เปิดตัวเลข “สับปะรดปัตตาเวีย” จ.ชัยภูมิ แหล่งผลิตสำคัญภาคอีสาน ปีนี้ ผลผลิตรวม 3.8 หมื่นตัน

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2567 ของจังหวัดชัยภูมิ แหล่งผลิตสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นของ สศท.5 คาดการณ์ว่า ปี 2567 จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว จำนวน 8,149 ไร่ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 8,151 ไร่ เนื่องจากภาวะฝนแล้ง และฝนทิ้งช่วง คาดว่าเกษตรกรบางส่วนกังวลว่าจะกระทบแล้งจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า และไม้ผลที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทุเรียน ยางพาราที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตรวม จำนวน 38,178 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 38,187 ตัน เนื่องจากภาวะฝนแล้งและการดูแลรักษาไม่เพียงพอ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 4,685 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 4,665 กิโลกรัมต่อไร่  

จากการติดตามของ สศท.5 พบว่า แหล่งผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอเทพสถิต ซึ่งสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี จัดอยู่ในกลุ่ม Smooth cayenne เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด เหมาะสำหรับการบริโภคสดมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว หากเก็บเอาไว้สักระยะจะมีรสชาติหวานเพิ่มขึ้น 

โดยในปี 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงต้นปี (มกราคมมีนาคม) จำนวน 13,957 ตัน คิดเป็นร้อยละ 36.43 ของผลผลิตทั้งจังหวัด และจะออกมากอีกรอบช่วงปลายปี (พฤศจิกายนธันวาคม) จำนวน 13,815 ต้น คิดเป็นร้อยละ 36.06 ของผลผลิตทั้งจังหวัด ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมในพื้นที่เพื่อส่งขายโรงงานแปรรูปสับปะรด

สำหรับราคาขายแบ่งเป็น 2 เกรด (ราคา ณ ไร่นา วันที่ 25 มีนาคม 2567) ได้แก่ สับปะรดผลใหญ่ ราคา 11.60 บาทต่อกิโลกรัม สับปะรดผลเล็ก ราคา 5 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 10 จำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด ราคา 15-20 บาท/ต่อกิโลกรัม โดยราคาขึ้นอยู่กับขนาดของผล 

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ยังได้รับการสนับสนุนจากโรงงานแปรรูปสับปะรดผ่านผู้รวบรวมในพื้นที่ให้มีการตั้งเครื่องคัดเกรดสับปะรดปัตตาเวีย สนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และส่งเสริมให้มีการนำเปลือกสับปะรดไปผสมทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพในพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3, 4 และ 5 ประธานเกษตรกรแปลงใหญ่สับปะรดปัตตาเวีย โรงงานแปรรูปสับปะรดปัตตาเวีย และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ให้ความสำคัญกับสับปะรดปัตตาเวีย          

โดยร่วมกันจัดทำแผนติดตามการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตสับปะรดปัดตาเวีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2567 รวม 5 จังหวัด ดังนั้น สับปะรดปัตตาเวียจึงเป็นอีกหนึ่งของสินค้าทางเลือกของเกษตรกรที่สามารถสร้างมูลค่าและรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนเกษตรได้เป็นอย่างดี หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและตลาดสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดชัยภูมิ สามารถสอบถามได้ที่ สศท.5 โทรศัพท์ 044-465-079 หรือ อีเมล [email protected]