ที่มา | ไม้ดอกไม้ประดับ |
---|---|
ผู้เขียน | หมอเกษตร ทองกวาว |
เผยแพร่ |
หลายคนปลูกปทุมา มาแล้วหลายปี แต่ประสบปัญหา การผลิตหัวพันธุ์ปทุมาไม่ได้คุณภาพ เกิดโรคหัวเน่าเข้าทำลาย จนไม่สามารถใช้ขยายพันธุ์ต่อไปได้ ไม่ว่าจะพยายามปรับปรุงวิธีการปลูกมาแล้วหลายครั้งก็ตาม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หากใครเจอปัญหาดังกล่าว หมอเกษตร ทองกวาว มีคำตอบในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
โรคพืชของปทุมา
ปทุมาเป็นพืชอ่อนแอต่อโรคหัวเน่าหรือโรคเหี่ยวที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรีย จึงนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งหัวพันธุ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อาการของโรคระยะแรกพบว่า ใบแก่ที่ส่วนล่างห่อม้วนเป็นหลอดคล้ายการขาดน้ำ หน่อที่เกิดใหม่คล้ายมีรอยช้ำ ต่อมาต้นจะหักพับลงและเน่าตายในที่สุด เมื่อผ่าหัวออกจะเห็นเป็นเนื้อแก้ว มีกลิ่นเหม็น โรคนี้มักระบาดรุนแรงในฤดูฝน และสามารถแพร่ระบาดไปยังแปลงปทุมาที่ปลูกในบริเวณใกล้เคียง หรืออาจปนเปื้อนไปกับหัวพันธุ์ได้
วิธีป้องกันและกำจัดโรค
วิธีป้องกันกำจัดโรคทำได้ไม่ยาก คือไม่นำหัวพันธุ์จากแหล่งปลูกที่เป็นโรคหัวเน่ามาปลูก การเลือกพื้นที่ปลูก ต้องไม่เคยปลูกพริก มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่ง ผักโขม ขิง และข่า มาก่อน ไถพรวนและตากดินฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 1 เดือน ทางเลือกที่ดี ปัจจุบันนิยมปลูกในถุงเพาะชำสีดำ ขนาด 6×12 นิ้ว มีวัสดุปลูกที่ร่วนซุยและสะอาด ประกอบด้วย ทรายหยาบ แกลบดิบ และขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1 : 1 : 1 โดยปริมาตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน กองรวมกันไว้กลางแดดฆ่าเชื้อโรค อย่างน้อยเป็นเวลา 15-20 วัน ครบตามกำหนด นำบรรจุถุงให้เต็มแล้วกดพอแน่น ให้วัสดุปลูกต่ำกว่าปากถุงเพาะชำเล็กน้อย รดน้ำพอให้ชุ่ม แต่อย่าถึงกับแฉะ
นำหัวพันธุ์ที่เตรียมไว้บ่มในขุยมะพร้าวที่ชื้นพอเหมาะ เพื่อกระตุ้นให้งอกต้นอ่อน แล้วนำปลูกลงถุง ช่วงปลูกที่ดีที่สุดคือช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม หากมุงหลังคาพลาสติกใสจะช่วยป้องกันฝนไม่ให้ตกลงในถุง เกิดน้ำขัง เน่า แฉะ ยกแปลงกว้าง 1.2 เมตร สูง 25-30 เซนติเมตร และความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่งผิวหน้าให้เรียบ ปูทับด้วยผ้าพลาสติกใส หรือแผ่นซีเมนต์บล็อกแทนก็ได้ ป้องกันเชื้อโรคที่อยู่ในดินเข้าทำลาย นำถุงปลูกปทุมาวางเรียงบนสันร่องให้เป็นแถวเป็นแนว เพื่อสะดวกในการเข้าไปดูแล ใส่ปุ๋ยครั้งแรกด้วยสูตร 15-15-15 หรือ 21-7-14 อัตรา 7-10 กรัมต่อถุง ทุก 3 สัปดาห์ แล้วรดน้ำตาม น้ำที่ใช้รดต้องสะอาด หากไม่แน่ใจให้ใส่คลอรีนเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 2 คืน ก่อนนำไปรดปทุมา
วิธีดูแล “ปทุมา” ให้มีหัวขนาดใหญ่
กรณีที่ต้องการให้หัวปทุมามีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ตัดดอกทิ้งไปขณะเป็นดอกตูม ให้แตกกอใหม่ เพิ่มการสังเคราะห์อาหารส่งไปยังหัวได้มากขึ้น หมั่นกำจัดวัชพืชออกจากถุงอย่างสม่ำเสมอ ระยะเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุดเมื่อกลีบประดับบาน 4-6 กลีบ ข้อควรคำนึงก่อนเข้าในเรือนปลูก ให้แช่เท้าในคลอรอกซ์เข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกครั้ง ก่อนตัดดอกควรรดน้ำก่อน 1 วัน ใช้มีดหรือกรรไกรคมและสะอาด ตัดที่โคนให้มีใบติดมาด้วย 1 ใบ รวบรวมดอกวางโคนก้านลงในภาชนะใส่น้ำ เก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 12-15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง ก่อนขนส่งสู่ตลาด จากนั้นนำหัวพันธุ์ออกจากถุง ล้างน้ำให้สะอาด ใช้กรรไกรสะอาด ฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ ตัดแต่งรากหรือส่วนที่ติดมากับหัวหรือตุ้มออกให้หมด ผึ่งลมไว้ในร่ม เป็นเวลา 14 วัน
วิธีป้องกันการติดเชื้อไปกับหัวพันธุ์ปทุมา ให้แช่หัวพันธุ์ลงในโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 1 ปี๊บ เป็นเวลา 10-15 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคหัวเน่า และควรระวังอย่าแช่นานเกินเวลาข้างต้น เพราะจะทำให้ตายอดถูกทำลาย นอกจากนี้ การกำจัดเชื้อราที่ติดมากับหัวพันธุ์ให้แช่ในคาร์เบนดาซิม 50 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ เป็นเวลา 30 นาที แล้วผึ่งให้แห้ง การปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น คุณจะได้หัวพันธุ์ปทุมาที่ได้คุณภาพดี และปราศจากโรคหัวเน่าติดมา แล้วนำเก็บในที่อากาศถ่ายเทได้ดี เตรียมไว้ปลูกในฤดูกาลต่อไป
………….
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2567.