กรุ่นกลิ่น “โกปี้” ควนโดน กาแฟโบราณต้นตำรับ 100 ปี โอท็อปดังของแม่บ้าน “สะพานเคียน”

การดื่มกาแฟยามเช้าและระหว่างวัน เป็นกิจวัตรประจำวันที่เพิ่มความสดชื่น กระปรี้กระเปร่าให้ร่างกาย โดยเฉพาะกลิ่นกาแฟหอมกรุ่นในตอนเช้า เรียกความสดชื่นให้ตื่นเต็มตาก่อนเริ่มต้นวันทำงาน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์กาแฟมีหลากหลายให้เลือกบริโภค ทั้งแบบกึ่งสำเร็จรูปที่ต้องปรุงรสชาติเพิ่มเติมทั้งนมและน้ำตาล หรือปรุงรสชาติมาให้เสร็จสรรพในรูปแบบอินสแตนท์ รวมถึง “กาแฟสด” ที่บดเองชงเอง ขณะเดียวกันคอกาแฟโบราณยังชื่นชอบกาแฟกึ่งสำเร็จรูปของท้องถิ่น “โกปี้” โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โกปี้เป็นสินค้าที่ยังคงได้รับความนิยม

ที่ จังหวัดสตูล เคยมีพื้นที่ปลูกกาแฟ ประมาณปี 2540 อำเภอควนโดนมีการปลูกไร่กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าค่อนข้างมากทีเดียว รวมทั้งกลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันผลิตกาแฟโบราณเพื่อสร้างรายได้ และต่อยอดอาชีพ ต่อมาเกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกยางพารา ลองกอง ซึ่งมีรายได้ดีกว่า ขณะที่กลุ่มแม่บ้านยังคงผลิตกาแฟโบราณอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่องถึงขีดสุด ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟอีกครั้ง ส่งผลให้การผลิตกาแฟพื้นบ้านกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ฉ๊ะ แกสมาน วัย 56 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสะพานเคียน เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสะพานเคียน เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ ตำบลควนโดน 30 คน ใช้เวลาว่างช่วยกันผลิตกาแฟโบราณ โดยใช้กาแฟพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอควนโดนในรอบ 6 เดือน อีกส่วนจะซื้อพันธุ์กาแฟจากจังหวัดชุมพร ทำให้ทางกลุ่มสามารถผลิตกาแฟได้ตลอดทั้งปี

ในการผลิตกาแฟพื้นบ้าน สมาชิกกลุ่มจะรวมตัวกันในช่วงบ่ายสองโดยนัดวันว่างพร้อมกันในแต่ละสัปดาห์ ทุกคนต้องสวมใส่ผ้ากันเปื้อนก่อน จากนั้นเตรียมอุปกรณ์ ส่วนผสมของกาแฟโบราณ ประกอบด้วย เมล็ดกาแฟกะเทาะเปลือก 1 กิโลกรัม น้ำตาลแดง 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทรายขาว 2 กิโลกรัม เป็นสูตรในการผลิตกาแฟโบราณแต่ละครั้ง โดยขั้นตอนการผลิต เริ่มจากการล้างเมล็ดกาแฟที่ผ่านการตากแห้งแล้ว ก่อนนำไปคั่วด้วยไฟอ่อนในกระทะใบบัว ใช้เวลานาน 3 ชั่วโมงจนเมล็ดกาแฟเป็นสีดำ ส่งกลิ่นหอมจึงยกขึ้นจากเตา จากนั้นลงมือเคี่ยวน้ำตาลแดงกับน้ำตาลทรายแดงจนเหนียวข้นเป็นยางมะตูม น้ำตาลกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ แล้วใส่เมล็ดกาแฟคั่วลงไป เคี่ยวด้วยไฟอ่อนอย่างต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง จนส่วนผสมกาแฟเหนียว หอม มีข้อควรระวัง ไม่ให้ไหม้เด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้กาแฟจะขมเสียรสชาติ

“หลังเคี่ยวส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันเสร็จ ให้ยกลงจากเตาและเทใส่ถาดพักไว้ให้เย็น เนื้อกาแฟจะเกาะกันเป็นแผ่น จากนั้นนำไปตำในครกไม้ใบใหญ่ให้แหลก โดยสมาชิกช่วยกันตำมือ สมาชิกกลุ่มช่วยกันลงสากสลับกันไปมาตรงจังหวะขึ้นลง แล้วนำร่อนให้ได้กาแฟเนื้อละเอียดที่สุดเป็นอันใช้ได้ แค่นี้สามารถนำผสมกาแฟชงได้เหมือนกาแฟทั่วไป”

ดวงตา มาลินี ชาวบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลควนโดน สมาชิกกลุ่มวัย 59 ปี กล่าวว่า กาแฟโบราณชงได้เหมือนกาแฟทั่วไป ปกติชาวบ้านชอบดื่มแบบชงคู่กับน้ำตาล จะให้รสชาติเข้มไม่เลี่ยน เรียกว่า โกปี้ หรือ กูปี้ หรือชงคู่กับนมข้น จะให้สีหม่นๆ ไม่ดำเข้มเหมือนโกปี้ สูตรนี้เรียก “กาแฟนม” เอกลักษณ์ของกาแฟโบราณต่างจากกาแฟกึ่งสำเร็จรูปที่ขายทั่วไป คือ มีกากเล็กน้อย ซึ่งบางคนชอบเคี้ยวระหว่างดื่ม ที่สำคัญกาแฟโบราณเป็นกาแฟที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด

กาแฟพื้นบ้าน ภาษาถิ่นเรียกว่า โกปี้ หรือ กูปี้ ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า โกปิ เข้ามาแพร่หลายในอำเภอควนโดน เมื่อราว 100 ปีก่อน ช่วงสมัยพระยาภูมินารถภัคดีเป็นเจ้าเมืองสตูล โดยชาวรัฐเปอลิส ประเทศมาเลเซีย ชื่อ นายมาแอ ละใบ โดยอพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านวังประจัน ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน และนำต้นกาแฟมาปลูก ต่อมาแปรรูปเป็นกาแฟผงตามตำรับของมาเลเซียบริโภคภายในหมู่บ้าน และจำหน่ายในเวลาต่อมา

สำหรับการผลิตกาแฟตามสูตรนี้ จะได้กาแฟผง 3 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 160 บาท ปัจจุบัน วางขายที่กลุ่มกาแฟพื้นบ้าน หมู่ 2 บ้านสะพานเคียน ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล หรือตามจุดจำหน่ายสินค้าโอท็อป มีจำหน่ายทั้งแบบขวดโหลหรือแบบถุง ขนาดครึ่งกิโลกรัมส่ง 80 บาท ปลีก 100 บาท ส่วนโหลและถุงกระดาษหิ้วส่ง 35 บาท ปลีก 40 บาท โทร.สั่งซื้อได้ที่ (081) 7631-4562

กัญญาพัชร รัตนพันธ์ ผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปกระจายต่อ กล่าวว่า เสน่ห์ของกาแฟโบราณของกลุ่มแม่บ้านสะพานเคียน คือ ความหอม รสชาติกลมกล่อมของกาแฟ ที่สำคัญคือ สำหรับคนที่ไม่เคยดื่มกาแฟ หากได้ดื่มแล้วจะไม่มีอาการปวดหัว จึงสนใจนำไปต่อยอดให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่เพิ่มความสะดวกในการดื่มโดยทำเป็นถุงชง กรองกากกาแฟ แต่สำหรับคนที่ชอบเคี้ยวกาแฟ ถือว่าตรงความต้องการแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก พัชรี เกิดพรม