โซ่คุณค่าของข้าว : กำไรของกลุ่มเกษตรกรและอุตสาหกรรมข้าวไทย

โซ่คุณค่าของข้าว : กำไรของกลุ่มเกษตรกรและอุตสาหกรรมข้าวไทย โดยผศ.ดร. เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ และคณะภาควิชาเกษตกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาดภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

ในอดีตที่ผ่านมา การค้าสินค้าเกษตรยังไม่มีความซับซ้อนมากนัก เกษตรกรไทยมักเลือกปลูกพืชที่ขายได้ราคาดี ณ ช่วงเวลาที่เริ่มทำการเพาะปลูก การขึ้นลงของราคาจะเป็นไปตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในแต่ละฤดูกาลภายในประเทศ โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมีเพียงแค่ปัจจัยด้านภัยธรรมชาติและโรคระบาดเท่านั้น

แต่ ณ ปัจจุบันการค้าสินค้าเกษตรมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการเชื่อมโยงตลาดขยายออกไปนอกชุมชน ต่างจังหวัด และต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรผันแปรตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด ราคาสินค้าเกษตรของไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องฤดูกาล ภัยธรรมชาติ และโรคระบาดในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจากทั่วโลกด้วย

ปัญหาความขาดแคลนความรู้ด้านการตลาด สถานการณ์ และทิศทางการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งอุปสงค์ อุปทานโดยรวมของทั้งโลก เป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจลงทุนของเกษตรกร รวมทั้งการกำหนดนโยบายและการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการค้าสินค้าเกษตรของหน่วยงานภาครัฐไทย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาด เพื่อกำหนดต้นแบบ และยุทธศาสตร์ในการเพิ่มพูนข้อมูลความรู้ทิศทางการตลาดการค้าสินค้าเกษตรที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์ ให้ถึงมือเกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแผนการผลิตในแต่ละฤดูกาล เพื่อให้การลงทุนในปัจจัยการผลิตเกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด และทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ปรับวิถีแห่งการเป็นเกษตรกร ให้เป็น Smart Farmer ในการก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนและพอเพียง

บทความนี้จะขอนำเสนอถึงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาและการดำเนินโครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาดดังกล่าวข้างต้น โดยเนื้อหาจะเป็นการอธิบายถึงกระบวนการสีข้าว ผลผลิตและผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการสีข้าว พร้อมทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงมูลค่าของผลผลิตและผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการสีข้าว ซึ่งผลผลิตและผลพลอยได้ดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่จะเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวและนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าในการขายต่อไป

ข้าว จัดเป็นอาหารหลักที่มีความสำคัญต่อประชากรโลก มีผู้คนกว่าครึ่งโลกที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ประเทศไทยเรานั้นมีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก นานมาแล้วจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักอยู่ และที่สำคัญประเทศไทยเราก็ยังเป็นประเทศผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของโลกอีกด้วย

ข้าวที่เรารับประทานจะต้องผ่านกรรมวิธีสีเอาเปลือกข้าวออกก่อน โดยในกระบวนการสีข้าวจะเกิดผลิตภัณฑ์ ต่างๆ แสดงดังภาพที่ 1

สำหรับการสีข้าว (Rice Milling) นั้นเป็นขั้นตอนการแปรรูปเบื้องต้นของข้าวเปลือกให้ได้เป็นข้าวสาร หรือข้าวกล้อง เพื่อนำไปรับประทานหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป โดยการสีข้าวประกอบด้วยขั้นตอนหลักดังนี้

  1. การทำความสะอาดข้าวเปลือก เป็นการแยกสิ่งแปลกปลอม เช่น ฟาง เศษพืช ฝุ่น ผง กรวด ทราย ออกจากข้าวเปลือก ตะแกรงร่อนจัดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดข้าวเปลือก เป็นการทำความสะอาดแบบแห้ง โดยจะช่วยแยกสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดต่างจากข้าวเปลือก เช่น ฝุ่น ฟาง กรวด ทราย และสิ่งเจือปนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีตะแกรงแยกเมล็ดซึ่งจะใช้ลมมาช่วยเป่าสิ่งเจือปนที่มีขนาดใกล้เคียงกับข้าวเปลือก แต่มีน้ำหนักเบากว่าข้าวเปลือกออกไป คืออาศัยหลักการแยกด้วยความหนาแน่นหรือความถ่วงจำเพาะ รวมทั้งในการทำความสะอาดข้าวเปลือกจำเป็นต้องมีเครื่องแยกกรวดหิน (Destoner) ด้วยเพื่อทำหน้าที่แยกกรวดหินและโลหะที่อาจติดมากับข้าวเปลือก
  2. การกะเทาะเปลือก เป็นการแยกเอาเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งเรียกว่า แกลบ (husk) ออกจากเมล็ดข้าว ในขั้นตอนนี้จะใช้เครื่องกะเทาะ (Huller) ซึ่งเป็นลูกยางสองลูกหมุนเข้าหากันด้วยความเร็วรอบที่ต่างกัน หรือใช้เครื่องกะเทาะที่ทำด้วยแผ่นโลหะสองแผ่นบุด้วยหินหยาบ เพื่อให้เกิดการเสียดสี กะเทาะให้แกลบหลุดออกจากตัวเมล็ดข้าว ข้าวที่ได้จากขั้นตอนนี้เรียกว่า ข้าวกล้อง ซึ่งข้าวกล้องจะยังคงมีเยื่อหุ้มเมล็ดและคัพภะติดอยู่ จากนั้นจึงแยกแกลบและข้าวเปลือกยังไม่ถูกกะเทาะออกจากข้าวกล้อง ซึ่งแกลบซึ่งเป็นผลพลอยได้จาการสีข้าว อาจนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือใช้ในงานรองพื้นโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
  3. การขัดขาวและขัดมัน (Whitening and Polishing) เป็นการขัดชั้นรำ (Rice Bran) ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มเมล็ดออกจากข้าวกล้อง ให้เหลือเฉพาะส่วนของเอนโดเสปอร์ม และขัดมัน เพื่อให้ผิวเรียบเป็นเงาสะอาด รำข้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากขั้นตอนนี้ประกอบด้วยเยื่อหุ้มเมล็ด คัพภะ มีไขมันสูง สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันรำข้าวได้
  4. การคัดขนาดข้าวสาร ใช้ตะแกรงขนาดที่มีรูเปิดที่มีความยาวแตกต่างกัน เพื่อแยกข้าวสารเต็มเมล็ดต้นข้าว (Head Rice) ออกจากข้าวหัก และปลายข้าว โดยปลายข้าวนั้นจะมีความยาวประมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6/8 ของความยาวเมล็ดเต็ม

สำหรับข้าวที่ได้จากการสีแล้วสามารถนำมารับประทานได้โดยตรง หรือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าในการขาย โดยการเพิ่มมูลค่าของข้าวได้แสดงไว้ด้วยภาพโซ่คุณค่าของข้าว ดังภาพที่ 7

จากภาพที่ 7 จะเป็นตัวอย่างการนำส่วนที่ได้จากข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำปลายข้าว (ราคา 12.50 บาทต่อกิโลกรัม) มาทำเป็นแป้งข้าว จะได้รับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 32 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 156

หากมีการนำรำข้าว (ราคา 7.50 บาทต่อกิโลกรัม) มาทำน้ำมันรำข้าว จะได้รับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 57.55 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 667

และหากมีการนำแกลบ (ราคา 1.20 บาทต่อกิโลกรัม) มาทำเป็นเชื้อเพลิงจะได้รับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1.46 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21

บทความนี้นำเสนอเพื่อให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวนาไทยมักจะขายเฉพาะข้าวเปลือก ซึ่งหมายความว่าตลอดทั้งปีเกษตรกรชาวนาไทยมีเพียงสินค้าเพียงชนิดเดียวที่นำมาขายได้ ซึ่งหากพิจารณาถึงโซ่คุณค่าของข้าวแล้ว หากเกษตรกรชาวนาไทยรวมกลุ่มกัน มีการลงทุนต่างๆร่วมกัน เช่น ลงทุนเครื่องสีข้าวขนาดเล็กร่วมกัน ก็จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรสามารถนำสินค้าหลายอย่างที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาขาย (เช่น ปลายข้าว รำ แกลบ) เพื่อสร้างกำไรและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวให้ดีขึ้นได้

 

ยุพดี คล้ายรัศมี ประชาสัมพันธ์ มก.