รู้จัก!!! เห็ดขี้ควาย เห็ดวิเศษสุดอันตราย สารเสพติดให้โทษ มีโทษหนักถึงติดคุก

เห็ดขี้ควาย เป็นเห็ดพิษซึ่งขึ้นอยู่ตามกองมูลควายแห้ง สีของเห็ดจะมีสีเหลืองซีดคล้ายสีฟางแห้ง บนหัวของร่มจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ บริเวณก้านที่ใกล้จะถึงตัวร่มจะมีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ สีขาวแผ่ขยายออกรอบก้าน แผ่นนี้มีลักษณะคล้ายวงแหวน

ซึ่งเห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศ ลักษณะของเห็ดตัวสมบูรณ์และโตเต็มที่ตรงบริเวณหมวกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-9 เซนติเมตร ความสูงของลำต้นประมาณ 5-8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.0 เซนติเมตร

ความอันตรายที่แท้จริงของเห็ดขี้ควายนั้นคือสารที่อยู่ภายในเห็ดขี้ควาย มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ psilocybine หรือ psilocine ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา บางรายยังแน่นหน้าอกด้วย

ทั้งนี้ ในภาคอีสานมีการใช้เห็ดขี้ควายในตำรับยาต่างๆ มากกว่า 20 ตำรับ ที่มีการปรุงยากันมาก ได้แก่ ตำรับยาแก้ไข้หมากไม้ (ไข้ที่เป็นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มักเป็นในช่วงที่มีผลไม้ออกมากๆ ไข้ชนิดนี้เมื่อเป็นแล้วห้ามทานผลไม้) ยกตัวอย่างยาแก้ไข้หมากไม้ ให้เอาเห็ดขี้ควายปิ้งให้แห้ง (เกรียม) ฮากข้าว ฮากแตงกัว (แตงกวา) ฝนกินดีแล

ยารักษาโรคผิวหนัง ที่มีการใช้เห็ดขี้ควาย อาทิ ยาออกสุก (เป็นอีสุกอีใส) ตุ่มบ่ขึ้น (ตุ่มไม่ออก) ให้เอา ไข่เป็ด 1 เห็ดขี้ควาย 1 ทาดีแล หรืออีกตำรับให้ใช้ ฮากแค้งขม (มะแว้ง) เห็ดขี้ควาย ขนบั่วไก่ขาว (ขนอ่อนของไก่ชี) ฝนใส่น้ำหน่อไม้ส้ม ทาดีแล

อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่กินหรือสูบเข้าไปปริมาณมากจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน เห็นภาพและแสงต่างๆ มีลักษณะอาการคล้ายกับเสพแอลเอสดี มีการประมาณการว่า กินขนาดที่ทำให้เกิดพิษได้ คือ กินหรือเสพมากกว่า 15 ดอก หรือกินเห็ดแห้งเข้าไป 1-4 กรัม

บรรดาสายปาร์ตี้ทั้งหลายจึงชื่นชอบเป็นพิเศษ นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหาร หรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทลสำหรับใช้เสพ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้เป็นเห็ดพิษ กินแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมากิน

เห็ดขี้ควาย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในบรรดานักเที่ยวว่า “Magic Mushroom” หรือเห็ดมหัศจรรย์ มีการแพร่ระบาดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม

สำหรับในประเทศไทย “เห็ดขี้ควาย หรือเห็ดวิเศษ” ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ด จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565

จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,00 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด

ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด

ที่มา มติชนออนไลน์