว่าปกติ บางทีก็ติดพันยาวนานไปจนดึกดื่น

ตัวอ่อนจักจั่นฝังอยู่ใต้ดินเป็นสิบปี
จักจั่นที่เพิ่งขึ้นจากดินใหม่ๆ รอลอกคราบ

ทันทีที่เสียงแรกกรีดขึ้น เสียงร้องรับจากตัวอื่นๆ ก็ดังระงมเป็นมโหรีโรงใหญ่ มันเป็นเสียงของแมลงตัวผู้เท่านั้น จักจั่นตัวเมียไม่ส่งเสียง…นักกีฏวิทยาระบุว่า มีแต่จักจั่นเพศผู้เท่านั้นที่ทำเสียงได้และไม่ใช่เสียงจากการกรีดปีกเหมือนแมลงมีปีกอื่นชอบทำกัน แต่จักจั่นมีอวัยวะทำเสียงเฉพาะของมันตั้งอยู่ทางด้านล่างของส่วนท้องหรือใต้อก มีลักษณะเป็นช่องลมที่มีแผ่นแข็ง 1 คู่ คล้ายหนังกลองเรียกว่า “opercula” ปิดทับอยู่ (จักจั่นเพศเมียก็มีอวัยวะนี้เช่นเดียวกัน แต่มีขนาดสั้นจึงไม่สามารถส่งเสียงได้) พวกมันจะทำเสียงด้วยการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวอย่างเร็ว ทำให้เกิดแรงลมที่ไปดันผนัง opercula ให้โป่งขึ้นและยุบลงอย่างรวดเร็วและสั่นพลิ้วจนกลายเป็นเสียงสูงแหลมหวีดหวิวดังก้องกังวานมาก

ว่ากันว่าจักจั่นสามารถยืดหดตัวกล้ามเนื้อสร้างเสียงของมันสลับกันไปมาได้นาทีละ 100 ครั้งหรือมากกว่านี้ด้วยซ้ำเพื่อสร้างเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจักจั่นขึ้นมา จักจั่นตัวผู้จะร้องเพลงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียให้มาผสมพันธุ์ด้วย และร้องเพื่อเตือนภัยเมื่อถูกรบกวน มีแต่นักเลงแมลงเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเสียงจักจั่นแบบไหนคือเสียงเรียกหาคู่และเสียงใดคือเสียงตกใจเมื่อถูกรบกวน

เมื่อลอกคราบหลายครั้งก็จะเป็นตัวโตสมบูรณ์
จักจั่นตัวโตสมบูรณ์แล้ว

ในการร้องเพลงหาคู่นั้น จักจั่นแต่ละตัวจะโชว์ลีลาพลังเสียงสุดฤทธิ์ ตัวที่ส่งเสียงได้ดังและแหลมสูงมากที่สุดย่อมเป็นพระเอกในกลุ่ม สามารถเรียกความสนใจจากตัวเมียได้มากเป็นพิเศษ มันจะกลายเป็นจักจั่นคาสโนว่าสามารถเลือกคู่ครองได้ตามใจปรารถนา

นอกจากนั้น เสียงร้องแหลมสูงของจักจั่นที่ดังกว่า 100 เดซิเบลนั้นยังสามารถทำลายแก้วหูของสัตว์บางชนิดได้ อาจมีผลทำให้นกที่หากินกลางวันรู้สึกปวดหูอย่างรุนแรงจนไม่อยากเข้าใกล้แถบถิ่นที่อยู่ของพวกจักจั่น เท่ากับว่าเสียงร้องของพวกมันยังใช้เป็นอาวุธไล่ศัตรูไม่ให้กล้ำกรายเข้ามาใกล้ได้ด้วย

จักจั่นตัวผู้ลำตัวยาว
จักจั่นตัวเมียลำตัวสั้น

แต่ในบางพื้นที่จักจั่นรู้ดีว่าต้องเงียบเสียง ถ้าหากศัตรูตัวนั้นร้ายกาจ อย่างเช่นในแถบถิ่นของนกกลางคืนจำพวกนกเค้าแมว จักจั่นก็จะร้องเรียกหาคู่เฉพาะตอนกลางวันแล้วหยุดส่งเสียงในตอนพลบค่ำ เป็นการป้องกันไม่ให้นกจับแมลงรู้ตำแหน่งถิ่นที่อยู่ของพวกมัน เมื่อตัวเมียเลือกตัวผู้ที่มันชอบได้แล้วก็จะผสมพันธุ์กัน จากนั้นตัวเมียจะไปวางไข่ซ่อนไว้ตามเปลือกไม้ก่อนที่ทั้งคู่จะตายไป ทั้งตัวผู้และตัวเมีย หลังจากนั้นอีก 4 เดือนจักจั่นชุดใหม่ก็จะเปลี่ยนสภาพจากไข่กลายเป็นตัวอ่อนขาวๆ เหมือนหนอน คลานออกจากเปลือกไม้มุดลงไปฝังตัวอยู่ใต้ดินยาวนานหลายปีขึ้นอยู่กับว่าจักจั่นชนิดนั้นเป็นสายพันธุ์ใด ว่ากันว่าวงจรชีวิตตัวอ่อนใต้ดินของจักจั่นนั้น เริ่มตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และบางชนิดอาจฝังตัวยาวนานถึง 17 ปีเลยทีเดียว

อาณาจักรใต้ดินของจักจั่นจึงเป็นอาณาจักรลี้ลับกว้างใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้เห็น พวกมันอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้เป็นอาหาร จนเมื่อโตเต็มวัยแล้วจึงจะขึ้นจากดินออกมาลอกคราบเป็นจักจั่นตัวโตเต็มวัยและร้องเพลงคิมหันต์เซ็งแซ่ให้เราฟังในชั่วเวลาไม่นานนัก จากนั้นก็หาคู่…ผสมพันธุ์ แล้วตาย ก่อนเข้าสู่วงจรชีวิตใหม่อีกรอบ เริ่มต้นนับหนึ่งที่ไข่ใต้เปลือกไม้ที่มันฝังเอาไว้

จักจั่นเป็นราชาและราชินีแห่งฤดูร้อน ผู้บ่งบอกการมาเยือนของฤดูร้อนอย่างชัดเจนที่สุด ตรงต่อเวลาสม่ำเสมอทุกปี มาถึงแล้วก็จากไป ในห้วงขณะสั้นๆ ตัวผู้ก็ตาย…ตัวเมียก็ตาย เป็นปกติเช่นนี้ เป็นเพลงกล่อมโลก และเป็นอาหารพื้นบ้านอันโอชะ โดยเฉพาะเมนูแกงผักหวานป่าใส่จักจั่นฤดูร้อน